คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 595/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2544 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2544 ว่า “รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 สำเนาให้โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 นำส่งใน 5 วัน หากส่งไม่ได้ให้แถลงภายใน 15 วัน นับแต่วันส่งไม่ได้มิฉะนั้นถือว่าทิ้งอุทธรณ์” และมีข้อความประทับไว้ด้วยว่า “ให้มาทราบคำสั่งในวันที่ 9 เมษายน 2544 ถ้าไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้ว” และทนายจำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อไว้ข้างล่างข้อความดังกล่าว จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ได้ทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งในอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 โดยชอบแล้วตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2544 ต่อมาวันที่ 13 พฤษภาคม 2544 เจ้าพนักงานศาลนำหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ไปส่งให้แก่โจทก์ไม่ได้ แต่จำเลยที่ 2 ไม่ได้แถลงต่อศาลชั้นต้นเพื่อดำเนินการต่อไปภายในเวลา 15 วัน ตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดจึงเป็นการทิ้งฟ้องอุทธรณ์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174(2) ประกอบมาตรา 246
จำเลยที่ 3 ไม่ได้ลงลายมือชื่อรับทราบข้อกำหนดและวันนัดดังกล่าวไว้ ย่อมถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 ได้ทราบ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งในอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 เมื่อศาลชั้นต้นมิได้แจ้งผลการส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 3 ทราบ จำเลยที่ 3 ย่อมไม่ทราบถึงผลการส่งหมายดังกล่าว การที่จำเลยที่ 3 มิได้ยื่นคำแถลงให้ดำเนินการ ต่อไป จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2) ประกอบมาตรา 246

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ กับให้ใช้ ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ ๑๐,๐๐๐ บาท ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยร่วม ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยร่วมให้เป็นพับ
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ อุทธรณ์
ต่อมาพนักงานศาลส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์แก่โจทก์ไม่ได้ จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ไม่แถลงอย่างใดภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ศาลชั้นต้นจึงรวบรวมถ้อยคำสำนวนส่งศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาสั่ง
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลอุทธรณ์
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๔ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๔๔ ว่า “รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ สำเนาให้โจทก์โดยให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ นำส่งใน ๕ วัน หากส่งไม่ได้ให้แถลงภายใน ๑๕ วันนับแต่วันส่งไม่ได้ มิฉะนั้นถือว่าทิ้งอุทธรณ์” และมีข้อความประทับไว้ด้วยว่า “ให้ทราบคำสั่งในวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๔๔ ถ้าไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้ว” และทนายจำเลยที่ ๒ ได้ลงลายมือชื่อไว้ข้างล่างข้อความดังกล่าวแล้ว จึงต้องถือว่าจำเลยที่ ๒ ได้ทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งในอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ โดยชอบแล้วตั้งแต่วันที่ ๙ เมษายน ๒๕๔๔ ต่อมาวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๔๔ เจ้าพนักงานศาลนำหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ไปส่งให้แก่โจทก์ไม่ได้ แต่จำเลยที่ ๒ ไม่ได้แถลงต่อศาลชั้นต้นเพื่อดำเนินการต่อไปภายในเวลา ๑๕ วัน ตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด จึงเป็นการทิ้งฟ้องอุทธรณ์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๔ (๒) ประกอบมาตรา ๒๔๖ ที่จำเลยที่ ๒ ฎีกาว่า โจทก์ยังคงมีภูมิลำเนาอยู่ตามฟ้อง จึงเชื่อว่าสามารถส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้แก่โจทก์ได้นั้นรับฟังไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยที่ ๒ ทิ้งฟ้องอุทธรณ์ และมีคำสั่งจำหน่ายคดีของจำเลยที่ ๒ ออกจากสารบบความของศาลอุทธรณ์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ ๒ ฟังไม่ขึ้น
ส่วนจำเลยที่ ๓ นั้น ไม่ได้ลงลายมือชื่อรับทราบข้อกำหนดและวันนัดดังกล่าวไว้ เมื่อศาลชั้นต้นมิได้แจ้งผล การส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยที่ ๓ ทราบ จำเลยที่ ๓ ย่อมไม่มีทางทราบถึงผลการส่งหมายดังกล่าว การที่จำเลยที่ ๓ มิได้ยื่นคำแถลงให้ดำเนินการต่อไป จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๓ เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๔ (๒) ประกอบมาตรา ๒๔๖ ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยที่ ๓ ทิ้งฟ้องอุทธรณ์และมีคำสั่งจำหน่ายคดีของจำเลยที่ ๓ ออกจากสารบบความของศาลอุทธรณ์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ ๓ ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำสั่งศาลอุทธรณ์เฉพาะจำเลยที่ ๓ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการแจ้งผลการส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์แก่โจทก์ให้จำเลยที่ ๓ ทราบ แล้วดำเนินการต่อไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share