แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ศาลอุทธรณ์เพียงแต่พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลดโทษแก่จำเลยในแต่ละกระทงความผิด และให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินกระทงละห้าปี เป็นการแก้ไขเล็กน้อย โจทก์ฎีกาขออย่าให้ลดโทษให้แก่จำเลย เป็นฎีกาดุลพินิจ ของศาลซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 จำเลยรับสารภาพชั้นจับกุมเพราะจำนนต่อหลักฐานแต่ในชั้นสอบสวนและในชั้นพิจารณาให้การปฏิเสธ ดังนี้คำรับในชั้นจับกุมของจำเลยจึงไม่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาไม่มีเหตุที่จะลดโทษให้แก่จำเลย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯลฯพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 44 ข้อ 3, 6, 7 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91, 138, 288, 295, 296 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519ข้อ 4 กับขอให้ริบปืนของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษข้อหามีอาวุธปืน จำคุก 2 ปี ข้อหาพาอาวุธปืน จำคุก 1 ปี ข้อหาฆ่าผู้อื่น จำคุกตลอดชีวิต ข้อหาทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 296 ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก 2 ปี รวมทุกกระทงแล้วเป็นจำคุกตลอดชีวิต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ตามที่แก้ไขเพิ่มเติมของกลางริบ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานฆ่าผู้อื่น จำคุก 20 ปีรวมกับโทษความผิดฐานอื่น ๆ ที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้เป็น จำคุก 25 ปีลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก16 ปี 8 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา ขอให้ลงโทษจำคุกจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยไม่มีการลดโทษและขอให้ริบของกลางด้วย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…สำหรับความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมืองและทางสาธารณะโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ฐานต่อสู้ขัดขวางและทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ศาลอุทธรณ์พิพากษาเพียงแต่แก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลดโทษแก่จำเลยในกระทงความผิดเหล่านี้ เป็นการแก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินกระทงละห้าปี ต้องห้ามไม่ให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 ที่โจทก์ฎีกาขออย่างให้ลดโทษให้แก่จำเลย ในความผิดดังกล่าว เป็นฎีกาดุลพินิจของศาลของศาลซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายข้างต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คงมีปัญหาที่จะวินิจฉัยว่า ที่ศาลอุทธรณ์วางโทษและลดโทษให้แก่จำเลยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นชอบด้วยรูปคดีหรือไม่ และได้พิเคราะห์แล้ว ได้ความว่า ก่อนเกิดเหตุผู้ตายถูกจำเลยกับพวกทำร้าย ผู้ตายได้ไปแจ้งความต่อร้อยตำรวจตรีถาวร ศรีพฤกษ์ เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธร อำเภอเมืองลำปางให้ไปทำการจับกุมจำเลยกับพวก ไปพบจำเลยที่ร้านอาหารปกเกล้าที่เกิดเหตุ ผู้ตายน่าจะชี้ตัวให้ร้อยตำรวจตรีถาวรกับพวกจับจำเลยผู้ตายกลับจับคอเสื้อ จำเลยและดึงตัวจำเลยเข้ามาหา จำเลยมีสาเหตุกับผู้ตายอยู่แล้ว จำเลยคงคิดว่าผู้ตายจะต้องทำร้ายจำเลย การที่จำเลยใช้ปืนยิงผู้ตายในขณะนั้นจึงเป็นกรณีที่น่าเห็นใจจำเลยอยู่บ้าง ที่ศาลอุทธรณ์วางโทษจำคุกจำเลยในความผิดฐานนี้มีกำหนด 20 ปีจึงนับว่า เหมาะสมและชอบด้วยรูปคดีแล้ว แต่เห็นว่าการที่จำเลยยิงผู้ตายครั้งนี้จำเลยกระทำต่อหน้าร้อยตำรวจตรีถาวร และเจ้าพนักงานตำรวจหลายคน จำเลยถูกจับได้ทันทีทันใด ไม่มีทางปฏิเสธความผิดได้ ที่จำเลยรับสารภาพชั้นจับกุม จึงเป็นเพราะจำนนต่อพยานหลักฐาน ทั้งในชั้นสอบสวนจำเลยก็ไม่ได้รับสารภาพ และในชั้นพิจารณาจำเลยก็ให้การปฏิเสธ คำรับในชั้นจับกุมของจำเลยจึงไม่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ที่ศาลอุทธรณ์ยกเอาคำรับชั้นจับกุมของจำเลยมาเป็นเหตุลดโทษให้แก่จำเลย ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยที่โจทก์ฎีกาขอให้ริบของกลางนั้น เห็นว่า ศาลล่างทั้งสองได้สั่งริบของกลางตามคำขอของโจทก์แล้ว ไม่มีเหตุที่โจทก์จะฎีกาขอให้ริบของกลางดังกล่าวอีกฎีกาโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยฐานฆ่าผู้อื่นมีกำหนด20 ปี โดยไม่ลดโทษให้ รวมกับโทษกระทงอื่นที่ศาลอุทธรณ์ลงไว้แล้วรวมเป็นโทษจำคุกจำเลย 23 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”.