แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ที่ 4 ทำสัญญากันให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 ปลูกตึกแถวในที่ดินของจำเลยที่ 1 ที่ 2 แล้วให้ตึกแถวนั้นตกเป็นกรรมสิทธิ์ ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 ที่ 2 ยอมให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 มีสิทธิเรียกเงินช่วยค่าก่อสร้างจากผู้ขอเช่า และจำเลยที่ 1 ที่ 2 จะทำสัญญาเช่าให้มีกำหนด 10 ปี สัญญานี้เป็นสัญญาที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ตกลงจะชำระหนี้แก่บุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374วรรคหนึ่งและตามวรรคสองเมื่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้แสดงเจตนาถือเอาประโยชน์จากสัญญาดังกล่าวต่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 แล้ว จำเลยทั้งสี่ก็หาอาจเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธิของโจทก์ได้ไม่ การที่ จำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่ส่งมอบตึกแถวพิพาท และไม่ทำสัญญาเช่าให้โจทก์แต่กลับไปทำสัญญาเช่ากับผู้อื่น จำเลยทั้งสี่ก็ต้องร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ แต่การที่จำเลยที่ 3 ที่ 4 เรียกเงินช่วยค่าก่อสร้างจากโจทก์จำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดคืนเงินจำนวนนี้
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ผิดสัญญา ให้คืนเงิน 180,000 บาท ค่าเสียหาย 110,000 บาท กับดอกเบี้ยแก่โจทก์ ยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 3 ที่ 4 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ตกลงให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 ปลูกตึกแถว 18 ห้อง ในที่ดินของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ถนนศรีรองเมือง ตำบลวัดใหม่ อำเภอเมืองจันทบุรีจังหวัดจันทบุรี แล้วให้ตึกแถวนั้นตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 ที่ 2 ยอมให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 มีสิทธิเรียกเก็บเงินช่วยค่าก่อสร้างจากผู้มาขอเช่าตึก ส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 2 จะทำสัญญาให้เช่ามีกำหนด 10 ปี และเป็นผู้เก็บค่าเช่า ในการนี้จำเลยที่ 3 ที่ 4 ได้จ่ายเงินค่าหน้าดินให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นเงิน 480,000 บาท ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.1 ล.2 โจทก์ได้ตกลงจองตึกแถวดังกล่าว 1 ห้องจากจำเลยที่ 3 ที่ 4 เพื่อเช่า และจ่ายเงินช่วยค่าก่อสร้างครั้งแรกจำนวน 50,000 บาทให้จำเลยที่ 3 ที่ 5 รับไป ดังปรากฏตามใบรับเงินเอกสารหมาย จ.1 และต่อมาโจทก์ได้จ่ายเงินช่วยค่าก่อสร้างที่ยังค้างชำระอยู่จำนวน 130,000 บาทให้จำเลยที่ 3 รับไปเรียบร้อยแล้ว เมื่อจำเลยที่ 3 ที่ 4 ก่อสร้างตึกแถวเสร็จ จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ทำสัญญาให้ผู้อื่นซึ่งชำระเงินช่วยค่าก่อสร้างให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 แล้วได้เช่าตึกแถวนั้นทุกราย เว้นแต่ตึกแถวห้องพิพาท จำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่ทำสัญญาให้โจทก์เช่า แต่ทำสัญญาให้นายท้ง ลิไพศาล เช่าโดยได้รับเงินช่วยค่าก่อสร้างเป็นเงิน 260,000 บาท
พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ตามสัญญาก่อสร้างตึกแถวยกสิทธิระหว่างจำเลยที่ 1 ที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ที่ 4 จำเลยที่ 1 ที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินตกลงให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 ปลูกตึกแถวในที่ดิน แล้วให้ตึกแถวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 ที่ 2 ยอมให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 มีสิทธิเรียกเงินช่วยค่าก่อสร้างจากผู้มาขอเช่าตึกแถวได้ จำเลยที่ 1ที่ 2 จะทำสัญญาเช่าให้มีกำหนด 10 ปีนั้น เป็นสัญญาที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ตกลงจะชำระหนี้แก่บุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 วรรคแรก และตามวรรคสองของมาตรานี้ก็บัญญัติไว้ว่า ในกรณีดังกล่าวในวรรคต้น สิทธิของบุคคลภายนอกย่อมเกิดมีขึ้นตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น ปัญหาที่ว่าโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้แสดงเจตนาต่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 ลูกหนี้ว่าจะถือเอาผลประโยชน์จากสัญญาหรือไม่นั้น โจทก์นำสืบว่าประมาณปลายเดือนมีนาคม 2518 จำเลยที่ 2 เรียกโจทก์ไปพบที่โรงแรมแทรเวิลลอร์จังหวัดจันทบุรีแล้วขอเงินอีก 40,000 บาท หรือให้โจทก์ไปเอาคืนจากจำเลยที่ 3 มาให้จำเลยที่ 2 ก็ได้ ถ้าไม่ให้เงิน 40,000บาท จำเลยที่ 2 จะให้ผู้อื่นเช่า และจะคืนเงินช่วยค่าก่อสร้างให้โจทก์ภายใน 10 วัน โจทก์บอกจำเลยที่ 2 ว่า ไม่ยอมรับเงินจะเอาตึกแถว ต่อมามีคนใส่กุญแจประตูตึกแถวพิพาท ส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 2 นำสืบว่า จำเลยที่ 1 มอบหมายให้จำเลยที่ 2 เป็นคนจัดการเรื่องการเช่าตึกแถว จำเลยที่ 2 ได้กำหนดวันให้โจทก์ไปทำสัญญาเช่าโจทก์ไม่ไป โดยอ้างไม่มีเงินตกแต่งห้อง ตึกทำไม่ดี และโจทก์จะโอนสิทธิการเช่าให้ผู้อื่นเพื่อเอากำไร ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่าโจทก์ได้เสียเงินช่วยค่าก่อสร้างครบ 180,000 บาท และพร้อมที่จะเข้าไปอยู่ในตึกแถวพิพาทแล้ว หากจำเลยที่ 2 ไม่เรียกเงินเพิ่มอีก 40,000 บาท ดังที่โจทก์นำสืบก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่โจทก์จะปฏิเสธไม่ทำสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทให้เสร็จสิ้นไปในวันที่พบกันนั้น ตามพฤติการณ์แห่งคดีเชื่อได้ว่าโจทก์ได้แสดงเจตนาที่จะถือเอาประโยชน์แห่งสัญญาดังกล่าวข้างต้นต่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 แล้วจำเลยทั้งสี่ซึ่งร่วมกันเป็นคู่สัญญากับโจทก์หาอาจที่เปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธิของโจทก์ได้หรือไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 375 การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่ส่งมอบตึกแถวพิพาทและไม่ทำสัญญาเช่าให้โจทก์แต่กับไปทำสัญญาเช่าให้นายท้ง ลีไพศาล จำเลยทั้งสี่ต้องร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์” ฯลฯ
“ส่วนการที่จำเลยที่ 3 ที่ 4 เรียกเงินช่วยค่าก่อสร้าง 180,000 บาท จากโจทก์ ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นการเรียกเป็นของจำเลยที่ 3 ที่ 4 เองโดยจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย จำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดคืนเงินจำนวนนี้
พิพากษาแก้ ให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 เท่านั้นร่วมกันคืนเงินช่วยค่าก่อสร้างให้แก่โจทก์