คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 293/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลที่ไกล่เกลี่ยประนีประนอมยอมความกัน ซึ่งจำเลยแถลงไว้ว่า ที่ดินพิพาทเดิมเป็นของ ล. บิดาจำเลยและโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 ต่อมาล. ละทิ้งร้าง จำเลยได้เข้าครอบครองและทำประโยชน์เรื่อยมาจำเลยเคยจะแบ่งให้แก่โจทก์ทั้งห้า 5 ไร่ เนื่องจากเห็นแก่มารดา คำแถลงของจำเลยมิได้เกิดการถูกบังคับขู่เข็ญหรือหลอกลวงหากแต่จำเลยได้กระทำโดยสมัครใจ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่รับฟังประกอบกับพยานหลักฐานอื่นได้

ย่อยาว

โจทก์ทั้งห้าฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นภรรยาของนายหล้า ใจดี มีบุตรด้วยกัน 9 คน รวมทั้งโจทก์ที่ 2ถึงที่ 5 และจำเลย ระหว่างอยู่กินฉันสามีภรรยาโจทก์ที่ 1และนายหล้ามีที่ดินจากการทำมาหาได้ 2 แปลง แปลงแรกเป็นที่ดินมือเปล่า เนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ แปลงที่สองเป็นที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เนื้อที่ประมาณ50 ไร่ ซึ่งจำเลยแบ่งขายไปคงเหลือประมาณ 17 ไร่ ต่อมานายหล้าถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ 1 และบุตรทุกคนรวมทั้งโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 และจำเลยได้ช่วยกันทำนาในที่ดินแปลงเนื้อที่ 50 ไร่และปลูกบ้านอยู่อาศัยบนที่ดินแปลงเนื้อที่1 ไร่ โดยมิได้มีการแบ่งปันมรดกของนายหล้าเมื่อประมาณ15 ปีที่ผ่านมาโจทก์ทั้งห้าและบุตรคนอื่นของโจทก์ที่ 1ตกลงให้จำเลยอาศัยทำนาและปลูกบ้านอยู่บนที่ดินดังกล่าวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2534 โจทก์ทั้งห้าแจ้งให้จำเลยแบ่งที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งห้าและบุตรคนอื่นของโจทก์ที่ 1 แต่จำเลยไม่ยินยอมขอให้บังคับจำเลยแบ่งที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ 1 แปลงละกึ่งหนึ่ง และแบ่งให้แก่โจทก์ทั้งห้าคนละ 1 ใน 10 ส่วน ของที่ดินแต่ละแปลงที่เหลือหากไม่สามารถแบ่งได้ให้นำที่ดินออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกันตามส่วน
จำเลยให้การว่า ที่ดินทั้งสองแปลงตามฟ้องไม่ใช่ที่ดินของนายหล้า ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ที่ 1 ถึงแก่กรรม นายละมูล ใจดีโจทก์ที่ 5 ซึ่งเป็นทายาทของโจทก์ที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยแบ่งที่ดินมือเปล่าเนื้อที่1 ไร่และที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1)เลขที่ 5 เนื้อที่ 16 ไร่ 3 งาน 95 ตารางวา ให้แก่โจทก์ที่ 1แปลงละกึ่งหนึ่ง ส่วนที่เหลือแบ่งให้แก่โจทก์ทั้งห้าคนละ1 ใน 10 ส่วน ของแต่ละแปลง สำหรับโจทก์ที่ 1 ไม่เกิน 2 งาน20 ตารางวา ของที่ดินแปลงแรก และไม่เกิน 9 ไร่ 1 งาน 40ตารางวา ของที่ดินแปลงที่สอง ส่วนโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5ไม่เกินคนละ 20 ตารางวา ของที่ดินแปลงแรกและไม่เกินคนละ3 งาน 40 ตารางวา ของที่ดินแปลงที่สอง หากแบ่งไม่ได้ให้ขายทอดตลาดเอาเงินมาแบ่งกันตามส่วน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่านายหล้า ใจดี กับโจทก์ที่ 1 เป็นสามีภรรยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยอยู่กินร่วมกันมาก่อนปี 2477 มีบุตรร่วมกัน 9 คนรวมทั้งโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 และจำเลยด้วย เดิมนายหล้ากับโจทก์ที่ 1 และบุตรทุกคนมีภูมิลำเนาอยู่ที่อำเภอศรีมหาโพธิจังหวัดปราจีนบุรี ต่อมาย้ายมาอยู่ที่หมู่ที่ 1 ตำบลเมืองไผ่อำเภออรัญประเทศ จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นหมู่ที่ 2 ตำบลบ้านใหม่หนองไทร อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้วนายหล้า ถึงแก่กรรมไปประมาณ 35 ปีแล้ว ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านใหม่ หนองไทรอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นทรัพย์สินที่นายหล้ากับโจทก์ที่ 1 ได้มาระหว่างเป็นสามีภรรยากันหรือเป็นทรัพย์สินของจำเลย พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบ มีโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ซึ่งเป็นญาติพี่น้องกับจำเลยโดยโจทก์ที่ 1 เป็นมารดาจำเลย ส่วนโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5เป็นน้องของจำเลยต่างเบิกความสอดคล้องต้องกันว่า นายหล้าซื้อที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาในระหว่างอยู่กินเป็นสามีภรรยากับโจทก์ที่ 1 หลังจากนายหล้าถึงแก่กรรมโจทก์ที่ 1 และบุตรทุกคนยอมให้จำเลยเข้าทำประโยชน์ตามคำเบิกความของพยานโจทก์ซึ่งมีทั้งมารดาและน้องของจำเลย ไม่มีข้อน่าระแวงสงสัยว่าจะร่วมกันปรักปรำใส่ร้ายจำเลยเพื่อฉ้อโกงที่ดินพิพาทจากจำเลยซึ่งเป็นญาติพี่น้องที่ใกล้ชิดมาก พยานโจทก์นอกจากพยานบุคคลดังกล่าวแล้วยังมีพยานเอกสารคือทะเบียนการครอบครองที่ดินตามเอกสารหมาย จ.2 และแบบแจ้งการครอบครองที่ดินตามเอกสารหมาย จ.4 โดยเอกสารหมาย จ.2 ระบุว่า ที่ดินเนื้อที่ 1 ไร่นายหล้าได้แจ้งการครอบครองไว้เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2498ที่ดินเนื้อที่ 50 ไร่ นายหล้าได้แจ้งการครอบครองไว้เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2498 ส่วนเอกสารหมาย จ.4 ระบุว่า เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2498 นายหล้าได้แจ้งการครอบครองที่ดินจำนวน 50 ไร่ ไว้ เอกสารทั้งสองฉบับดังกล่าวเป็นเอกสารราชการจำเลยมิได้นำสืบว่าไม่ถูกต้องอย่างไรจึงรับฟังได้ว่านายหล้าได้แจ้งการครอบครองที่ดินดังกล่าวไว้รวม 2 แปลง จริงจึงน่าเชื่อตามที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 เบิกความว่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นที่ดินที่นายหล้าได้มาระหว่างอยู่กินเป็นสามีภรรยากับโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 1 จึงมีส่วนเป็นเจ้าของอยู่ครึ่งหนึ่ง สำหรับส่วนของนายหล้าเมื่อนายหล้าถึงแก่กรรมย่อมตกเป็นมรดกแก่ทายาท ที่จำเลยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยและเป็นที่ดินคนละแปลงกับที่นายหล้าแจ้งการครอบครองไว้นั้น ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่31 พฤษภาคม 2536 ที่จำเลยแถลงไว้ว่า ที่ดินพิพาทแปลงดังกล่าวเดิมเป็นของนายหล้า บิดาจำเลยและโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5ต่อมานายหล้าละทิ้งร้างจำเลยได้เข้าครอบครองและทำประโยชน์เรื่อยมา จำเลยเคยจะแบ่งให้แก่โจทก์ทั้งห้า 5 ไร่ เนื่องจากเห็นแก่มารดา ตามคำแถลงของจำเลยดังกล่าวจึงเชื่อได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่แปลงเดียวกับที่ดินที่นายหล้าได้มาระหว่างอยู่กินเป็นสามีภรรยากับโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นแปลงเดียวกับที่ดินพิพาทตามฟ้อง ที่จำเลยอ้างว่าการแถลงดังกล่าว จำเลยแถลงเพราะมีการไกล่เกลี่ยเพื่อจะประนีประนอมยอมความกันจึงต้องยอมรับบางอย่างแม้จะไม่ถูกต้อง แต่เมื่อตกลงกันไม่ได้จึงรับฟังให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยไม่ได้นั้น เห็นว่าคำแถลงของจำเลยมิได้เกิดการถูกบังคับขู่เข็ญหรือหลอกลวงแต่จำเลยกระทำโดยสมัครใจ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่าพยานของโจทก์ทั้งห้าเบิกความขัดกันจึงรับฟังไม่ได้นั้น เห็นว่าข้อแตกต่างดังกล่าวไม่ถึงกับเป็นข้อสาระสำคัญจนถึงกับรับฟังไม่ได้ สรุปแล้วเห็นว่าพยานที่โจทก์ทั้งห้านำสืบมีน้ำหนักน่าเชื่อมากกว่าพยานจำเลย
พิพากษายืน

Share