คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 294/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

บุตรบุญธรรมไม่ใช่ผู้สืบสันดานของผู้รับบุตรบุญธรรมจึงมีอำนาจฟ้องผู้รับบุตรบุญธรรมได้ ไม่เป็นอุทลุมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นสามีชอบด้วยกฎหมายของนางสำเภา นกเพชร ที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 714, 1442 และ 1478 มีชื่อนางสำเนา นกเพชร และโจทก์ถือกรรมสิทธิครอบครองร่วมกันทั้งสามแปลง เมื่อปี พ.ศ. 2527 นางสำเภาถึงแก่ความตายจำเลยมีสิทธิรับมรดกของนางสำเภา และเป็นผู้เก็บรักษาน.ส.3 ก. ทั้งสามฉบับไว้ โจทก์ประสงค์จะขอแบ่งที่ดินทั้งสามแปลงตามสิทธิและส่วนของโจทก์ ได้เคยบอกกล่าวให้จำเลยดำเนินการแบ่งแยกแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับคำเลยไปดำเนินการรังวัดแนวเขตและจดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมในที่ดิน น.ส.3 ก.เลขที่ 714, 1442 และ 1478 ตำบลวังไคร้ อำเภอท่ายางจังหวัดเพชรบุรี และส่งมอบ น.ส.3 ก. ทั้งสามฉบับแก่โจทก์หากไม่สามารถดำเนินการแบ่งแยกได้ ให้นำที่ดินทั้งสามแปลงออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกัน
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นบิดาบุญธรรมของโจทก์ตามกฎหมายโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะเป็นคดีอุทลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยผู้รับบุตรบุญธรรมไม่ใช่บุพการีของบุตรบุญธรรม จึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562 นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่ามีมาตรา 1598/28 บัญญัติว่า บุตรบุญธรรมย่อมมีฐานะอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรม และในวรรคที่ 2ได้บัญญัติว่า ให้นำบทบัญญัติในลักษณะ 2 หมวด 2 แห่งบรรพนี้(ตั้งแต่มาตรา 1561 ถึงมาตรา 1584/1) มาใช้บังคับโดยอนุโลมนั้นหมายความเพียงว่า ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของบิดามารดาและบุตรมาใช้บังคับแก่บุตรบุญธรรมโดยอนุโลมเท่านั้นไม่ได้บังคับว่าจะต้องนำทุกมาตรามาใช้บังคับทั้งหมด เป็นต้นว่าบุตรบุญธรรมมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของผู้รับบุตรบุญธรรม ผู้รับบุตรบุญธรรมจำต้องอุปการะเลี้ยงดู และให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรบุญธรรมในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ และบุตรบุญธรรมก็จำต้องอุปการะเลี้ยงดูผู้รับบุตรบุญธรรม แต่ที่มาตรา 1562 บัญญัติว่าผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้ นั้นเป็นบทบัญญัติจำกัดสิทธิของบุคคล ต้องตีความโดยเคร่งครัดซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 29 เดิม (มาตรา 28ที่แก้ไขใหม่) ได้บัญญัติความหมายของคำว่าผู้บุพการีและผู้สืบสันดานไว้ว่า ผู้บุพการีหมายความถึง บิดามารดา ปู่ย่า ตายาย ทวดและผู้สืบสันดาน หมายความถึงลูก หลาน เหลน ลื้อ เท่านั้นจึงเห็นได้ว่า ผู้บุพการี ย่อมหมายถึง บิดา มารดา ปู่ย่า ตายายและทวด ที่สืบสายโลหิตกันโดยตรงขึ้นไปตามความเป็นจริงเท่านั้นจำเลยเป็นเพียงผู้รับโจทก์เป็นบุตรบุญธรรมไม่ใช่บิดาของโจทก์จึงไม่ใช่ผู้บุพการีของโจทก์ตามบทกฎหมายดังกล่าว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ ไม่ต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1562 ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะเป็นอุทลุมนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น แต่ศาลล่างทั้งสองยังไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีข้ออื่นศาลฎีกาเห็นสมควรให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share