คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 295/2501

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่เจ้าของที่ดินที่ยังไม่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่จัดสร้างวัดขึ้นในที่ดินแล้วถวายให้เป็นวัดและทางราชการได้ประกาศตั้งให้เป็นสำนักสงฆ์ตามพระะราชบัญญัติคณะสงฆ์แล้วก็ต้องถือว่าเป็นวัดตามกฎหมายวัดย่อมเป็นนิติบุคคลซึ่งมีสิทธิและหน้าที่เหมือนบุคคลธรรมดาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ วัดจึงอาจได้ที่ดินมาโดยทางครอบครองได้ (อ้างฎีกา1253/2481,944-945/2497)
เจ้าของที่ดินที่ยังไม่มีหนังสือสำคัญมอบการครอบครองที่ดินที่สร้างวัดและสิ่งปลูกสร้างถวายให้เป็นของวัดและวัดเข้าครอบครองแล้วก็ถือได้ว่าเจ้าของที่ดินสละการครอบครองไม่ต้องทำเป็นหนังสือหรือจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองให้แต่ประการใด (อ้างฎีกาที่ 541/2500)
เมื่อเจ้าของที่ดินที่ยังไม่มีหนังสือสำคัญสละการครอบครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างถวายวัดซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายแล้วเจ้าของที่ดินนั้นก็ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่หรือห้ามพระภิกษุซึ่งได้รับแต่งตั้งจากคณะสงฆ์ให้เป็นเจ้าอาวาสได้

ย่อยาว

คดีได้ความว่าโจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินยังไม่มีหนังสือสำคัญจากนายสุข วงษ์กรด โดยทำสัญญาซื้อขายกันต่ออำเภอชุมแสงเพื่อสร้างเป็นวัดรายพิพาท โจทก์ได้รับอนุญาตทางราชการให้สร้างวัดได้โจทก์และชาวบ้านได้จัดการสร้างหอสวดมนต์ 1 หลัง กุฏิ 3 หลังครัวห้องน้ำและห้องส้วมขึ้นเสร็จแล้วโจทก์และชาวบ้านได้ร่วมกันนิมนต์พระภิกษุสามเณรมาจำพรรษาที่วัดที่สร้างขึ้นในพรรษาของปี พ.ศ. 2497 รวมทั้งจำเลยนี้ด้วย โจทก์ได้รายงานต่ออำเภอว่าได้สร้างวัดขึ้นเสร็จแล้ว ขอให้ทางการประกาศเป็นสำนักสงฆ์ และขอให้โอนที่ดินรายนี้ให้เป็นของวัดแสงธรรมสุทธาราม ต่อมากระทรวงวัฒนธรรมได้ประกาศให้วัดแสงธรรมสุทธารามนี้เป็นสำนักสงฆ์ ตามความประสงค์ของโจทก์ทางอำเภอก็แจ้งให้โจทก์ทราบ และขอให้โจทก์ไปจัดการโอนทะเบียนที่ดินให้แก่วัด ก่อนอำเภอจะแจ้งให้โจทก์โอนที่ดิน โจทก์ไม่พอใจอยากให้พระครูธรรมรัต เป็นเจ้าอาวาสจึงมีหนังสือบอกอำเภอว่า จำเลยแสดงตนเป็นเจ้าอาวาสและขัดขวางในการ (ที่จะ) สร้างวัดต่อไป ขอให้ระงับการโอนที่ดินให้วัดไว้ชั่วคราวการที่ฟ้องร้องกันก็เป็นเพราะโจทก์ร้องเรียนไปยังเจ้าคุณพรหมมุนีเจ้าคณะธรรมยุตภาค 6 ว่า พระภิกษุวัดราชบพิธที่ไปอยู่วัดนี้ไม่เป็นที่เลื่อมใส ขอให้ระงับการส่งพระภิกษุวัดราชบพิธ ขอให้ส่งพระครูธรรมรัตวัดเทพศิรินทร์ไปปกครองแทน จนถึงได้ร้องเรียนสมเด็จพระสังฆราช เจ้าคุณสาธุศีล ขอให้ส่งพระครูธรรมรัตและพระภิกษุวัดเทพศิรินทร์ไปอยู่ พระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่มีความเห็นเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งว่าควรให้พระครูธรรมรัตเป็นเจ้าอาวาสผลที่สุดเจ้าคุณพระธรรมปาโมกข์ ทำการในหน้าที่เจ้าคณะธรรมยุตจังหวัดนครสวรรค์ตั้งให้จำเลยเป็นเจ้าอาวาส โจทก์จึงให้ทนายบอกกล่าวให้จำเลยออกจากวัดแล้วฟ้องเป็นคดีนี้ โดยถือว่าที่ดินที่สร้างวัดยังเป็นของโจทก์อยู่ เพราะยังมิได้โอนแก้ทะเบียนที่ดินต่ออำเภอ ขอให้บังคับจำเลยและบริวารออกไปจากวัดแสงธรรมสุทธาราม

ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานบุคคลโดยเพียงพิจารณาตามฟ้องคำให้การคำรับให้รายงานพิจารณาและเอกสารหลักฐานแล้วพิพากษาว่า วัดนี้กระทรวงวัฒนธรรมประกาศตั้งเป็นสำนักสงฆ์ โจทก์และชาวบ้านได้ร่วมกันนิมนต์พระภิกษุสามเณรมาจำพรรษามาจนทุกวันนี้ ต่อมาจำเลยได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสตาม พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ โจทก์ได้สละการครอบครองที่ดินมือเปล่าที่สร้างวัดรายนี้แล้ว ที่ดินจึงตกเป็นของวัดโดยชอบโจทก์ไม่มีอำนาจขอให้ขับจำเลย ให้ยกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โดยเหตุผลทำนองเดียวกับศาลชั้นต้นและว่าคดีไม่จำเป็นต้องสืบพยานทั้งสองฝ่ายเพราะข้อเท็จจริงตามเอกสารที่คู่ความอ้างและรับกัน คดีพอวินิจฉัยได้แล้ว

โจทก์ฎีกา ขอให้ดำเนินการพิจารณาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(2)

ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นคดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงิน ฎีกาข้อเท็จจริงได้ และเห็นว่าข้อฎีกาของโจทก์ที่ว่าโจทก์มิได้สละการครอบครองที่ดิน เพราะตลอดเวลาที่กระทรวงวัฒนธรรมประกาศตั้งวัดนี้เป็นสำนักสงฆ์ โจทก์ได้โต้แย้งคัดค้านการแย่งสิทธิครอบครองตลอดมา วัดยังไม่ได้รับโอนที่ดินโดยถูกต้องและโจทก์ดำเนินคดีภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศของกระทรวงวัฒนธรรมจะถือว่าโจทก์สละสิทธิครอบครองหรือสิทธิครอบครองตกเป็นของคณะสงฆ์แล้วไม่ได้นั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์และราษฎรจัดการสร้างวัดขึ้นและถวายให้เป็นวัดและทางราชการก็ประกาศตั้งให้เป็นสำนักสงฆ์แล้วตาม พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ 2484 มาตรา 38 ต้องถือว่าเป็นวัดตามกฎหมายแล้ว เมื่อเป็นวัดโดยถูกต้องตามกฎหมาย ย่อมเป็นนิติบุคคลตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 72(2) วัดจึงมีสิทธิและหน้าที่เหมือนบุคคลธรรมดา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 70 วัดอาจได้ที่ดินมาโดยทางครอบครองได้ตามนัยฎีกาที่ 1253/2481 ที่ 944-945/2497

การที่โจทก์มอบการครอบครองโดยสละและอุทิศที่ดินที่สร้างวัดและสิ่งปลูกสร้างถวายให้เป็นของวัดและวัดก็เข้าครอบครองแล้วดังนี้ หาต้องทำเป็นหนังสือหรือจดทะเบียนโอนสิทธิการครอบครองให้แต่ประการใดไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1377, 1378 ดังฎีกาที่ 541/2500

เมื่อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นของวัดซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายแล้วโจทก์ก็ไม่มีอำนาจอันใดที่จะมาฟ้องขับไล่หรือห้ามจำเลยซึ่งได้รับแต่งตั้งจากคณะสงฆ์ให้เป็นเจ้าอาวาสวัดนี้ได้

ไม่จำเป็นต้องสืบพยานตามที่โจทก์ฎีกา และไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยปัญหาข้อว่าการตั้งจำเลยเป็นเจ้าอาวาสชอบหรือไม่

พิพากษายืน

Share