คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2960/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีอำนาจในการที่จะสั่งถอดถอนกรรมการ ผู้จัดการหรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทที่ประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์หรือธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ใดภายใต้เงื่อนไข พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 มาตรา 57 ทวิ ที่แก้ไขแล้วก็ตาม แต่คำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ให้ถอดถอนโจทก์ออกจากการเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทเงินทุนมหาทุน จำกัด เป็นการกระทำที่ไม่ให้โจทก์ทำงานต่อไป จึงเป็นการเลิกจ้างโจทก์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคสอง และคำสั่งธนาคารแห่งประเทศไทยที่มีผลเป็นการเลิกจ้างโจทก์ดังกล่าวถือว่าเป็นมิตของที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทเงินทุนมหาทุน จำกัด ตามวรรคท้ายของบทบัญญัติข้างต้นด้วย คำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทยจึงมีผลเป็นว่าบริษัทเงินทุนมหาทุน จำกัด ผู้เป็นนายจ้างเลิกจ้างโจทก์ผู้เป็นลูกจ้าง
การที่จำเลยยกปัญหาขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ซึ่งยังมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมจำเลยชื่อธนาคารสหธนาคาร จำกัด ภายหลังได้จดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด และจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) ต่อมากระทรวงการคลังโดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทยให้บริษัทเงินทุนมหาทุน จำกัด และบริษัทเงินทุนอื่นอีก ๑๑ บริษัท โอนสินทรัพย์และหนี้สินให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กรุงไทยธนกิจ จำกัด (มหาชน) และให้โอนสินทรัพย์และหนี้สินของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กรุงไทยธนกิจ จำกัด (มหาชน) ต่อให้จำเลย เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยมีคำสั่งถอดถอนกรรมการเดิมของบริษัทเงินทุนมหาทุน จำกัด และแต่งตั้งกรรมการผู้จัดการเพื่อรับผิดชอบดำเนินงานคือโจทก์ ส และ อ โดยให้มีผลทันทีนับแต่วันมีคำสั่ง ซึ่งตามกฎหมายถือว่าเป็นมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โจทก์จึงเข้าปฏิบัติงานในฐานะลูกจ้างบริษัทเงินทุนมหาทุน จำกัด โดยถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย และถูกหักเงินสมทบนำส่งให้แก่สำนักงานประกันสังคม ต่อมาธนาคารแห่งประเทศไทยมีคำสั่งซึ่งถือว่าเป็นมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้นตาม ป.พ.พ. ให้ถอดถอนกรรมการผู้จัดการบริษัทเงินทุนมหาทุน จำกัด ๕ คน รวมทั้งโจทก์ โดยโจทก์มิได้กระทำความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า และให้บริษัทเงินทุนมหาทุน จำกัด ไปจดทะเบียนถอดถอนกรรมการทั้งห้า คำสั่งดังกล่าวจึงถือเป็นการแสดงเจตนาเลิกจ้างโจทก์ของบริษัทเงินทุนมหาทุน จำกัด เมื่อจำเลยรับโอนสินทรัพย์และหนี้สินจากบริษัทเงินทุนมหาทุน จำกัด จำเลยจึงต้องรับโอนไปซึ่งสิทธิและหน้าที่ของบริษัทเงินทุนมหาทุน จำกัด ด้วย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นบริษัทมหาชน จำกัด เดิมชื่อธนาคารสหธนาคาร จำกัด (มหาชน) ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) ต่อมากระทรวงการคลังได้ให้ความเห็นชอบในการรวมกิจการระหว่างธนาคารสหธนาคาร จำกัด (มหาชน) กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กรุงไทยธนกิจ จำกัด (มหาชน) และบริษัทเงินทุนอื่นอีก ๑๒ แห่ง ซึ่งรวมถึงบริษัทเงินทุนมหาทุน จำกัด โจทก์กับจำเลยมิได้มีนิติสัมพันธ์ระหว่างกันในฐานะนายจ้างลูกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ เนื่องจากโจทก์ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทเงินทุนมหาทุน จำกัด โดยมิได้มีการคัดเลือกจากผู้ถือหุ้น มิได้อยู่ในตำแหน่งตามวาระ ไม่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาและไม่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของบริษัทเงินทุน จำกัด หากก่อให้เกิดความเสียหายบริษัทเงินทุนมหาทุน จำกัด ก็ไม่สามารถปลดหรือเลิกจ้างโจทก์ โจทก์ถูกแต่งตั้งและถอดถอนโดยธนาคารแห่งประเทศไทย บริษัทเงินทุนมหาทุน จำกัด ไม่สามารถเข้าไปเกี่ยวข้องหรือดำเนินการใด ๆ โจทก์ดำเนินงานภายใต้กฎระเบียบข้อบังคับของธนาคารแห่งประเทศไทย ส่วนการที่บริษัทเงินทุนมหาทุน จำกัด หักภาษี ณ ที่จ่าย และค่าประกันสังคมจากโจทก์ เพราะโจทก์มีรายได้ถึงเกณฑ์ที่กำหนด บริษัทเงินทุนมหาทุน จำกัด จึงไม่ใช่นายจ้างของโจทก์ โจทก์ชอบที่จะเรียกร้องจากธนาคารแห่งประเทศไทย การที่บริษัทเงินทุนมหาทุน จำกัด โอนสินทรัพย์และหนี้สินให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กรุงไทยธนกิจ จำกัด (มหาชน) และโอนต่อมาให้จำเลยตามประกาศกระทรวงการคลังนั้นเป็นการโอนเฉพาะทรัพย์สิน และหนี้สิน ไม่รวมถึงบุคลากร จำเลยจึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์จำเลยไม่สืบพยานแต่ยื่นคำแถลงรับข้อเท็จจริงร่วมกัน
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ทำงานในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัทเงินทุนมหาทุน จำกัด ไม่ใช่เป็นลูกจ้างจำเลย แต่ขณะฟ้องคดีจำเลยได้รับโอนสินทรัพย์และหนี้สินของบริษัทเงินทุนมหาทุน จำกัด มาเป็นของจำเลยแล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยแต่งตั้งและถอดถอนโจทก์ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๗ ทวิ วรรคห้า ที่แก้ไขแล้ว ซึ่งบัญญัติให้ถือว่าการ แต่งตั้งถอดถอนดังกล่าวเป็นมติของที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นตาม ป.พ.พ. ดังนั้นการถอดถอนโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างโจทก์โดยมติที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นของบริษัทเงินทุนมหาทุน จำกัด เมื่อเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่มีความผิดและจำเลยเป็น ผู้รับโอนสินทรัพย์และหนี้สินมาจากบริษัทเงินทุนมหาทุน จำกัด จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการ บอกกล่าว ล่วงหน้าให้โจทก์ พิพากษาให้จำเลยชำระค่าชดเชย และจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า พร้อมดอกเบี้ย แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีอำนาจตามกฎหมายที่จะสั่งถอดถอนกรรมการผู้จัดการหรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทที่ประกอบธุรกิจเงินทุนธุรกิจหลักทรัพย์หรือธุรกิจเครดิต ฟองซิเอร์ใดภายใต้เงื่อนไขของบทบัญญัติข้างต้นก็ตาม แต่คำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทยฉบับลงวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๔๑ ที่ให้ถอดถอนโจทก์ออกจากการเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทเงินทุนมหาทุน จำกัด เป็นการกระทำที่ไม่ให้โจทก์ทำงานต่อไป จึงเป็นการเลิกจ้างโจทก์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๖ วรรคสอง และคำสั่งธนาคารแห่งประเทศไทยที่มีผลเป็นการเลิกจ้างโจทก์ดังกล่าวถือว่าเป็นมติของที่ประชุม ผู้ถือหุ้นของบริษัทเงินทุนมหาทุน จำกัด ตามวรรคท้ายของบทบัญญัติข้างต้นด้วย คำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทยจึงมีผลเป็นว่าบริษัทเงินทุนมหาทุน จำกัด ผู้เป็นนายจ้างเลิกจ้างโจทก์ผู้เป็นลูกจ้าง คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนโจทก์จากการเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทเงินทุนมหาทุน จำกัด ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงเป็นนายจ้างโจทก์จะต้องรับผิดชำระค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์นั้น เห็นว่า จำเลยเพิ่งจะยกปัญหาข้อนี้ขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๕ วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
อนึ่ง โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๔๑ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในค่าชดเชยนับแต่วันที่เลิกจ้างคือวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๔๑ เป็นต้นไป ที่ศาลแรงงานกลางที่พิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในค่าชดเชยให้แก่โจทก์นับแต่วันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๔๑ นั้นไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้เสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในค่าชดเชยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๔๑ ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share