คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1651/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์รู้เรื่องความผิดที่กล่าวหาว่าจำเลยหมิ่นประมาทเปิดเผยความลับและทำให้เสียทรัพย์และรู้ตัวผู้กระทำผิดตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2510 แล้วโจทก์มาฟ้องคดีขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328, 322, 358 เมื่อวันที่7 พฤศจิกายน 2510 เกินกำหนด 3 เดือน โดยโจทก์มิได้ร้องทุกข์ไว้คดีของโจทก์จึงขาดอายุความฟ้องร้องตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 96
ศาลแขวงวินิจฉัยคดีข้อหาฐานลักทรัพย์ว่าการกระทำของจำเลยยังฟังไม่ได้ว่ากระทำโดยทุจริต พอแปลความหมายได้ว่าพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยอาศัยข้อเท็จจริง โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยเอาทรัพย์ไปด้วยเจตนาทุจริตเป็นลักทรัพย์ เป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงอยู่แล้ว เมื่อมีฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและเพิ่มเติมฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยกระทำผิดกฎหมายหลายบทหลายกระทง ต่างกรรมต่างวาระกัน คือ เมื่อระหว่างวันที่ 18เมษายน 2510 ถึงวันที่ 14 มิถุนายน 2510 จำเลยกล่าวด้วยวาจาและรายงานเป็นหนังสือหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สามเมื่อระหว่างวันที่ 21 มีนาคม 2510 ถึงวันที่ 14 มิถุนายน 2510 จำเลยได้บังอาจเปิดผนึกจดหมายปิดผนึกที่ผู้อื่นมีถึงโจทก์เพื่อล่วงรู้ข้อความ นำข้อความในจดหมายออกเปิดเผยโฆษณา และเมื่อระหว่างวันที่ 31มีนาคม 2510 ถึงวันที่ 14 มิถุนายน 2510 จำเลยบังอาจทำให้เสียหายซ่อนเร้น เอาไปเสีย ซึ่งบรรดาจดหมายที่มีไปถึงโจทก์โดยจำเลยไม่มีอำนาจจะกระทำได้ การกระทำของจำเลยดังกล่าวทำให้โจทก์เสียหายต้องเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชังและเป็นการสกัดกั้นความก้าวหน้าทางราชการของโจทก์ ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326,328, 322, 358 และ 334

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งว่าคดีมีมูล

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328, 322 และ 358 ให้ลงโทษตามมาตรา 358 ซึ่งเป็นกระทงหนักตามมาตรา 91 จำคุก 1 เดือน และปรับ 1,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ในกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 บังคับค่าปรับตามมาตรา 29, 30

โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยเอาจดหมายส่วนตัวของโจทก์ไปโดยไม่ได้รับอนุญาต ด้วยเจตนาทุจริตเป็นการลักทรัพย์ ขอให้เพิ่มโทษจำเลยให้หนักขึ้นไม่ควรรอการลงโทษ

จำเลยอุทธรณ์ว่า หลักฐานโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิดคดีโจทก์เฉพาะที่เป็นความผิดต่อส่วนตัวขาดอายุความฟ้องร้องแล้ว

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า นับแต่วันที่โจทก์รู้เรื่องความผิด และรู้ตัวผู้กระทำผิดถึงวันที่โจทก์ฟ้องเป็นเวลาเกิน 3 เดือน คดีโจทก์จึงขาดอายุความฟ้องร้อง ส่วนข้อหาฐานลักทรัพย์ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ แต่มิได้พิพากษาในข้อหาฐานลักทรัพย์ประการใด พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ทุกข้อหา

โจทก์ฎีกาว่าคดีของโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ

ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความตามที่โจทก์นำสืบว่า เมื่อประมาณเดือนธันวาคม 2509 โจทก์รับราชการตำแหน่งเลขานุการตรีประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ เมืองเจดดาห์ประเทศซาอุดิอาระเบีย โดยมีจำเลยเป็นเลขานุการเอกทำหน้าที่เป็นอุปทูตและกงสุลและเป็นผู้บังคับบัญชาโจทก์ โจทก์อยู่ประเทศซาอุดิอาระเบียได้ 6 เดือน กระทรวงการต่างประเทศเรียกตัวกลับ ได้เดินทางมาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2510 และกระทรวงการต่างประเทศได้ตั้งกรรมการสอบสวนโจทก์ในข้อหาว่ามีหนี้สินรุงรัง ไม่อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ทุจริตต่อหน้าที่และใช้สถานทูตไทยทำการค้า ในที่สุดกระทรวงการต่างประเทศสั่งตัดเงินเดือนโจทก์ 20 % มีกำหนด4 เดือน

ที่โจทก์อ้างว่า โจทก์เพิ่งรู้ว่าจำเลยเป็นคนรายงานกล่าวโทษโจทก์เมื่อเดือนตุลาคม 2510 โดยนางสาวพาสนาคนรับใช้จำเลยที่เมืองเจดดาห์เล่าให้ฟังและโจทก์เคยขอดูข้อกล่าวหาของจำเลยจากกระทรวงการต่างประเทศแต่กระทรวงการต่างประเทศไม่ยอมนั้น ขัดกับจดหมาย (เอกสารหมาย ล.1) ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2510 ที่โจทก์มีไปถึงจำเลยซึ่งมีข้อความตอนหนึ่งว่า “ขอขอบคุณอาจารย์ (หมายถึงจำเลย) ได้ช่วยรายงานเท็จเกี่ยวกับตัวผมเข้ากระทรวงฯ เป็นเหตุให้ผมถูกเรียกกลับ ฯลฯ ผมเองก็หนักใจเหลือเกินเกี่ยวกับข้อหาฉกรรจ์ 4 ข้อที่อาจารย์รายงานไป …. ฯลฯ และหลักฐานที่อาจารย์แอบถ่ายรูปส่งไปกระทรวงฯ ก็ยิ่งมัดผมแน่นแฟ้น …. ฯลฯ ….ข้อหาแต่ละข้อที่อาจารย์รายงานไปทุกข้อร้ายแรงจนผมจะต้องถูกออกจากราชการทั้งนั้น ….ฯลฯ ….”ตามจดหมายที่โจทก์มีไปถึงจำเลยดังกล่าวน่าเชื่อว่าโจทก์รู้เรื่องความผิดที่กล่าวหาว่าจำเลยหมิ่นประมาท เปิดเผยความลับและทำให้เสียทรัพย์ จากรายงานของจำเลยลงวันที่ 23 เมษายน 2510 (เอกสารหมาย จ.23) พร้อมด้วยเอกสารที่ส่งมากับรายงานนั้น โจทก์จึงได้แจ้งไปยังจำเลยว่า หลักฐานที่จำเลยแอบถ่ายรูปส่งไปกระทรวงการต่างประเทศก็ยิ่งมัดโจทก์แน่นแฟ้น และรู้ตัวผู้กระทำผิดอย่างช้าก็ตั้งแต่วันที่ 1กรกฎาคม 2510 แล้ว โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2510เกินกำหนด 3 เดือน โดยโจทก์มิได้ร้องทุกข์ไว้ต่อเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 คดีจึงขาดอายุความดังคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์

สำหรับข้อหาฐานลักทรัพย์ซึ่งศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำโดยทุจริต และโจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยเอาจดหมายของโจทก์ไปโดยไม่ได้รับอนุญาตและด้วยเจตนาทุจริตเป็นการลักทรัพย์โดยชัดแจ้ง แต่ศาลอุทธรณ์ไม่ได้วินิจฉัยให้ คงกล่าวเพียงว่า ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ดังโจทก์ฟ้อง ศาลฎีกาเห็นว่า ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยยังฟังไม่ได้ว่ากระทำโดยทุจริตนั้นพอแปลได้ว่าพิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหาฐานลักทรัพย์ ศาลอุทธรณ์น่าจะได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ แต่อย่างไรก็ดี ข้อหาฐานลักทรัพย์นั้น ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยไม่ได้กระทำโดยทุจริต จึงเป็นการยกฟ้องโจทก์โดยอาศัยข้อเท็จจริง โจทก์จะอุทธรณ์ว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตไม่ได้ ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 22 อยู่แล้วศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้

พิพากษายืน

Share