คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2950/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณารับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริงและผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาได้รับรองแล้ว แต่ตามฎีกาของโจทก์ทุกข้อเป็นข้อกฎหมาย จึงเป็นการสั่งคดีโดยผิดหลงและเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ แต่ไม่มีผลต่อการวินิจฉัยคดีของศาลฎีกาจึงไม่จำต้องเพิกถอน
เดิมโจทก์ฟ้องจำเลยอ้างว่าจำเลยขายบ้านพร้อมที่ดินให้โจทก์ตามหนังสือสัญญาการซื้อขาย แต่จำเลยไม่ซื้อบ้านและที่ดินคืนภายในกำหนดและยังคงอยู่ในบ้านและที่ดินโดยละเมิด ขอให้ขับไล่และชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยให้การต่อสู้ว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์แต่ไม่มีแบบพิมพ์ จึงนำแบบพิมพ์หนังสือสัญญาการซื้อขายมากรอกแทนสัญญากู้ยืมเงิน คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ให้ยกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่าหนังสือสัญญาการซื้อขายที่โจทก์นำมาฟ้องมีข้อตกลงระบุว่าเป็นสัญญาขายฝากบ้านและที่ดินมือเปล่า เมื่อไม่จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงตกเป็นโมฆะ ทั้งโจทก์ยังไม่มีสิทธิครอบครองที่จะมีอำนาจฟ้อง ต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อ้างว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์แล้วผิดนัดไม่ชำระคืนตามกำหนด เห็นว่าคดีเดิมเป็นการฟ้องในมูลละเมิด ส่วนคดีนี้ฟ้องในมูลหนี้กู้ยืมเงิน จึงเป็นการฟ้องคนละเรื่องคนละประเด็นกับคดีก่อน แม้ในคดีก่อนจำเลยให้การต่อสู้ว่าหนังสือสัญญาการซื้อขายเป็นเรื่องที่จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ก็ตาม แต่ก็ไม่มีประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยว่าจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ในมูลหนี้กู้ยืมเงินหรือไม่ ฟ้องโจทก์ในคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำและไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง มิได้บังคับว่าหลักฐานการกู้ยืมต้องเป็นหลักฐานที่ผู้ยืมทำขึ้นเพื่อมอบแก่ผู้ให้ยืมไว้ในความยึดถือ คำเบิกความของจำเลยในสำนวนคดีก่อนที่ว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์โดยจำเลยลงลายมือชื่อไว้ ย่อมเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างหนึ่งที่ได้ลงลายมือชื่อจำเลยผู้ยืมเป็นสำคัญ โจทก์นำมาใช้เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมในการฟ้องร้องได้
สำเนาคำเบิกความของจำเลยในคดีก่อนที่แนบมาท้ายฟ้องถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง เมื่อจำเลยไม่ได้ปฏิเสธว่ามิได้กู้ยืมเงินถือว่าจำเลยรับข้อเท็จจริงตามที่โจทก์อ้างมาในคำฟ้องแล้วว่าจำเลยได้กู้ยืมเงินโจทก์ นอกจากนี้จำเลยมิได้โต้แย้งคัดค้านถึงการมีอยู่ของต้นฉบับ ทั้งให้การรับว่าเป็นคำเบิกความของจำเลยในคดีก่อนจริง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังเป็นยุติตามคำฟ้องของโจทก์และคำให้การของจำเลยว่าจำเลยเคยเบิกความไว้ในคดีก่อนมีข้อความตามที่ปรากฏในสำเนาคำเบิกความที่โจทก์แนบมาท้ายฟ้อง โจทก์จึงไม่จำต้องนำสืบถึงคำเบิกความของจำเลยในคดีก่อนด้วยต้นฉบับอีก เมื่อศาลชั้นต้นไม่จำต้องรับฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยนำสืบ ย่อมไม่มีกรณีที่ศาลชั้นต้นจะรับฟังพยานหลักฐานฝ่าฝืนต่อกฎหมายได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงินคืนโจทก์ 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความรวม 6,000 บาท
โจทก์ฎีกาโดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริง และผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้ แต่ตามฎีกาของโจทก์ทุกข้อรวมทั้งข้อที่อ้างว่าเป็นข้อเท็จจริงนั้น ล้วนเป็นข้อกฎหมาย การที่ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามคำร้องของโจทก์ จึงเป็นการสั่งคดีโดยผิดหลงและเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ แต่เมื่อไม่มีผลต่อการวินิจฉัยคดีของศาลฎีกา จึงไม่จำต้องเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำและเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1073/2542 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า เดิมโจทก์ฟ้องจำเลยอ้างว่าจำเลยขายบ้านพร้อมที่ดินให้แก่โจทก์ตามหนังสือสัญญาการซื้อขาย แต่จำเลยไม่ซื้อบ้านและที่ดินคืนจากโจทก์ภายในกำหนด และยังคงอยู่ในบ้านและที่ดินโดยละเมิด จึงขอให้ขับไล่และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยให้การต่อสู้ว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์แต่ไม่มีแบบพิมพ์สัญญากู้ยืมเงิน โจทก์และจำเลยจึงนำแบบพิมพ์หนังสือสัญญาการซื้อขายมากรอกข้อความแทนสัญญากู้ยืมเงิน คดีดังกล่าวถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ซึ่งพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ยกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่า หนังสือสัญญาการซื้อขายที่โจทก์นำมาฟ้องมีข้อตกลงระบุว่าเป็นสัญญาขายฝากบ้านและที่ดินมือเปล่า เมื่อมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงตกเป็นโมฆะ และโจทก์ยังไม่มีสิทธิครอบครองที่จะมีอำนาจฟ้อง ต่อมาโจทก์จึงมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ เห็นว่า คดีก่อนโจทก์ฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยโดยอ้างว่าจำเลยยังคงอยู่ในบ้านและที่ดินโดยไม่มีสิทธิเพราะขายให้แก่โจทก์ไปแล้ว อันเป็นการฟ้องในมูลละเมิด ซึ่งมีประเด็นวินิจฉัยว่า จำเลยขายบ้านพร้อมที่ดินให้แก่โจทก์และยังคงอยู่ในบ้านและที่ดินเป็นการกระทำโดยละเมิดหรือไม่ ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ไปแล้วผิดนัดไม่ชำระเงินคืนโจทก์ตามกำหนด อันเป็นการฟ้องในมูลหนี้กู้ยืมเงิน ซึ่งมีประเด็นวินิจฉัยว่า จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ในหนี้กู้ยืมเงินตามฟ้องหรือไม่ จึงเป็นการฟ้องคนละเรื่องคนละประเด็นกับคดีก่อน แม้ในคดีก่อนจำเลยให้การต่อสู้คดีว่าหนังสือสัญญาการซื้อขายเป็นเรื่องที่จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ก็ตาม แต่ก็ไม่มีประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยในคดีก่อนว่าจำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ในมูลหนี้กู้ยืมเงินที่จำเลยให้การถึงหรือไม่ ฟ้องโจทก์ในคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำและไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีก่อน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำตามมาตรา 148 และเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามมาตรา 144 แห่ง ป.วิ.พ. นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
สำหรับปัญหาที่ว่า โจทก์จะนำคำเบิกความของจำเลยและหนังสือสัญญาการซื้อขายในสำนวนคดีก่อนมาใช้เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมในการฟ้องคดีนี้ได้หรือไม่และศาลชั้นต้นรับฟังพยานหลักฐานฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือไม่ ซึ่งเป็นปัญหาที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ยังมิได้วินิจฉัย และจำเลยได้ยกขึ้นอ้างเป็นประเด็นในคำแก้ฎีกาทำนองเดียวกับที่ได้ยกขึ้นอ้างในอุทธรณ์นั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปทีเดียว โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยใหม่ ในปัญหาข้อแรก เห็นว่า หลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง นั้น บทกฎหมายดังกล่าวมิได้บังคับว่าต้องเป็นหลักฐานที่ผู้ยืมทำขึ้นเพื่อมอบแก่ผู้ให้ยืมไว้ในความยึดถือ คำเบิกความของจำเลยในสำนวนก่อนที่ว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ 200,000 บาท ซึ่งจำเลยได้ลงลายมือชื่อไว้ ย่อมเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างหนึ่งที่ได้ลงลายมือชื่อจำเลยผู้ยืมเป็นสำคัญ โจทก์ชอบที่จะนำมาใช้เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมในการฟ้องคดีนี้ได้ และเมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้อ้างคำเบิกความของจำเลยในสำนวนคดีก่อนดังกล่าวมาเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมซึ่งทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้อยู่แล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับหนังสือสัญญาการซื้อขายในสำนวนคดีก่อนว่าจะใช้เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้หรือไม่อีก
ส่วนปัญหาข้อหลัง เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์แล้วจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามกำหนด โดยโจทก์ได้แนบสำเนาคำเบิกความของจำเลยในสำนวนคดีก่อนมาท้ายฟ้อง ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง เมื่อจำเลยไม่ได้ปฏิเสธว่าจำเลยมิได้กู้ยืมเงินโจทก์ถือว่าจำเลยรับข้อเท็จจริงตามที่โจทก์อ้างมาในคำฟ้องแล้วว่าจำเลยได้กู้ยืมเงินโจทก์นอกจากจำเลยจะมิได้โต้แย้งคัดค้านถึงการมีอยู่ของต้นฉบับ ทั้งให้การรับว่าเป็นคำเบิกความของจำเลยในสำนวนคดีก่อนจริง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังเป็นยุติตามคำฟ้องของโจทก์และคำให้การของจำเลยว่าจำเลยเคยเบิกความไว้ในคดีก่อนมีข้อความตามที่ปรากฏในสำเนาคำเบิกความที่โจทก์แนบมาท้ายฟ้อง โจทก์จึงไม่จำต้องนำสืบถึงคำเบิกความของจำเลยในสำนวนคดีก่อนด้วยต้นฉบับอีก เมื่อศาลชั้นต้นไม่จำต้องรับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวจากพยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยนำสืบ ย่อมไม่มีกรณีที่ศาลชั้นต้นจะรับฟังพยานหลักฐานฝ่าฝืนต่อกฎหมายได้ ดังนั้น ที่จำเลยอ้างว่าศาลชั้นต้นรับฟังพยานหลักฐานฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เพราะโจทก์ยื่นบัญชีพยานโดยระบุหมายเลขสำนวนคดีก่อนผิดพลาดแล้วมิได้ขอแก้ไขให้ถูกต้อง ถือว่าโจทก์มิได้อ้างต้นฉบับคำเบิกความของจำเลยในสำนวนคดีก่อนเป็นพยานหลักฐานของโจทก์นั้น จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับวินิจฉัย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์โดยฟังว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ตามฟ้องนั้น จึงชอบแล้ว
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 4,000 บาท.

Share