คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2936/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างปฏิบัติในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 โดยขับขี่รถยนต์คันหมายเลขทะเบียนที่ระบุ ซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของผู้ครอบครอง ดังนี้ เป็นข้อความที่บรรยายถึงความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ว่าเป็นลูกจ้างนายจ้างกัน และขับรถในทางการที่จ้าง
กรมธรรม์ประกันภัยเป็นพยานหลักฐานสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นสำคัญในคดี แม้โจทก์จะไม่ได้ส่งสำเนาให้จำเลยก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 3 วันศาลก็รับฟังเอกสารนี้ได้เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87(2)
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 มิได้บัญญัติข้อยกเว้นไว้ว่า ในการพิจารณาคดีส่วนแพ่ง ถ้าปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมขึ้นมาใหม่ศาลไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองใช้เงิน 36,231 บาท พร้อมดอกเบี้ยศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ปัญหาที่ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ จำเลยอ้างว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะไม่บรรยายว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างประเภทใด ทำหน้าที่อย่างไร จำเลยที่ 2 เป็นใคร (น่าจะหมายถึงนิติบุคคล) ประเภทใด ทำการโดยผู้ใด ทำให้จำเลยเสียเปรียบหลงข้อต่อสู้นั้น ศาลฎีกาได้พิเคราะห์คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวข้างต้นแล้ว โดยเฉพาะข้อความว่า “จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างปฏิบัติในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 โดยขับขี่รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 6 ม – 1106 กรุงเทพมหานคร ซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของผู้ครอบครอง” เป็นข้อความที่บรรยายถึงความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ว่าเป็นลูกจ้างนายจ้างกัน และงานขับรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ทำอยู่ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 อันเป็นการแสดงถึงข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาพอที่จะให้จำเลยทั้งสองเข้าใจคำฟ้องของโจทก์แล้ว ทั้งจำเลยทั้งสองก็ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาของโจทก์ได้ชัดแจ้ง ไม่ปรากฏว่าหลงข้อต่อสู้แต่อย่างใด ศาลฎีกาเห็นว่าฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องที่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 ไม่เคลือบคลุม

ปัญหาที่จำเลยทั้งสองฎีกา โจทก์ไม่ได้ส่งสำเนากรมธรรม์ประกันภัยให้จำเลยก่อนวันนัดสืบพยานไม่น้อยกว่าสามวัน ศาลรับฟังกรมธรรม์ประกันภัยของโจทก์เป็นพยานได้หรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า กรมธรรม์ประกันภัยเป็นพยานหลักฐานสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นสำคัญในคดี แม้โจทก์จะไม่ได้ส่งสำเนาให้จำเลย ศาลก็รับฟังเอกสารนี้ได้ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87(2)

ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ถ้าในการพิจารณาคดีส่วนแพ่ง ปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมขึ้นมาใหม่ ศาลไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาส่วนอาญาก็ได้นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 บัญญัติว่า “ในการพิจารณาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ” มิได้บัญญัติข้อยกเว้นไว้ว่า ในการพิจารณาคดีส่วนแพ่ง ถ้าปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมขึ้นมาใหม่ ศาลไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาได้ ข้ออ้างของจำเลยนอกจากจะไม่มีกฎหมายสนับสนุนแล้วยังขัดกฎหมายด้วย”

พิพากษายืน

Share