แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
(1) ในกรณีที่จำเลยให้การต่อสู้ว่าสัญญาขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาจำนองนั้นย่อมเป็นการกล่าวอ้างว่าสัญญาขายฝากเกิดจากเจตนาลวงของคู่กรณีโดยคู่กรณีมีเจตนาลวงที่แท้จริงจะทำสัญญาจำนองกัน หากเป็นความจริงดังจำเลยอ้าง สัญญาขายฝากย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118 ฉะนั้น การที่จำเลยขอสืบว่าสัญญาขายฝากเป็นโมฆะจึงไม่ใช่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารหากแต่เป็นการนำสืบหักล้างว่าสัญญาขายฝากไม่ถูกต้องสมบูรณ์ทั้งหมด จำเลยจึงนำสืบได้ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรคท้าย ส่วนเมื่อนำสืบได้ว่าสัญญาขายฝากเกิดจากเจตนาลวงเป็นโมฆะแล้ว จะบังคับตามสัญญาจำนองได้เพียงใดหรือไม่ ในเมื่อสัญญาจำนองมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น ย่อมเป็นปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในอันดับต่อไป
(2) ในกรณีที่ผู้ขายฝากไม่ไถ่คืนในกำหนด ผู้ซื้อฝากได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์ที่ขายฝากแล้ว ย่อมมีสิทธิโอนขายให้ผู้อื่นได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวผู้ขายฝาก เพราะเป็นเรื่องเจ้าของโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ของตนให้ผู้อื่น หาใช่เป็นเรื่องโอนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306, 308 ไม่
หมายเหตุ: หมายเลข 1 ประชุมใหญ่ครั้งที่ 5/2508 กลับหลักเรื่องการไม่อนุญาตให้นำสืบตามที่กล่าวไว้ในคำพิพากษาฎีกาที่ 1234/2505 ซึ่งปรึกษาในที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 26/2505 นั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ ๗๖๒๑ ตำบลป่าดัน (ช้างม่อย) จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมทั้งตึก ๑ หลัง เรือนไม้ ๓ หลัง ในที่ดินนั้นแก่โจทก์และนายจรัลยิดซิงห์เป็นเงิน ๔๐๐,๐๐๐ บาท มีกำหนด ๖ เดือน จำเลยไม่ซื้อคืนตามสัญญา ต่อมานายจรัลยิดซิงห์ได้ขายเฉพาะส่วนของตนให้แก่โจทก์ที่ ๒
เมื่อจำเลยไม่ซื้อคืน จำเลยได้ทำสัญญาอาศัยอยู่ในที่ดินนี้ เมื่อครบกำหนดแล้วไม่ออกโจทก์บอกกล่าวให้ออกจำเลยก็ผัดเรื่อย จึงฟ้องขอให้ศาลบังคับ
จำเลยต่อสู้หลายประการ เช่นว่า สัญญาขายฝากที่โจทก์ฟ้องนั้นเป็นสัญญาจำนอง โจทก์เป็นตัวแทนเชิดของนายดีวานซิงห์คนต่างด้าวทำสัญญาเองไม่ได้ ต้องใช้กลอุบายอำพรางหลีกเลี่ยงกฎหมายที่ดินทำสัญญาขายฝากขึ้น พฤติการณ์ที่ปฏิบัติต่อกันมุ่งเป็นการจำนอง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง และฟ้องแย้งขอให้โจทก์คืนเงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาทที่จำเลยผ่อนชำระการจำนอง
ศาลชั้นต้นไม่รับฟ้องแย้ง (จำเลยไม่อุทธรณ์ เป็นอันยุติ)
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว ฟังว่า โจทก์จำเลยได้ตกลงทำสัญญาขายฝากทรัพย์พิพาทกันหามีการตกลงจำนองแอบแฝงอยู่เบื้องหลังไม่นายมีชัยโจทก์และนายจรัลยิดซิงห์เป็นคู่สัญญากับจำเลย มิได้ทำแทนนายดีวานซิงห์ ต่อมานายจรัลยิดซิงห์ได้ขายทรัพย์พิพาทเฉพาะส่วนของตนให้นายอมรโจทก์ที่ ๒ นายอมรโจทก์ที่ ๒ จึงมีอำนาจฟ้อง พิพากษาให้จำเลยและบริวารออกไปจากทรัพย์พิพาท
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว เห็นว่า ฎีกาข้อแรกของจำเลย จำเลยฎีกาคัดค้านว่านายดีวานซิงห์เป็นผู้รับซื้อฝากทรัพย์พิพาท แต่ให้นายมีชัยโจทก์ออกหน้าเป็นตัวแทนเชิดนั้น พยานหลักฐานโจทก์น่าเชื่อว่านายมีชัยโจทก์และนายจรัลยิดซิงห์เป็นผู้รับซื้อฝากทรัพย์พิพาท และนายมีชัยโจทก์มิใช่ตัวแทนของนายดีวานซิงห์
ฎีกาข้อต่อไปว่า สัญญาขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาจำนองหรือไม่ นั้น เห็นว่าก่อนที่จะวินิจฉัยในปัญหาข้อนี้ คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า ในกรณีทีจำเลยให้การต่อสู้ว่า สัญญาขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาจำนอง ศาลจะยอมให้จำเลยสืบพยานว่าพฤติการณ์เป็นจำนองโดยไม่มีสัญญาจำนองที่จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่มาแสดงได้หรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ในกรณีที่จำเลยต่อสู้ว่าสัญญาขายฝากเป็นนิติกรรมอำพราง เป็นการกล่าวอ้างว่าสัญญาขายฝากเกิดจากเจตนาลวงของคู่กรณี โดยคู่กรณีมีเจตนาที่แท้จริง จะทำสัญญาจำนองกัน หากเป็นความจริงดังจำเลยอ้าง สัญญาขายฝากย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๘ การที่จำเลยขอสืบว่าสัญญาขายฝากเป็นโมฆะ จึงมิใช่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร แต่เป็นการนำสืบหักล้างว่าสัญญาขายฝากไม่ถูกต้องสมบูรณ์ทั้งหมด ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยนำสืบได้ ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๙๔ วรรคท้าย ส่วนเมื่อจำเลยนำสืบฟังได้ว่าสัญญาขายฝากเกิดจาเจตนาลวงเป็นโมฆะแล้ว จะบังคับตามสัญญาจำนองตามเจตนาอันแท้จริงของคู่กรณีได้เพียงใดหรือไม่ ในเมื่อสัญญาจำนองมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น เป็นปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในอันดับต่อไป จะด่วนตัดบทมิให้จำเลยนำสืบว่าสัญญาขายฝากเป็นโมฆะ เพราะจำเลยไม่มีสัญญาจำนองที่จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่มาแสดงนั้นหาชอบไม่
สำหรับปัญหาว่า สัญญาขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาจำนองหรือไม่ ศาลฎีกาพิเคราะห์พยานหลักฐานโดยตลอดแล้ว พยานหลักฐานของจำเลยรับฟังไม่ได้ว่า สัญญาขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาจำนอง พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักมั่นคงฟังได้ว่าจำเลยได้ขายฝากทรัพย์พิพาทให้โจทก์
ฎีกาข้อสุดท้ายว่า นายจรัลยิดซิงห์โอนสิทธิเรียกร้องให้นายอมรโจทก์ที่ ๒ มิได้แจ้งการโอนให้จำเลยทราบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๐๖, ๓๐๘ จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า นายจรัลยิดซิงห์ผู้รับซื้อฝากเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์พิพาทในเมื่อจำเลยไม่ไถ่คืนภายในกำหนด ย่อมมีสิทธิโอนขายให้นายอมรโจทก์ที่ ๒ โดยไม่ต้องบอกกล่าวให้จำเลยผู้ขายฝากทราบ กรณีเป็นเรื่องเจ้าของโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ของตนให้ผู้อื่น ไม่ใช่เรื่องการโอนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๐๖, ๓๐๘ นายอมรโจทก์ที่ ๒ จึงมีอำนาจฟ้อง
พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ยกฎีกาจำเลย