คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2944/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติซึ่งได้เข้าควบคุมอำนาจในการปกครองของประเทศและได้ออกประกาศฉบับที่1ลงวันที่23กุมภาพันธ์2534มีผลทำให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช2521สิ้นผลลงก็ตามแต่ก็มิได้มีประกาศของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับใดยกเลิกพระราชบัญญัติ การประมงพ.ศ.2490มาตรา28ทวิ,64ทวิบทกฎหมายดังกล่าวจึงยังมีผลบังคับอยู่ คณะกรรมการพิจารณากำหนดค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายอื่นๆเพียงแต่ได้ทำการรวบรวมและคำนวณค่าใช้จ่ายต่างๆซึ่งทางรัฐบาลได้เสียไปอันเกิดจากการละเมิดน่านน้ำของต่างประเทศของจำเลยผู้เป็นเจ้าของเรือซึ่งใช้หรือยอมให้ใช้เรือของตนกระทำการละเมิดและแจ้งให้จำเลยปฏิบัติตามคำวินิจฉัยภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายพระราชบัญญัติการประมงพ.ศ.2490มาตรา28ทวิเท่านั้นมิได้กระทำการพิจารณาวินิจฉัยอรรถคดีเช่นเดียวกับศาลยุติธรรมแต่อย่างใดซึ่งเมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามก็จะมีโทษตามมาตรา64ทวิแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวการกระทำของคณะกรรมการกำหนดค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายอื่นๆฯจึงชอบด้วยกฎหมายหาขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญไม่ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย1ปีและปรับ100,000บาทโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้1ปีศาลอุทธรณ์พิพากษายืนห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา218วรรคหนึ่งจำเลยฎีกาว่าคำสั่งของคณะกรรมการพิจารณากำหนดค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายอื่นๆฯขัดต่อหลักกฎหมายและขาดข้อเท็จจริงสนับสนุนเพียงพอนั้นเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งนำไปสู่การวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าของเรือประมง ได้รับแจ้งค่าวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณากำหนดค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อันเกิดจากการละเมิดน่านน้ำของต่างประเทศที่ให้จำเลยรับผิดชอบค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อันเกิดจากการที่เรือประมงลำดังกล่าวละเมิดน่านน้ำประเทศเวียตนาม ซึ่งทางราชการได้ทดรองจ่ายไปภายในกำหนดเวลา 30 วัน แล้วจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยภายในกำหนดเวลา ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 มาตรา 28 ทวิ, 64 ทวิ,พระราชบัญญัติ การประมง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2528 มาตรา 6, 12
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการประมงพ.ศ. 2490 มาตรา 28 ทวิ, 64 ทวิ ลงโทษจำคุก 1 ปี และปรับ100,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อนพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นสมควรรอการลงโทษจำคุกไว้ 1 ปีไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทน
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยในชั้นนี้ตามข้อฎีกาของจำเลยเป็นประการแรกว่า บทกฎหมายที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยคดีนี้ยกเลิกไปแล้วหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ซึ่งได้เข้าควบคุมอำนาจในการปกครองของประเทศและได้ออกประกาศ ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์2534 มีผลทำให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521สิ้นผลลงก็ตาม แต่ก็มิได้มีประกาศของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับใดยกเลิกบทกฎหมายดังกล่าว บทกฎหมายนั้นจึงยังมีผลบังคับอยู่ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
สำหรับฎีกาประการต่อไปของจำเลยที่พอสรุปได้ว่า การที่บทกฎหมายที่โจทก์อ้างมาในฟ้องให้ใช้อำนาจของฝ่ายบริหารตั้งคณะกรรมการพิจารณากำหนดค่าเสียหาย และค่าใช้จ่ายอื่น ๆอันเกิดจากการละเมิดน่านน้ำของต่างประเทศ จึงเป็นการใช้อำนาจของฝ่ายบริการในการตั้งศาล อันเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญนั้นเห็นว่า คณะกรรมการพิจารณากำหนดค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ฯ เพียงแต่ได้ทำการรวบรวมและคำนวณค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ซึ่งทางรัฐบาลได้เสียไปอันเกิดจากการละเมิดน่านน้ำของต่างประเทศของจำเลย ผู้เป็นเจ้าของเรือ ซึ่งใช้หรือยอมให้ใช้เรือของตนกระทำการละเมิดดังกล่าว และแจ้งให้จำเลยปฏิบัติตามคำวินิจฉัยภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490มาตรา 28 ทวิ เท่านั้น มิได้กระทำการพิจารณาวินิจฉัยอรรถคดีเช่นเดียวกับศาลยุติธรรมแต่อย่างใด ซึ่งเมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามก็จะมีโทษตาม มาตรา 64 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวการกระทำของคณะกรรมการพิจารณากำหนดค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ฯ จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว หาขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญไม่ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน
ส่วนฎีกาของจำเลยอีกประการหนึ่งที่กล่าวพอสรุปได้ว่า คำสั่งของคณะกรรมการพิจารณากำหนดค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ฯขัดต่อหลักกฎหมายและขาดข้อเท็จจริงสนับสนุนเพียงพอนั้นแม้จำเลยจะอ้างว่า ขัดต่อหลักกฎหมายทำให้ดูประหนึ่งว่าเป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย แต่ศาลฎีกา เห็นว่าเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งนำไปสู่การวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมาย จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง แม้ศาลชั้นต้นจะรับฎีกาในปัญหาข้อนี้ของจำเลยด้วย ก็เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน

Share