แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานฯ มาตรา 30,82,91 ตรี ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานฯมาตรา 30 วรรคหนึ่ง,82 ยกฟ้องข้อหาอื่น จำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้องทั้งหมด โดยโจทก์ไม่อุทธรณ์ ข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานฯ มาตรา 91 ตรี จึงถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและความผิดดังกล่าวมีองค์ประกอบแตกต่างกับความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานฯ มาตรา 30,82 ไม่เกี่ยวข้องกัน ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานฯ มาตรา 91 ตรี มิได้เป็นส่วนหนึ่งของความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานฯ มาตรา 30,82 อันจะทำให้ศาลลงโทษจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหก ทั้งกรณีไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องเกี่ยวกับฐานความผิดซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคสาม มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญ ศาลอุทธรณ์จึงไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานฯ มาตรา 91 ตรีได้ เป็นการเกินคำขอไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 ดังนั้น เมื่อระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ผู้เสียหายทั้งสองได้ขอถอนคำร้องทุกข์ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ก็ไม่จำต้องสั่งอีก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 341 พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 4,30, 82, 91 ตรี และให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 150,000 บาท แก่ผู้เสียหายทั้งสอง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง, 82 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 จำคุก 3 ปี ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ประกอบมาตรา 83 พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 91 ตรี ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 91 ตรี ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 3 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกมีว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 91 ตรี ได้หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 30, 82, 91 ตรี ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง, 82 ยกฟ้องข้อหาอื่น จำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้องทั้งหมด โดยโจทก์ไม่อุทธรณ์ข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 91 ตรี จึงถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและความผิดดังกล่าวมีองค์ประกอบแตกต่างกับความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 30, 82 ไม่เกี่ยวข้องกัน ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานฯ มาตรา 91 ตรี มิได้เป็นส่วนหนึ่งของความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานฯ มาตรา 30, 82 อันจะทำให้ศาลลงโทษจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหก ทั้งกรณีไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องเกี่ยวกับฐานความผิดซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสาม มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญ ศาลอุทธรณ์จึงไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 91 ตรี ได้ เป็นการเกินคำขอ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 ดังนั้น แม้ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ผู้เสียหายทั้งสองได้ขอถอนคำร้องทุกข์ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ก็ไม่จำต้องสั่งอีก
สำหรับปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ว่า จำเลยร่วมกับนายวสันต์เผ่าปิติ และนายเดชา เผ่าปิติ กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง, 82 โดยจัดหางานให้นายเจนเกิดทอง และนายพาน เกิดทอง คนหางานเพื่อไปทำงานในประเทศสาธารณรัฐเกาหลีหรือไม่ ข้อเท็จจริงในชั้นฎีกาฟังได้ว่า นายเจนและนายพานเป็นพี่น้องกันและเป็นญาติกับนายชวน คล้ายทอง ซึ่งทำงานอยู่ในบริษัทจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศแห่งหนึ่ง จำเลยเช่าร้านค้าของการเคหะแห่งชาติประกอบอาชีพรับจ้างซักรีดและปะเย็บเสื้อผ้าอยู่ในบริเวณแฟลตพิบูลย์วัฒนาติดกับร้านค้าของนายวสันต์และนายเดชา เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2539 นายชวนได้พานายเจนและนายพานไปยังแฟลตพิบูลย์วัฒนา และนายเจนกับนายพานได้พบจำเลยนายวสันต์และนายเดชา แล้วได้สมัครไปทำงานในประเทศสาธารณรัฐเกาหลีโดยยอมเสียเงินค่าบริการเป็นการตอบแทน ต่อมาวันที่ 31 มกราคม 2539 นายเจนและนายพานได้นำเงินค่าบริการส่วนหนึ่งไปชำระให้แก่นายวสันต์ที่ศูนย์การค้าหลักสี่พลาซ่าโดยจำเลยไปด้วย และลงลายมือชื่อเป็นพยานในหลักฐานการชำระเงินไว้ แล้ววันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2539 จำเลยได้พานายเจนและนายพานไปพบนายวสันต์และนายเดชาที่สนามบินดอนเมือง นายเจนและนายพานได้ชำระเงินค่าบริการส่วนที่เหลือให้แก่นายวสันต์ แล้วนายวสันต์และนายเดชาได้จัดให้คนนำทางพานายเจนและนายพานขึ้นเครื่องบินเดินทางไปยังประเทศสาธารณรัฐเกาหลี แต่เมื่อไปถึงปรากฏว่าเจ้าพนักงานตรวจคนเข้าเมืองของประเทศดังกล่าวไม่ยอมให้นายเจนและนายพานเข้าประเทศและส่งตัวกลับมายังประเทศไทย เห็นว่า นายเจนพยานโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า นายชวนเคยติดต่อจัดส่งคนในหมู่บ้านพยานไปทำงานในต่างประเทศมาแล้วหลายรายโดยนายชวนจะเรียกและรับเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในเบื้องต้น เช่น ค่าทำหนังสือเดินทางไม่ต่ำกว่ารายละ 20,000 บาท ก่อนเกิดเหตุนายชวนแนะนำให้พยานไปทำงานในต่างประเทศ เหตุที่พยานและนายพานตกลงไปทำงานในต่างประเทศก็เพราะเชื่อนายชวน นายชวนเป็นผู้จัดทำหนังสือเดินทางให้พยานและนายพานก่อนประมาณ 1 เดือน และได้พาไปสมัครทำงานที่ประเทศไต้หวันกับบริษัทที่นายชวนเป็นพนักงานแล้ว แต่พยานไม่สามารถไปทำงานได้เพราะไม่ผ่านการตรวจโรค พยานจึงให้นายชวนพาไปสมัครทำงานที่ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี โดยนายชวนเป็นคนตั้งยอดเงินค่าใช้จ่ายไว้คนละ 75,000 บาท ซึ่งรวมทั้งค่าทำหนังสือเดินทางและค่าตั๋วเครื่องบิน นายชวนพาพยานและนายพานไปที่ร้านจำเลย แล้วกลับไปโดยให้พยานและนายพานรออยู่ที่นั่น จากนั้นนายวสันต์และนายเดชาได้เดินทางมาพบพยานและนายพาน พยานพูดคุยกับนายวสันต์เรื่องการเดินทางไปประเทศสาธารณรัฐเกาหลี นายวสันต์บอกว่าค่าใช้จ่ายทั้งหมดคนละ 60,000 บาท ให้ไปหาเงินมาจะพาเดินทางใน 7 วัน จำเลยชอบช่วยเหลือคนอื่น พยานและนายพานขอให้จำเลยพาไปติดต่อยังที่ต่าง ๆ จำเลยก็พาไป และพยานเป็นผู้ให้จำเลยลงชื่อเป็นพยานในหนังสือหลักฐานการชำระเงิน หากจำเลยไม่ลงชื่อพยานก็จะไม่ชำระเงินค่าบริการให้นายวสันต์ วันเดินทางนายชวนไม่ได้ไปส่ง พยานเป็นผู้ขอให้จำเลยพาพยานและนายพานไปสนามบินดอนเมืองจำเลยไม่รู้จักกับคนที่พาพยานและนายพานเดินทางไปยังประเทศสาธารณรัฐเกาหลีหลังจากกลับมายังประเทศไทยแล้ว พยานได้โทรศัพท์ติดต่อนายวสันต์ นายวสันต์ได้คืนเงินให้โดยจ่ายเป็นเช็คแต่ขึ้นเงินไม่ได้ และพยานพาจำเลยไปที่บ้านนายชวนเพื่อพูดคุยกันว่าจะทำอย่างไรดี เจือสมกับข้อนำสืบของจำเลยข้อเท็จจริงน่าเชื่อตามที่จำเลยนำสืบว่า นายชวนพานายเจนและนายพานไปติดต่อทำงานในประเทศสาธารณรัฐเกาหลีกับนายวสันต์และนายเดชาที่ร้านค้าของบุคคลดังกล่าว ซึ่งอยู่ติดร้านจำเลย โดยจำเลยไม่ได้เกี่ยวข้อง หลังจากตกลงกันแล้วนายเจนและนายพานจึงได้มาพูดคุยให้จำเลยฟังแล้วนายเจนได้ขอให้จำเลยช่วยไปเป็นพยานในการชำระเงินค่าบริการให้แก่นายวสันต์และนายเดชา และขอให้จำเลยช่วยพาไปยังสนามบินดอนเมืองในวันออกเดินทาง จำเลยก็ช่วยเหลือเพราะเห็นว่าเป็นคนต่างจังหวัดเหมือนกัน จำเลยหาได้เป็นผู้จัดหางานหรือร่วมกับนายวสันต์และนายเดชาจัดหางานให้นายเจนและนายพานไม่ จำเลยจึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 30,82 ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องเสียทั้งหมด