แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ข้อความในสัญญาซื้อขายที่ดินมีเพียงว่า ผู้ขายตกลงขายที่ดินมีโฉนดให้แก่ผู้ซื้อ และผู้ขายได้รับชำระราคาจากผู้ซื้อครบถ้วน กับส่งมอบที่ดินให้ผู้ซื้อแล้วในวันทำสัญญาเป็นการแสดงว่าคู่กรณีมีเจตนาซื้อขายที่ดินกันเสร็จเด็ดขาด โดยไม่จดทะเบียนการโอนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การซื้อขายที่ดินนั้นจึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า สัญญาระหว่างโจทก์จำเลยเป็นสัญญาจะซื้อขายที่ดิน แม้ไม่จดทะเบียนก็ใช้บังคับได้ แต่พิพากษายกฟ้อง เพราะจำเลยทำสัญญาโดยลำพังไม่ได้ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าเป็นสัญญาซื้อขายเด็ดขาด เมื่อไม่จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 พิพากษายกฟ้อง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ปัญหาที่โต้เถียงกันในชั้นฎีกามีว่า สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างนายแส กับจำเลยตามฟ้องเอกสารหมาย จ.2 ตกเป็นโมฆะหรือไม่ เห็นว่า หนังสือสัญญาระบุว่าเป็นหนังสือสัญญาซื้อขายข้อความในสัญญามีว่า ผู้ขายตกลงขายที่ดินมีโฉนดให้ผู้ซื้อและผู้ขายได้รับชำระราคาจากผู้ซื้อครบถ้วนในวันทำสัญญา กับตกลงส่งมอบที่ดินให้ผู้ซื้อแล้วตั้งแต่วันทำสัญญา แสดงว่าคู่กรณีมีเจตนามุ่งซื้อขายที่ดินกันเสร็จเด็ดขาดในสัญญาไม่ลงเลขที่หรือรายละเอียดของโฉนดไว้เป็นข้อตกลงแน่นอนว่าจะต้องโอนที่ดินโฉนดไหนให้แก่กัน และไม่มีข้อตกลงว่าจะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เมื่อใด เป็นพฤติการณ์ที่เห็นได้ว่าทั้งสองฝ่าย ไม่มีเจตนาที่จะจดทะเบียนการโอนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ นิติกรรมการซื้อขายที่ดินดังกล่าวตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน แต่ไม่ตัดสิทธิในการที่จะฟ้องเรียกร้องกันโดยอาศัยข้อตกลงในสัญญาอย่างอื่น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ”