คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2952/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หญิงมีสามีฟ้องคดีภายหลังที่บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับแล้ว อำนาจจัดการสินสมรสต้องใช้บทบัญญัติในบรรพ 5 ใหม่บังคับ ซึ่งมาตรา 1476 ได้บัญญัติให้สามีและภรรยาเป็นผู้จัดการสินสมรสร่วมกัน
โจทก์เป็นหญิงมีสามีได้ยื่นฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการสินสมรสโดยลำพัง แต่ปรากฏในสำนวนว่าสามีโจทก์มาเบิกความเป็นพยานต่อศาลว่า ได้ให้ความยินยอมแก่โจทก์ในการฟ้องคดีนี้ตามกฎหมายแล้วตลอดมา จึงถือได้ว่าสามีโจทก์อนุญาตหรือยินยอมให้โจทก์ฟ้องคดีโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือในสำนวนความแล้ว และถือได้ว่าเป็นการแก้ไขในเรื่องความสามารถของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 56 แล้วด้วยโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
จำเลยที่ 1 เคยฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลย ขอให้ปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายโดยรื้อถอนสิ่งปิดกั้นทางเดินทางเดียวกันกับคดีนี้ ขณะที่คดีดังกล่าวกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ที่ 2 ก็นำเรื่องเดียวกันนั้นมาฟ้องแย้งในคดีนี้อีก แม้คดีก่อนจำเลยที่ 2 จะมิได้ร่วมเป็นโจทก์ด้วย แต่จำเลยที่ 2 ก็อยู่ในฐานะที่จะได้รับประโยชน์หรือโทษจากผลแห่งคำพิพากษาในคดีก่อนเช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 และการที่ฟ้องแย้งมีคำขอบังคับให้จดทะเบียนทางเดินเป็นทางการจำยอมอันเป็นคำขอให้บังคับเพิ่มเติมจากคดีก่อน ประเด็นที่พิพาทกันในคดีก่อนกับที่จำเลยฟ้องแย้งก็คงมีอยู่อย่างเดียวกัน ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองจึงเป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 (1)

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และนายวิจิตรเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันในโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๖๗๕ ตำบลบ้านหวาย เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่ ๒ ไร่ ๒๐ ตารางวา แบ่งเป็น ๘๒๐ ส่วน โจทก์ถือกรรมสิทธิ์ ๕๙๐ ส่วน จำเลยที่ ๑ ถือกรรมสิทธิ์ ๑๒๘ ส่วน จำเลยที่ ๒ ถือกรรมสิทธิ์ ๒๒ ส่วน และนายวิจิตรถือกรรมสิทธิ์ ๘๐ ส่วน เมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๑๗ โจทก์ จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และนายวิจิตรได้ร่วมกันยื่นคำขอให้เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดแบ่งแยกที่ดินโฉนดดังกล่าวออกเป็น ๔ โฉนด โดยให้เป็นของนายวิจิตร ๒ โฉนด เป็นของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ คนละโฉนด และแปลงคงเหลือเป็นของโจทก์ ต่อมาเจ้าพนักงานที่ดินไปรังวัดตามคำขอเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงได้มีหนังสือนัดให้โจทก์ จำเลยทั้งสองและนายวิจิตรนำโฉนดไปจดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวม จำเลยทั้งสองไม่ยอมไป จึงไม่อาจจดทะเบียนแย่งแยกกรรมสิทธิ์รวม และออกโฉนดได้ ขอให้ศาลบังคับ
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์มิได้เป็นนางสาว ความจริงโจทก์เป็นหญิงมีสามีแล้ว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีได้โดยลำพัง ก่อนที่โจทก์จำเลยจะตกลงทำสัญญาซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๖๗๔ นั้น จำเลยทั้งสองตลอดจนญาติพี่น้องได้อาศัยอยู่ด้านในของที่ดินแปลงดังกล่าว และได้ใช้ทางเดินตามเส้นสีแดงประในแผนที่ท้ายคำให้การออกไปสู่ถนนสาธารณะมาเป็นเวลากว่า ๔๐ ปีแล้ว ทางดังกล่าวจึงตกเป็นการจำยอมและเป็นทางจำเป็นด้วย เมื่อโจทก์ชักชวนให้จำเลยซื้อที่ดินจากโจทก์นั้น โจทก์ได้ชี้แจงว่า ถ้าหากยังคงให้มีทางเดินอยู่อย่างเดิมแล้ว ที่ดินตามโฉนดดังกล่าวจะถูกทางเดินแบ่งแยกเป็นสองแปลง โจทก์จึงให้สัญญาว่าโจทก์จะเปลี่ยนทางเดินเข้าออกใหม่ จากทิศเหนือมาสู่ด้านทิศใต้ริมเขตที่ดินยาวตลอดแนวของที่ดิน โดยโจทก์รับว่าจะเว้นที่กว้าง ๓ เมตร กั้นกำแพงและจดทะเบียนเป็นทางการจำยอมให้แก่จำเลยในวันจดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ให้ด้วย และเจ้าพนักงานรังวัดได้กันที่ดินให้เป็นทางเดินกว้าง ๓ เมตร ยาวตลอดแนวที่ดินแล้วตามเส้นสีน้ำเงินประในแผนที่ท้ายคำให้การ ต่อมาเมื่อประมาณเดือนกรกฎาคม ๒๕๑๙ โจทก์ได้ตอกเสาขนาดใหญ่สูงเหนือพื้นดินประมาณ ๑ เมตร รวม ๕ ต้นลงบนทางเดินใหม่ ทำคอนกรีตผังคร่อมทางเดิน วางวัสดุก่อสร้าง ขุดหลุมลึกจนไม่สามารถใช้เป็นทางเข้าออกได้ และไม่ยอมลาดปูนหยาบให้ตามสัญญา จำเลยที่ ๑ จึงได้ฟ้องโจทก์ให้รื้อถอนสิ่งก่อสร้างบนถนนกับให้ลาดปูนหยาบตามสัญญา ปรากฏตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๐๐๕๘/๒๕๑๙ ของศาลแพ่ง การที่จำเลยไม่ยอมจดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมก็เพราะโจทก์ผิดสัญญา ไม่ยอมให้จำเลยใช้ทางเดินใหม่ ไม่ยอมลาดปูนหยาบและไม่ยอมจดทะเบียนภารจำยอม จำเลยจึงฟ้องแย้ง ขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์จดทะเบียนทางเดินภารจำยอม ถ้าโจทก์ไม่ปฏิบัติก็ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของโจทก์
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่เคยอยู่ในที่พิพาทและไม่เคยใช้ทางเดินในที่แปลงนี้มาก่อน ทางเดินท้ายคำให้การไม่ใช่ทางภารจำยอมหรือทางจำเป็น โจทก์ไม่เคยตกลงกับจำเลย โจทก์เพียงแต่ตกลงเว้นทางกว้าง ๓ เมตร เว้นไว้เป็นทางให้จำเลยเข้าออกได้ตลอดแนวตามสัญญาแล้ว ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๖๗๕ ให้โจทก์จดทะเบียนทางเดินภารจำยอมให้จำเลย ถ้าโจทก์ไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องแย้งจำเลยทั้งสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์มีสามีโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์ทำสัญญาซื้อขายที่ดินแปลงพิพาท และยื่นฟ้องคดีนี้โดยอ้างว่าเป็นนางสาว เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะมีข้อตกลงกันระหว่างโจทก์กับสามีว่าที่ดินแปลงนี้ให้เป็นทรัพย์สินส่วนตัวของโจทก์ แต่โจทก์ซื้อที่ดินแปลงนี้มาในระหว่างสมรส ที่ดินดังกล่าวจึงเป็นสินสมรส โจทก์ฟ้องคดีนี้ภายหลังที่บทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับแล้ว อำนาจในการจัดการสินสมรสต้องใช้บทบัญญัติในบรรพ ๕ ใหม่บังคับ ซึ่งมาตรา ๑๔๗๖ บัญญัติให้สามีและภรรยาเป็นผู้จัดการสินสมรสร่วมกัน ศาลฎีกาเห็นว่าแม้โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้โดยลำพัง แต่ปรากฏในสำนวนว่านายสุทัศน์สามีโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์เบิกความเป็นพยานต่อศาลว่า ได้ให้ความยินยอมแก่โจทก์ในการฟ้องคดีตามกฎหมายแล้วตลอดมา จึงถือได้ว่าสามีโจทก์อนุญาตหรือยินยอมให้โจทก์ฟ้องคดีโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือในสำนวนความแล้ว และถือได้ว่าเป็นการแก้ไขในเรื่องความสามารถของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๖ แล้วด้วย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้
ปัญหาเรื่องโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่นั้น จำเลยอ้างเหตุข้อเดียวว่า โจทก์ไม่ยอมให้จำเลยใช้ทางเดินใหม่ ไม่ยอมลาดปูนและไม่ยอมจดทะเบียนภารจำยอมตามสัญญา จำเลยจึงฟ้องแย้งขอให้จดทะเบียนภารจำยอมทางเดินดังกล่าว แต่ปรากฏในสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ ๗๕๙๗/๒๕๒๐ ของศาลแพ่งว่า ก่อนที่จำเลยจะฟ้องแย้งคดีนี้ จำเลยที่ ๑ ได้เป็นโจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นจำเลยตามสำนวนดังกล่าว ขอให้ปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายโดยรื้อถอนสิ่งปิดกั้นทางเดินเดียวกันนี้ และลาดปูนหยาบกว้าง ๓ เมตรบนทางเดินด้วย ขณะคดีดังกล่าวกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยนำเรื่องเดียวกันนั้นมาฟ้องแย้งในคดีนี้ และก่อนที่ศาลชั้นต้นจะพิพากษาคดีนี้ คู่ความในคดีก่อนก็ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาล ซึ่งสารสำคัญว่า จำเลยในคดีดังกล่าวคือดจทก์คดีนี้ยอมรื้อถอนสิ่งกีดขวางออกจากทางเดินพิพาท และยอมทำถนนลาดปูนหยาบกว้าง ๓ เมตร หนาอย่างน้อย ๑๐ เซนติเมตรบนทางเดินด้วย การทำสัญญายอมดังกล่าวมีปัญหาในชั้นบังคับคดี แต่คดีได้ถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษาว่า จำเลย (โจทก์คดีนี้) ได้ปฏิบัติถูกต้องตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่าแม้คดีก่อน จำเลยที่ ๑ จะมิได้เป็นโจทก์ด้วย แต่จำเลยที่ ๒ ก็อยู่ในฐานะที่จะได้รับประโยชน์ หรือโทษจากผลแห่งคำพิพากษาในคดีก่อนเช่นเดียวกับผู้เป็นโจทก์กล่าวคือ จำเลยที่ ๒ ย่อมมีสิทธิใช้ทางเดินพิพาทตามผลแห่งคำพิพากษาเช่นเดียวกับผู้เป็นโจทก์ทุกประการ และการที่ฟ้องแย้งก็มีคำขอบังคับให้จดทะเบียนทางเดินเป็นทางภารจำยอม อันเป็นคำขอให้บังคับเพิ่มเติมจากคดีก่อน ประเด็นที่พิพาทกันในคดีก่อนกับที่จำเลยฟ้องแย้งก็คงมีอยู่อย่างเดียวกันว่า โจทก์มีข้อตกลงกับจำเลยเรื่องทางเดินพิพาทตามสัญญาซื้อขายอย่างไร ฟ้องแย้งของจำเลยจึงเป็นฟ้องซ้อนต้องห้าม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๓ (๑)
พิพากษายืน

Share