คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2928-2934/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การกระทำผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคารและพระราชบัญญัติควบคุมอาคารนั้นเทศบาลหรือทางราชการเป็นผู้เสียหาย เป็นเรื่องของเทศบาลหรือทางราชการที่จะเข้าควบคุมฟ้องร้องเอาเอง โจทก์ร่วมซึ่งเป็นราษฎรหรือเอกชนไม่ใช้ผู้เสียหาย จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
คดีที่ฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจำต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน การที่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงตามฟ้องแล้ววินิจฉัยผลักหน้าที่ให้จำเลยสืบแก้ว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่ผิดกฎหมายเพราะในปัญหาว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่เป็นหน้าที่ของโจทก์จะต้องนำสืบ ศาลฎีกาจึงมีอำนาจฟังข้อเท็จจริงใหม่ได้

ย่อยาว

คดีทั้งเจ็ดสำนวนนี้ ศาลพิจารณาพิพากษารวมกัน
โจทก์ฟ้องจำเลยทุกสำนวนในทำนองเดียวกันว่า จำเลยแต่ละสำนวนได้ปลูกสร้างดัดแปลงอาคารตึกแถว โดยต่อเติมขยายพื้นที่ด้านหลังอาคารตึกแถวชั้นล่างของจำเลยแต่ละห้องเป็นเพิงลาดมีหลังคากว้าง ๓ เมตรโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามกฎหมายและการดัดแปลงต่อเติมอาคารของจำเลยแต่ละสำนวนดังกล่าวได้บุกรุกเข้าไปในโฉนดที่ดินของโจทก์ร่วมเพื่อถือการครอบครองที่ดินที่ปลูกสร้างอาคารรุกล้ำนั้นทั้งหมดและเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วม ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๒, ๓๖๕ (๓) พระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. ๒๔๗๙ ฯลฯ พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒
จำเลยทั้งเจ็ดให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา บริษัท เค.เอส.ทรัสต์ จำกัด ผู้เสียหายขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งเจ็ดมีความผิดฐานบุกรุกลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๒, ๓๖๕ (๓) จำเลยที่ ๑ ที่ ๔ ที่ ๕ และที่ ๗ มีความผิดลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. ๒๔๗๙ มาตรา ๖, ๑๑ ฯลฯ
โจทก์ร่วมอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๖ ฐานดัดแปลงต่อเติมอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต
จำเลยทั้ง ๗ อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องในข้อหาต่อเติมอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตสำหรับจำเลยที่ ๗ และยกฟ้องในข้อหาบุกรุกสำหรับจำเลยทุกคน
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๗ ในข้อหาดัดแปลงต่อเติมอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต และลงโทษจำเลยทั้งเจ็ดในข้อหาบุกรุก
โจทก์ร่วมฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๖ และที่ ๗ ฐานดัดแปลงต่อเติมอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต และลงโทษจำเลยทั้งเจ็ดฐานบุกรุก
จำเลยที่ ๑ ที่ ๔ และที่ ๕ ฎีกาขอให้ยกฟ้องในความผิดฐานดัดแปลงต่อเติมอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อที่โจทก์ร่วมฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๖และที่ ๗ ตามพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคารและพระราชบัญญัติควบคุมอาคารนั้น การกระทำผิดตามบทกฎหมายดังกล่าวเทศบาลหรือทางราชการเป็นผู้เสียหาย เป็นเรื่องของเทศบาลหรือทางราชการที่จะเข้าควบคุมฟ้องร้องเอาเอง โจทก์ร่วมซึ่งเป็นราษฎรหรือเอกชนไม่ใช่ผู้เสียหาย จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ในปัญหาว่าจำเลยที่ ๗ มีความผิดฐานดัดแปลงต่อเติมอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ วินิจฉัยว่าจำเลยที่ ๗ มิได้ดัดแปลงต่อเติมอาคาร จำเลยที่ ๗ จึงไม่มีความผิด
ปัญหาว่าฟ้องโจทก์ในข้อหาดัดแปลงต่อเติมอาคารสำหรับจำเลยที่ ๑ที่ ๔ ที่ ๕ ขาดอายุความหรือไม่นั้น ในการวินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาข้อนี้ว่าตามฟ้องของโจทก์คดีของโจทก์ ไม่ขาดอายุความ จำเลยมิได้นำสืบให้ปรากฏว่าได้มีการต่อเติมอาคารเมื่อไร จึงยังไม่พอฟังว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เห็นว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เป็นหน้าที่โจทก์จะต้องนำสืบ ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณา จึงไม่ชอบที่ศาลอุทธรณ์จะฟังตามฟ้องแล้ววินิจฉัยผลักหน้าที่มาให้จำเลยสืบแก้ตัว เป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่ผิดกฎหมาย ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรฟังข้อเท็จจริงใหม่ แล้วฟังว่าคดีของโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๑ ที่ ๔ และที่ ๕ ในความผิดฐานดัดแปลงต่อเติมอาคารขาดอายุความ จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๖ และที่ ๗ ขาดเจตนาบุกรุกจึงไม่มีความผิดฐานบุกรุกตามฟ้องจำเลยที่ ๑ ที่ ๔ และที่ ๕ ทราบดีว่าที่ดินพิพาทหลังตึกแถวเป็นของโจทก์ร่วมเพราะจำเลยที่ ๑ ที่ ๔ ที่ ๕ซื้อที่ดินจากโจทก์ร่วมโดยตรง การที่จำเลยทั้งสามต่อเพิงเป็นลักษณะถาวรออกไปในที่พิพาทย่อมเป็นเจตนาเพื่อถือการครอบครองที่ดินบริเวณที่ปลูกสร้างอาคารรุกล้ำทั้งหมดเป็นของจำเลยทั้งสาม จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๕ (๓)
พิพากษาแก้ ลงโทษจำเลยที่ ๑ ที่ ๔ ที่ ๕ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๖๕ (๓) แต่ให้ยกฟ้องในข้อหาดัดแปลงหรือต่อเติมอาคาร

Share