แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาที่จำเลยผู้ละเมิดทำให้ไว้แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายเพื่อระงับข้อพิพาท โดยโจทก์มิได้ตกลงด้วยนั้น ยังหาใช่สัญญาประนีประนอมยอมความไม่ แต่ในชั้นพิจารณา ถ้าจำเลยแถลงต่อศาลโดยอ้างถึงสัญญานี้ และโจทก์ก็ได้แถลงรับ ทั้งขอให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญา แล้วต่างลงลายมือชื่อไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลด้วย รายงานกระบวนพิจารณานี้จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความอันเป็นผลให้มูลละเมิดซึ่งมีอยู่ระงับสิ้นไป โจทก์จึงย่อมจะมาฟ้องจำเลยในมูลละเมิดเดิมอีกไม่ได้ ได้แต่ฟ้องตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำกันไว้เท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๒ – ๓ และ ๔ ได้เข้าเป็นหุ้นส่วนสามัญ ซื้อรถยนต์บรรทุกเพื่อรับส่งคนโดยสาร หากำไรแบ่งกัน และจ้างจำเลยที่ ๑ เป็นคนขับ จำเลยที่ ๑ ขับรถโดยประมาทเบียดรถยนต์โจทก์ตกถนน เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บ ศาลได้พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๑ มีกำหนด ๙ เดือน จึงขอให้จำเลยร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ ๓๐,๐๐๐ บาท
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธต่อสู่คดี
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง เพราะเห็นว่า ตามข้อความในรายงานกระบวนพิจารณาคดีอาญา เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ทำให้โจทก์และจำเลยที่ ๑ ได้สิทธิตามที่แสดงไว้ เลิกสิทธิเรียกร้องซึ่งมีอยู่เดิมแล้ว จำเลยที่ ๒ – ๓ และ ๔ จึงไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๑
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ที่จำเลยที่ ๑ ทำหนังสือมอบให้โจทก์ และโจทก์แถลงในคดีอาญาดังกล่าว หาใช่เป็นการเลิกสิทธิเรียกร้องเดิม เป็นเพียงโจทก์ประนีประนอมในจำนวนค่าเสียหาย จำเลยที่ ๑ ได้ชำระให้โจทก์แล้วหรือไม่ ศาลจะต้องฟังหลักฐานต่อไป พิพากษายก ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยทั้ง ๔ ฎีกา
ศาลฎีกาได้พิจารณาสัญญาที่จำเลยที่ ๑ ทำให้ไว้แก่โจทก์แล้ว เห็นว่า สัญญานี้จะฟังว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความยังไม่ได้ เพราะมีแต่จำเลยที่ ๑ ลงลายมือชื่อเป็นผู้รับผิดแต่ผู้เดียว ฝ่ายโจทก์มิได้ตกลงเป็นผู้รับผิดด้วย แต่เมื่อจำเลยที่ ๑ แถลงต่อศาลโดยอ้างอิงถึงสัญญานี้ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาล และโจทก์แถลงรับ แล้วต่างฝ่ายต่างลงลายมือชื่อไว้นั้น ฟังได้ว่า จำเลยที่ ๑ ขอให้และโจทก์ขอรับค่าเสียหายเป็นเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท รายงานกระบวนพิจารณานี้จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ด้วย และเป็นผลให้มูลละเมิดซึ่งมีอยู่ระงับสิ้นไป ทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงไว้ในสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๕๒ โจทก์จะมาฟ้องจำเลยที่ ๑ ในมูลละเมิดที่ระงับสิ้นไปแล้วไม่ได้ โจทก์ชอบที่จะฟ้องจำเลยที่ ๑ ตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ได้ทำกันไว้
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น