แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาให้ตามมาตรา 521 นั้น เป็นสัญญาที่ไม่มีสิ่งตอบแทน.
สัญญาที่ผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงทำไว้กับผู้ใหญ่ฝ่ายชายว่า จะยกที่ดินให้แก่คู่สมรสภายใน 5 ปี นับแต่วันสมรส แต่ถ้าคู่สมรสทอดทิ้งไม่อุปการะผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงซึ่งเป็นผู้ให้แล้ว ผู้ให้จะยังไม่โอนที่ดินให้ดั่งนี้ เป็นสัญญาที่มีการตอบแทน จึงไม่เป็นสัญญาให้ตาม ม.521 แต่เป็นสัญญาซึ่งสมัยก่อนเรียกว่าสัญญากองทุนในการสมรส คู่สมรสฟ้องให้บังคับตามสัญญาได้
ในกรณีที่ศาลฎีกาให้ย้อนสำนวนไปพิจารณาพิพากษาใหม่นั้น ศาลสูงสั่งให้รวมสั่งค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ตอนพิพากษาใหม่ได้
ย่อยาว
ในการทำพิธีสมรสระหว่างนายฉลวยและนางสาวทวาย โจทก์ นั้น นายมูลซึ่งเป็นประธานฝ่ายชาย กับนายแกระจำเลยซึ่งเป็นประธานฝ่ายหญิง ได้ทำสัญญากันไว้ว่า ฝ่ายชายได้นำเงินมาเป็นเงิน ๗๐๐ บาท และเงินทุน ๑๐๗ บาท ๗๗ สตางค์ ฝ่ายหญิงนายแกระจะแบ่งโอนที่นาโฉนดที่ ๒๗๔๒ ให้คู่สมรส ๒๐ ไร่ ภายใน ๕ ปี นับแต่วันสมรส แต่ถ้าฝ่ายคู่สมรสทอดทิ้งไม่อุปการะนายแกระ นางสนิท (ภรรยานายแกระ) นายแกระ นางสนิท จะยังไม่โอนนา ๒๐ ไร่ให้ บัดนี้ นายฉลวย นางทวาย ได้เป็นโจทก์ฟ้องนายแกระจำเลย อ้างว่าจำเลยขายที่ดินแปลงนี้เสียแล้ว โจทก์จึงขอส่วน ๒๐ ไร่ เป็นเงิน ๔๗๒๐ บาท.
ศาลชั้นต้นเห็นว่าสัญญาให้รายนี้ไม่ได้จดทะเบียนตามมาตรา ๕๒๕ จึงไม่สมบูรณ์ พิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า สัญญาให้ตามมาตรา ๕๒๑ นั้น ไม่มีสิ่งตอบแทน แต่สัญญานี้เป็นสัญญาที่มีการตอบแทนกัน จึงไม่เป็นสัญญาจะให้ แต่เป็นสัญญาซึ่งสมัยก่อนเรียกว่า กองทุนในการสมรส กรณีจึงไม่เข้า ป.พ.พ.มาตรา ๕๒๕ หรือ ๕๒๖. จึงพิพากษายกคำพิพากษาศาลล่างให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาต่อไป แล้วชี้ขาดใหม่ตามรูปคดี. ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลในชั้นนี้ ให้ศาลรวมสั่งให้คำพิพากษาตอนใหม่.