คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 294/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1598/28ที่บัญญัติว่าบุตรบุญธรรมย่อมมีฐานะอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรมและในวรรคที่2ที่บัญญัติว่าให้นำบทบัญญัติในลักษณะ2หมวด2แห่งบรรพนี้(ตั้งแต่มาตรา1561ถึงมาตรา1584/1)มาใช้บังคับโดยอนุโลมนั้นหมายความเพียงว่าให้นำบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของบิดามารดาและบุตรมาใช้บังคับแก่บุตรบุญธรรมโดยอนุโลมเท่านั้นไม่ได้บังคับว่าจะต้องนำทุนมาตรามาใช้บังคับทั้งหมดส่วนบทบัญญัติในมาตรา1562ที่บัญญัติว่าผู้ใดจะฟังบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้นั้นเป็นบทบัญญัติจำกัดสิทธิของบุคคลจึงต้องตีความโดยเคร่งครัด ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา29เดิม(มาตรา28ที่แก้ไขใหม่)ให้ความหมายของคำว่าผู้บุพการีไว้ว่าหมายถึงบิดามารดาปู่ย่าตายายทวดและผู้สืบสายโลหิตกันโดยตรงขึ้นไปตามความเป็นจริงจำเลยเป็นเพียงผู้รับโจกท์เป็นบุตรบุญธรรมไม่ใช่บิดาโจทก์จึงไม่ใช่ผู้บุพการีของโจทก์โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1562

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 714, 1442 และ 1478ตำบลวังไคร้ อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี มีชื่อนางสำเภาและโจทก์ถือสิทธิครอบครองร่วมกัน เมื่อปี พ.ศ. 2527 นางสำเภาถึงแก่ความตาย จำเลยเป็นสามีมีสิทธิรับมรดกของนางสำเภาและเป็นผู้เก็บรักษา น.ส.3 ก. ทั้งสามฉบับไว้ โจทก์ประสงค์จะขอแบ่งที่ดินทั้งสามแปลงตามสิทธิและส่วนของโจทก์ขอให้บังคับจำเลยไปดำเนินการรังวัดแนวเขตและจดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมในที่ น.ส.3 ก. ทั้งสามฉบับดังกล่าวแก่โจทก์ หากไม่สามารถดำเนินการแบ่งแยกได้ ให้นำที่ดินทั้งสามแปลงออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกัน
จำเลยให้การว่า จำเลยกับนางสำเภาได้ขอโจทก์มาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม โดยจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมถูกต้องตามกฎหมาย ระหว่างที่อยู่ด้วยกันทั้งจำเลยและนางสำเภาได้อุปการะเลี้ยงดูโจทก์ และได้ใส่ชื่อโจทก์ในที่ดิน น.ส.3 ก. พิพาท แต่ที่ดินน.ส.3 เลขที่ 1442 และ 1478 นางสำเภาได้ขายให้แก่ผู้มีชื่อไปแล้ว เพื่อชำระหนี้ระหว่างมีชีวิตอยู่ซึ่งโจทก์ก็ทราบดีและนางสำเภาได้มอบ น.ส.3 และที่ดินให้ผู้ซื้อครอบครองเป็นเจ้าของมาเกินกว่า 1 ปี จำเลยจึงไม่มีสิทธิหรืออำนาจที่จะไปจดทะเบียนแบ่งแยกให้โจทก์ จำเลยเป็นบิดาบุญธรรมของโจทก์ตามกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะเป็นคดีอุทลุม ขอให้ยกฟ้อง
ในชั้นนี้สองสถาน โจทก์แถลงรับว่าเป็นบุตรบุญธรรมของจำเลยและนางสำเภาในวันนัดสืบพยาน โจทก์จำเลยต่างแถลงขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่า ฟ้องโจทก์เป็นอุทลุมหรือไม่ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายได้ จึงให้งดสืบพยาน แล้ววินิจฉัยว่า จำเลยจดทะเบียนรับโจทก์เป็นบุตรบุญธรรมตามกฎหมายจึงมีฐานะเป็นบุพการีของโจทก์ การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562ฟ้องโจทก์จึงเป็นอุทลุมโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1598/28 บัญญัติว่า บุตรบุญธรรมย่อมมีฐานะอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรม และในวรรคที่ 2ได้บัญญัติว่า ให้นำบทบัญญัติในลักษณะ 2 หมวด 2 แห่งบรรพนี้(ตั้งแต่มาตรา 1561 ถึงมาตรา 1584/1) มาใช้บังคับโดยอนุโลมนั้น หมายความเพียงว่า ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของบิดามารดาและบุตรมาใช้บังคับแก่บุตรบุญธรรมโดยอนุโลมเท่านั้นไม่ได้บังคับว่าจะต้องนำทุกมาตรามาใช้บังคับทั้งหมด เป็นต้นว่าบุตรบุญธรรมมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของผู้รับบุตรบุญธรรม ผู้รับบุตรบุญธรรมจำต้องอุปการะเลี้ยงดู และให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรบุญธรรมในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ และบุตรบุญธรรมก็จำต้องอุปการะเลี้ยงดูผู้รับบุตรบุญธรรม แต่ที่มาตรา 1562 บัญญัติว่าผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้นั้นเป็นบทบัญญัติจำกัดสิทธิของบุคคล ต้องตีความโดยเคร่งครัดซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 29 เดิม(มาตรา 28 ที่แก้ไขใหม่) ได้บัญญัติความหมายของคำว่าผู้บุพการีและผู้สืบสันดานไว้ว่า ผู้บุพการี หมายความถึงบิดามารดาปู่ย่า ตายาย ทวด และผู้สืบสันดาน หมายความถึงลูก หลานเหลน ลื่อ เท่านั้น จึงเห็นได้ว่า ผู้บุพการี ย่อมหมายถึง บิดามารดา ปู่ย่า ตายาย และทวด ที่สืบสายโลหิตกันโดยตรงขึ้นไปตามความเป็นจริงเท่านั้นจำเลยเป็นเพียงผู้รับโจทก์เป็นบุตรบุญธรรมไม่ใช่บิดาของโจทก์ จึงไม่ใช่ผู้บุพการีของโจทก์ตามบทกฎหมายดังกล่าวโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ไม่ต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562 ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะเป็นอุทลุมนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น แต่ศาลล่างทั้งสองยังไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีข้ออื่น ศาลฎีกาเห็นสมควรให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดีค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาล ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่

Share