คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2951/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่าวีดีทัศน์ของโจทก์เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมายเมืองฮ่องกงซึ่งประเทศอังกฤษภาคีแห่งอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรมทำ ณกรุงเบอร์น นำเมืองฮ่องกงซึ่งเป็นอาณานิคมของตนเข้าผูกพันตามอนุสัญญาดังกล่าว และประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย มิได้กล่าวในฟ้องว่ากฎหมายของเมืองฮ่องกงได้ให้ความคุ้มครองเช่นเดียวกันแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของภาคีอื่น ๆ แห่งอนุสัญญาดังกล่าวด้วย และถ้อยคำที่โจทก์บรรยายในฟ้องว่า ทั้งประเทศไทยและเมืองฮ่องกงต่างได้ให้ความคุ้มครองแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ซึ่งกันและกันรวมถึงงานภาพยนตร์ วีดีทัศน์ด้วย จึงได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามกฎหมายไทยนั้น ก็ไม่อาจแปลไปได้ว่ากฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ของเมืองฮ่องกงได้ให้ความคุ้มครองเช่นเดียวกันแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของภาคีอื่น ๆ แห่งอนุสัญญา ฟ้องโจทก์จึงขาดข้อความสำคัญที่จะแสดงให้เห็นว่าวีดีทัศน์ของโจทก์มีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่จำเป็นสำหรับการฟ้องคดีอาญา ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์และเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์แต่ผู้เดียว ในวีดีทัศน์เรื่องขุนพลเจิ้นเฉินกง(Zheng Cheng-Gong) และเรื่องตู้ซิ่นอู่ ทส.ดร.ซุนยัดเซ็น(Fate Takes a Hand) โจทก์ได้โฆษณาเผยแพร่ครั้งแรกในเมืองฮ่องกง และเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมายที่ใช้บังคับในเมืองฮ่องกง จึงเป็นงานที่ได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามกฎหมายไทยด้วย เพราะประเทศไทยประเทศอังกฤษต่างเป็นภาคีแห่งอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรมทำ ณกรุงเบอร์น ในการเข้าเป็นภาคีนี้ประเทศอังกฤษได้นำเมืองฮ่องกงซึ่งเป็นอาณานิคมของตนเข้าผูกพันตามอนุสัญญาดังกล่าวด้วยอีกทั้งประเทศไทยและเมืองฮ่องกงต่างได้ให้ความคุ้มครองแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ซึ่งกันและกันรวมถึงงานภาพยนตร์วีดีทัศน์ด้วย ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวจึงได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามกฎหมายไทย จำเลยได้กระทำละเมิดลิขสิทธิ์วีดีทัศน์ของโจทก์โดยการทำซ้ำหรือดัดแปลงภาพยนตร์ทั้งสองเรื่อง โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ และนำออกขายให้เช่าหรือเสนอให้เช่าหรือแจกจ่ายแก่บุคคลทั่วไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์หรือผู้แทนโจทก์ในประเทศไทย โดยรู้อยู่แล้วว่าแถบวีดีทัศน์ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติ ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 24, 25, 26, 27, 42,43, 44 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ขอให้ของกลางตกเป็นของโจทก์ และขอค่าปรับที่ได้ชำระตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 27 ประกอบมาตรา 44 วรรคสองจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 4 เดือน ปรับคนละ 20,000 บาท เห็นควรรอการลงโทษจำเลยทั้งสองไว้ แล้วปล่อยตัวไปเพื่อให้โอกาสกลับตัวเป็นพลเมืองดีภายในระยะเวลาคนละ 2 ปี ริบเอกสารการเช่าภาพยนตร์วีดีโอทัศน์ของกลาง ให้ภาพยนตร์วีดีทัศน์ของกลางตกเป็นของโจทก์และคืนแก่โจทก์ให้จ่ายค่าปรับกึ่งหนึ่งแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องของกลางคืนเจ้าของโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ก่อนว่า ฟ้องโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 42บัญญัติว่า “งานอันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมายของประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย และกฎหมายของประเทศนั้นได้ให้ความคุ้มครองเช่นเดียวกันแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของภาคีอื่น ๆ แห่งอนุสัญญาดังกล่าว ฯลฯย่อมได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา” โจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่าวีดีทัศน์ของโจทก์ตามฟ้องเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมายเมืองฮ่องกง ซึ่งประเทศอังกฤษภาคีแห่งอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม ทำ ณ กรุงเบอร์น นำเมืองฮ่องกงซึ่งเป็นอาณานิคมของตนเข้าผูกพันตามอนุสัญญาดังกล่าวและประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วยแต่โจทก์มิได้กล่าวในฟ้องว่ากฎหมายของเมืองฮ่องกงได้ให้ความคุ้มครองเช่นเดียวกันแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของภาคีอื่น ๆ แห่งอนุสัญญาดังกล่าว ถ้อยคำที่โจทก์บรรยายในคำฟ้องว่า “…อีกทั้งประเทศไทยและเมืองฮ่องกงต่างได้ให้ความคุ้มครองแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ซึ่งกันและกันรวมถึงงานภาพยนตร์วีดีทัศน์ด้วย ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวจึงได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามกฎหมายไทย” นั้น ก็ไม่อาจแปลไปได้ว่า กฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ของเมืองฮ่องกงได้ให้ความคุ้มครองเช่นเดียวกันแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของภาคีอื่น ๆ แห่งอนุสัญญา ฉะนั้น ฟ้องโจทก์จึงขาดข้อความสำคัญที่จะแสดงให้เห็นว่า วีดีทัศน์ตามฟ้องมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2521 ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่จำเป็นสำหรับการฟ้องคดีอาญาในกรณีที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์เกี่ยวด้วยงานอันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมายต่างประเทศ ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) เมื่อฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่มิชอบด้วยกฎหมายแล้ว ก็ต้องยกฟ้องและไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์อีกต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share