คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 294/2492

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามสัญญาจะขายที่นา ขณะที่ฟ้องคดีนาไม่ได้อยู่ในกรรมสิทธิของจำเลย โดยได้ตกไปเป็นของผู้รับซื้อฝากเสียแล้ว เมื่อจำเลยยังมิได้ไถ่ถอนกลับคืนมาก็ไม่มีทางที่จะบังคับให้จำเลย ทำการโอนขายให้โจทก์ได้ เพราะสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้ ศาลพิพากษาบังคับได้
คดีผิดสัญญาจะซื้อขายที่นาอาจมีทางที่โจทก์จะเรียกร้องได้ในทางอื่น เช่น ใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายหรือใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยทำการไถ่ถอนการขายฝากจากผู้รับซื้อฝาก แทนที่จำเลย ดังที่บัญญัติไว้ตาม ป.ม.แพ่ง ฯ มาตรา 233, 234 แต่โจทก์หาได้ดำเนินการดังกล่าวไม่ โจทก์ฟ้องโดยฉะเพาะเจาะจงขอให้ศาลบังคับจำเลยโอนขายที่นาให้โจทก์แต่ประการเดียว เมื่อศาลบังคับให้โดยตรงเช่นนั้นไม่ได้ต้องยกฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองเป็นสามีภริยากัน ได้ทำสัญญาจะขายที่นามีโฉนดให้แก่โจทก์เป็นเงิน ๓๖๐๐ บาท จำเลยได้รับเงินล่วงหน้า +๐๐ บาท แล้วสัญญาว่าจะไปโอนกรรมสิทธิใน พ.ศ. ๒๔๘๘ ในขณะทำสัญญา โฉนดที่รายนี้ จำเลยนำไปขายฝากนายวิเชียรที่กรุงเทพฯ ครบกำหนดสัญญาแล้ว โจทก์ไปขอชำระเงินที่ค้างแก่จำเลย และขอให้จำเลยไปทำสัญญาซื้อขาย จำเลยขอผัดและไม่ยอมขายตามที่ตกลง จึงขอให้บังคับจำเลยริบเงิน ๓๐๐๐ บาทและสั่งลงชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิต่อไป จำเลยทั้งสองให้การว่าจำเลยทั้งสองเคยทำสัญญาขายที่นาให้โจทก์และรับเงินไว้ตามฟ้อง ต่อมาจำเลยทางถามขอรับเงินจากโจทก์ โดยบอกว่าที่นาจะขาดกรรมสิทธิตกเป็นของนายวิเขียรผู้รับซื้อฝาก โจทก์ไม่ให้เงินแก่จำเลย จำเลยจึงไม่ขายนาให้โจทก์ ที่นารายนี้จำเลยขายฝากไว้กับนายวิเชียร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ ต่อมาเมื่อเวลาพ้น ๑๐ ปีแล้ว ได้ขาดเป็นกรรมสิทธิของนายวิเชียน สัญญาที่โจทก์นำมาฟ้องใช้ไม่ได้ เพราะมีข้อความจะโอนขายใน พ.ศ. ๒๔๘๘ แต่ใน พ.ศ. ๒๔๘๘ ที่นาได้ขาดเป็นกรรมสิทธิของนายวิเชียรแล้ว โจทก์ไม่มีอำนาจบังคับได้ตามสัญญาที่นารายนี้นางลำใยจำเลยผู้เดียวได้ซื้อกรรมสิทธิไว้จากนายวิเชียรเมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ๒๔๘๘
ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากวันที่จำเลยทำสัญญาให้โจทก์ เมื่อซื้อแล้วได้ขายฝากนางเช้าไว้ตลอดมาจนบัดนี้
ก่อนสืบพะยาน โจทก์ส่งสัญญาจะซื้อขายที่ดินตามที่โจทก์กล่าวฟ้องต่อศาล จำเลยดูแล้วรับว่า ได้ทำสัญญาขายที่ดินตามสัญญาจริง จำเลยส่งโฉนดต่อศาล โจทก์แถลงรับว่า ได้มีการแก้ทะเบียนหลังโฉนดตามรายละเอียดในโฉนดที่จำเลยนำส่งต่อศาลจริง โจทก์,จำเลยไม่ติดใจสืบพะยาน ศาลชั้นต้นได้เรียกนางเช้ามาสอบถาม โจทก์,จำเลย และนางเช้ารับว่าสัญญาขายฝากระหว่างนางลำใยจำเลย กับนางเช้าไม่มีกำหนดไถ่ถอน นางเช้าได้ส่งหนังสือสัญญาขายฝากต่อศาล ศาลชั้นต้นเห็นว่า สัญญาจะซื้อขายระหว่างโจทก์จำเลยย่อมชอบด้วยกฎหมาย และบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลงในสัญญาได้ พิพากษาให้จำเลยไถ่ถอนการขายฝากจากนางเช้า มาทำการโอนขายให้แก่โจทก์ตามสัญญา ถ้าจำเลยไม่ยอมไถ่ และโอนขายตามคำพิพากษา ก็ให้โจทก์นำเงินที่จะต้องชำระในการซื้อขายไถ่ถอนการขายฝากจากนางเช้า โดยให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการบังคับจำเลยโอนที่ดินรายนี้ให้แก่โจทก์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา,
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สภาพแห่งหนี้ในคดีนี้ ไม่เปิดช่องให้ศาลพิพากษาบังคับได้เช่นนั้น เพราะเวลานี้นาไม่ได้อยู่ในกรรมสิทธิของจำเลย ได้ตกไปเป็นของนางเช้าผู้รับซื้อฝากแล้ว เมื่อจำเลยยังมิได้ไถ่ถอนคืนมา ก็ไม่มีทางบังคับให้จำเลยทำการโอนขายให้โจทก์ได้ เพราะนางเช้าอาจมีข้อโต้แย้งสิทธิไถ่ถอนของจำเลยอยู่ก็ได้ เมื่อนางเช้าไม่ได้เข้ามาในคดี ศาลจะบังคับเกี่ยวถึงสิทธิของนางเช้าซึ่งเป็นคนนอกคดีด้วยไม่ได้ และเห็นว่า การทำผิดสัญญาจะซื้อขายที่นาในคดีนี้ อาจมีทางที่โจทกจะเรียกร้องได้ในทางอื่น เช่น ใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย หรือใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยทำการไถ่ถอนการขายฝากจากนางเช้าแทนที่จำเลย ดังบัญญัติไว้ใน ป.ม.แพ่งฯ มาตรา ๒๓๓,๒๓๔ แต่ โจทก์หาได้ดำเนินการดังกล่าวไม่ โจทก์ฟ้องโดยฉะเพาะเจาะจงขอให้ศาลบังคับจำเลยโอนขายที่นาให้โจทก์แต่ประการเดียว เมื่อศาลบังคับให้โดยตรงเช่นนั้นไม่ได้ ศาลต้องยกฟ้อง
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง.

Share