คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2928/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เงื่อนไขตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 31 (3) ที่กำหนดให้คำแปลภาษาไทยของคำชี้ขาดและสัญญาอนุญาโตตุลาการที่อ้างส่งต่อศาลนั้นต้องมีผู้แปลซึ่งได้สาบานตนแล้ว เจ้าหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศ ตัวแทนทางการทูตหรือกงสุลไทยเป็นผู้รับรองนั้น เป็นเงื่อนไขที่กำหนดขึ้นเพียงเพื่อความน่าเชื่อถือของเอกสารซึ่งกระทำในต่างประเทศเท่านั้น จึงไม่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อจำเลยสละประเด็นข้อนี้โดยไม่คัดค้านการกำหนดประเด็นข้อพิพาทของศาลชั้นต้น จำเลยจึงอุทธรณ์ว่าคำแปลภาษาไทยดังกล่าวไม่มีผู้แปล เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศตัวแทนทางการทูตหรือกงสุลไทยเป็นผู้รับรองไม่ได้
ปัญหาว่าหนังสือมอบอำนาจพร้อมคำแปลเอกสารหมาย จ. 1 ถึง จ. 5 ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์หรือไม่ก็ดี และเอกสารหมาย จ. 1 และ จ. 2 ไม่สมบูรณ์เนื่องจากมิได้ปิดอากรแสตมป์ตาม ป.รัษฎากรหรือไม่ก็ดี เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน
หนังสือมอบอำนาจมีข้อความระบุให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจแทนโจทก์ในการ “…ยื่นฟ้องต่อสู้คดีและดำเนินการไปจนสำเร็จในศาลทั้งปวง…ในประเทศไทย…หรือดำเนินกระบวนพิจารณาทางกฎหมายทั้งทางแพ่งและทางอาญา…” ข้อความดังกล่าวย่อมหมายถึงการฟ้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการด้วย
หนังสือมอบอำนาจกระทำในต่างประเทศไม่อยู่ในบังคับแห่ง ป.รัษฎากรที่จะต้องปิดอากรแสตมป์
พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 6 ที่บัญญัติให้สัญญาอนุญาโตตุลาการมีผลผูกพันคู่กรณีได้ต่อเมื่อ มีหลักฐานเอกสารหรือมีข้อสัญญาอยู่ในเอกสารโต้ตอบทางจดหมาย โทรสาร โทรพิมพ์หรือเอกสารอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจไต่สวนและชี้ขาดข้อพิพาทของอนุญาโตตุลาการ จึงเป็นข้อที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ดังนั้น แม้จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ จำเลยก็อุทธรณ์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการโดยชำระเงินจำนวน 3,604,905 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 23 มกราคม 2539 ถึงวันทำคำชี้ขาดคือวันที่ 30 เมษายน 2539 เป็นเวลา 97 วัน คิดเป็นดอกเบี้ยจำนวน 81,431.34 ดอลลาร์สหรัฐ และให้จำเลยใช้เงินค่าธรรมเนียมอนุญาโตตุลาการจำนวน 9,500 ดอลลาร์สิงคโปร์แทนโจทก์ และค่าปรับจำนวน 108,147.15 ดอลลาร์สหรัฐแก่โจทก์ หากจำเลยชำระเงินไทยให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่ศาลมีคำพิพากษา ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 3,794,483.49 ดอลลาร์สหรัฐ และ 9,500 ดอลลาร์สิงคโปร์ นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ได้เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสิงคโปร์ หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ให้ฟ้องคดีนี้ไม่สมบูรณ์ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม การทำสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่ได้ประทับตราสำคัญของจำเลย สัญญาดังกล่าวจึงไม่ผูกพันจำเลย ป.พ.พ. ไม่มีบทบัญญัติเรื่องการซื้อขายสินค้าล่วงหน้าหรือคอมมอดิตี้ไว้ สัญญาซื้อขายดังกล่าวจึงขัดต่อกฎหมายไทยหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จำเลยไม่เคยได้รับแจ้งล่วงหน้าโดยชอบถึงการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการหรือการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ จำเลยจึงไม่อาจเข้าต่อสู้คดีได้ในชั้นอนุญาโตตุลาการ ศาลย่อมมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้ ตามฟ้องโจทก์ไม่ได้ส่งต้นฉบับคำชี้ขาดหรือสำเนาที่รับรองว่าถูกต้องและคำแปลภาษาไทยของคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ สัญญาอนุญาโตตุลาการไม่ได้ระบุว่าใครเป็นผู้แปลเป็นภาษาไทย และได้สาบานตัวแล้วหรือไม่ จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ถูกต้อง คดีนี้โจทก์ต้องยื่นเป็นคำร้องขอต่อศาลตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 23 แต่โจทก์ทำเป็นคำฟ้อง จึงไม่ชอบ จำนวนเงินที่โจทก์เรียกร้องจำเลยสูงเกินควรเพราะโจทก์ยังไม่ได้จ่ายเงินค่าสินค้าให้จำเลย โจทก์จึงไม่ได้เสียหาย และขอให้ศาลกำหนดค่าธรรมเนียมอนุญาโตตุลาการใหม่ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการโดยชำระเงินจำนวน 3,604,905 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8.50 ต่อปี นับแต่วันที่ 23 มกราคม 2539 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2539 แต่ดอกเบี้ยรวมแล้วต้องไม่เกิน 81,431.34 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าธรรมเนียมอนุญาโตตุลาการ จำนวน 9,500 ดอลลาร์สิงคโปร์ ค่าปรับ 108,147.15 ดอลลาร์สหรัฐ แก่โจทก์และจำเลยจะต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (7 มิถุนายน 2539) เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระให้โจทก์แล้วเสร็จ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 30,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามกฎหมายของประเทศสิงคโปร์ จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามกฎหมายของประเทศไทย ประเทศสิงคโปร์และประเทศไทยเป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือและการใช้บังคับคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ฉบับนครนิวยอร์ค ลงวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2501 (ค.ศ. 1958) โจทก์ได้เสนอข้อพิพาทเกี่ยวกับการซื้อขายยางพาราแผ่นรมควันระหว่างโจทก์กับจำเลยให้อนุญาโตตุลาการของประเทศสิงคโปร์ชี้ขาด อนุญาโตตุลาการของประเทศสิงคโปร์ได้ทำคำชี้ขาดตามคำชี้ขาดพร้อมคำแปลเอกสารหมาย จ. 15 และ จ. 16 คดีมีปัญหาตามฎีกาจำเลยประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องให้จำเลยปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการของประเทศสิงคโปร์หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า ข้ออุทธรณ์ของจำเลยที่ว่าโจทก์ไม่ได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 31 (3) ที่กำหนดว่าผู้ขอบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศต้องมีคำแปลภาษาไทยของคำชี้ขาดและสัญญาอนุญาโตตุลาการนั้น โดยมีผู้แปลซึ่งได้สาบานตนแล้ว เจ้าหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศ ตัวแทนทางการทูตหรือกงสุลไทยเป็นผู้รับรอง เป็นข้ออุทธรณ์ที่ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้และจำเลยมิได้โต้แย้ง จึงห้ามมิให้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่วินิจฉัยให้นั้น จำเลยเห็นว่าจำเลยให้การต่อสู้ข้อนี้ไว้ และศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการหรือไม่ การกำหนดประเด็นดังกล่าวจำเลยเห็นว่า ย่อมครอบคลุมบทบัญญัติ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 ทุกมาตรา รวมทั้งในข้อที่จำเลยอุทธรณ์ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่วินิจฉัยข้อนี้จึงไม่ชอบ ในข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่า พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่อคู่กรณีฝ่ายใดประสงค์จะให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศตามมาตรา 29 ให้คู่กรณีฝ่ายนั้นยื่นคำร้องขอต่อศาลที่มีเขตอำนาจภายในกำหนดเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้ส่งสำเนาคำชี้ขาดถึงคู่กรณีตามมาตรา 21 วรรคสี่” และในมาตรา 34 บัญญัติว่า “…ศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศเสียได้ ถ้าผู้ซึ่งจะถูกบังคับสามารถพิสูจน์ได้ว่า… (6) คำชี้ขาดยังไม่มีผลผูกพันเป็นยุติ…” ตามบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่า การมีผลผูกพันของคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการกับการดำเนินการบังคับให้มีการปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเป็นคนละส่วนแต่สืบเนื่องกัน โดยคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจะต้องมีผลผูกพันคู่กรณีก่อนในเบื้องต้น เมื่อมีผลดังกล่าวแล้วแต่คู่กรณีไม่ปฏิบัติตามจึงจะมีการดำนเนินการบังคับ ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยจะต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการหรือไม่ จึงมีความหมายเพียงว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการมีผลผูกพันจำเลยซึ่งจะทำให้โจทก์มีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ใช้บังคับให้จำเลยปฏิบัติตามคำชี้ขาดนั้นต่อไปหรือยัง หาได้มีความหมายครอบคลุมดังข้อที่ว่า การดำเนินการร้องขอของโจทก์ชอบหรือไม่ ประเด็นข้อพิพาทที่ศาลชั้นต้นกำหนดจึงไม่ครอบคลุมข้อที่จำเลยอุทธรณ์ อนึ่ง เงื่อนไขตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 31 (3) ที่กำหนดให้คำแปลภาษาไทยของคำชี้ขาดและสัญญาอนุญาโตตุลาการที่อ้างส่งต่อศาลนั้นต้องมีผู้แปลซึ่งได้สาบานตนแล้ว เจ้าหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศ ตัวแทนทางการทูตหรือกงสุลไทยเป็นผู้รับรองนั้น เป็นเงื่อนไขที่กำหนดขึ้นเพียงเพื่อความน่าเชื่อถือของเอกสารซึ่งกระทำในต่างประเทศเท่านั้น จึงไม่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อจำเลยสละประเด็นข้อนี้โดยไม่คัดค้านการกำหนดประเด็นข้อพิพาทของศาลชั้นต้น จำเลยจึงอุทธรณ์ว่าคำแปลภาษาไทยดังกล่าวไม่มีผู้แปล เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศตัวแทนทางการทูตหรือกงสุลไทยเป็นผู้รับรองไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้ชอบแล้ว ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาต่อไปว่า การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้ของโจทก์ไม่ชอบ ทั้งนี้ จำเลยอ้างในข้อนี้อีกว่าปัญหาเรื่องความสมบูรณ์ของหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่แม้มิได้ว่ากันมาในศาลชั้นต้นก็ชอบที่ยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่วินิจฉัยข้อนี้จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นว่า ปัญหาตามที่จำเลยฎีกาว่า หนังสือมอบอำนาจพร้อมคำแปลเอกสารหมาย จ. 1 ถึง จ. 5 ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์หรือไม่ก็ดี และเอกสารหมาย จ. 1 และ จ. 2 ไม่สมบูรณ์เนื่องจากมิได้ปิดอากรแสตมป์ตาม ป.รัษฎากร หรือไม่ก็ดี เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ดังนั้น แม้มิได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะยกขึ้นอุทธรณ์ฎีกาได้ สำหรับปัญหาว่าผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจฟ้องคดีหรือไม่ ซึ่งจำเลยอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่วินิจฉัยให้นั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเลย โดยไม่ต้องย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นว่า ตามหนังสือมอบอำนาจพร้อมคำแปลเอกสารหมาย จ. 1 ถึง จ. 5 มีข้อความระบุให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจแทนโจทก์ในการ “…ยื่นฟ้องต่อสู้คดีและดำเนินการไปจนสำเร็จในศาลทั้งปวง…ในประเทศไทย…หรือดำเนินกระบวนพิจารณาทางกฎหมายทั้งทางแพ่งและทางอาญา…” ซึ่งเห็นได้ว่าข้อความดังกล่าวย่อมหมายถึงการฟ้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการคดีนี้ด้วย ส่วนปัญหาเรื่องการปิดอากรแสตมป์ซึ่งจำเลยเพิ่งยกขึ้นมาในชั้นนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ. 2 กระทำในต่างประเทศจึงไม่อยู่ในบังคับแห่ง ป.รัษฎากร ที่จะต้องปิดอากรแสตมป์ การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้ของโจทก์จึงชอบแล้ว ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาต่อไปคัดค้านข้อที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ว่าสัญญาระหว่างโจทก์จำเลยไม่มีข้อตกลงให้ตั้งอนุญาโตตุลาการ ทั้งนี้ จำเลยอ้างด้วยว่า พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 6 เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ในข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่า พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 6 ที่บัญญัติให้สัญญาอนุญาโตตุลาการมีผลผูกพันคู่กรณีได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเอกสารหรือมีข้อสัญญาอยู่ในเอกสารโต้ตอบทางจดหมาย โทรสาร โทรพิมพ์หรือเอกสารอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจไต่สวนและชี้ขาดข้อพิพาทของอนุญาโตตุลาการ จึงเป็นข้อที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ดังนั้น แม้จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ จำเลยก็อุทธรณ์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่วินิจฉัยให้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย และศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหานี้โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 3 ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์มีสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ. 11 ซึ่งมีข้อความระบุว่าสินค้าอยู่ภายใต้ข้อกำหนดและเงื่อนไขของสิงคโปร์ คอมมอดิตี้ เอ็กซ์เชนจ์ ลิมิเต็ด ซึ่งพยานโจทก์คือนายธเนศเบิกความประกอบข้อความดังกล่าวว่า เมื่อมีข้อพิพาทตามสัญญาดังกล่าว โจทก์และจำเลยจะต้องเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการของสิงคโปร์เป็นผู้ชี้ขาดตามกฎข้อบังคับและคำแปลเอกสารหมาย จ. 12 และ จ. 13 ฝ่ายจำเลยคงมีแต่นายสมพรกรรมการของจำเลยมาเบิกความลอย ๆ ว่าไม่เคยเห็นเอกสารหมาย จ. 11 และในชั้นฎีกาจำเลยก็มิได้โต้แย้งเอกสารดังกล่าว จึงฟังได้ว่าสัญญาซื้อขายดังกล่าวมีข้อตกลงให้ตั้งอนุญาโตตุลาการอยู่จริง สัญญาอนุญาโตตุลาการจึงมีผลผูกพันจำเลย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาต่อไปว่า การส่งเอกสารของสิงคโปร์ คอมมอดิตี้ เอ็กซ์เชนจ์ ลิมิเต็ด ให้แก่จำเลยไม่ชอบและไม่ถึงจำเลย จึงไม่ชอบตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 33 (2) ในข้อนี้ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการพร้อมคำแปลเอกสารหมาย จ. 15 และ จ. 16 ระบุในข้อ 5 ว่า ตามจดหมายลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2539 สิงคโปร์ คอมมอดิตี้ เอกซ์เชนจ์ ลิมิเต็ด ได้แจ้งให้จำเลยทราบว่า โจทก์ได้ดำเนินการอนุญาโตตุลาการและสิงคโปร์ คอมมอดิตี้ เอกซ์เชนจ์ ลิมิเต็ด ได้เชิญชวนให้จำเลยยื่นข้อต่อสู้พร้อมหลักฐานสนับสนุนภายในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2539 อีกทั้งเสนอชื่ออนุญาโตตุลาการคนหนึ่งภายในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2539 และในข้อ 7 ของคำชี้ขาดดังกล่าวระบุว่า ตามจดหมายลงวันที่ 8 มีนาคม 2539 จำเลยได้รับโอกาสที่จะคัดค้านการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการและในขณะเดียวกันก็ได้มีการเตือนจำเลยให้ยื่นข้อต่อสู้หรือยื่นเอกสารต่าง ๆ เพื่อคัดค้านหรือแก้คดีของโจทก์ดังที่ระบุในข้อนี้หรือภายในวันที่ 15 มีนาคม 2539 การแจ้งแก่จำเลยตามที่ระบุในคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวเห็นได้ว่า เป็นการแจ้งภายในระยะเวลาอันสมควรและเป็นการแจ้งให้จำเลยเข้าสู้คดีในชั้นอนุญาโตตุลาการถึง 2 ครั้ง ปัญหาจึงมีเพียงว่า การส่งจดหมายทั้งสองฉบับให้แก่จำเลยตามที่ระบุในคำชี้ขาดถึงจำเลยและชอบหรือไม่ ปัญหานี้โจทก์มีพยานปากนายธเนศเบิกความว่า ในการดำเนินการชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้นได้มีการแจ้งคำสั่งและรายละเอียดต่าง ๆ ให้จำเลยทราบแล้วตามเอกสารหมาย จ. 17 และ จ. 18 และมีนางเชียงซึ่งเป็นลูกจ้างโจทก์มาเบิกความอีกว่า พยานได้รับมอบหมายให้เตรียมเรื่องเสนออนุญาโตตุลาการ เมื่อยื่นเรื่องดังกล่าวแล้วอนุญาโตตุลาการได้แจ้งข้อเรียกร้องให้จำเลยทราบ ซึ่งจำเลยก็ได้แก้ข้อเรียกร้องของโจทก์ ฝ่ายจำเลยมีพยานปากนายสมพรเบิกความว่า พยานไม่เคยเห็นเอกสารดังกล่าว ชื่อนายโรเบิร์ตที่ปรากฏในหนังสือถึงจำเลยแจ้งผลคำชี้ขาดและให้จำเลยปฏิบัติตามคำชี้ขาดเอกสารหมาย จ. 19 พร้อมคำแปลเอกสารหมาย จ. 20 พยานไม่รู้จัก ศาลฎีกาเห็นว่า จดหมายทั้งสองฉบับได้ส่งให้แก่จำเลยโดยส่งไปที่เลขที่ 39 ถนนนิพัทธ์อุทิศ 1 อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นที่อยู่ของจำเลยที่ระบุไว้ในสัญญาเอกสารหมาย จ. 11 และเอกสารอื่น ๆ ของจำเลย รวมทั้งใบกำกับสินค้าของจำเลยตามเอกสารหมาย จ. 14 การส่งจดหมายทั้งสองฉบับให้แก่จำเลยก็เป็นไปตามวิถีทางธุรกิจระหว่างโจทก์กับจำเลยเช่นเดียวกับเอกสารอื่น ๆ อีกหลายฉบับ โดยไม่ได้ความว่ามีเอกสารฉบับใดถูกส่งคืน จึงไม่น่าเชื่อว่าจดหมายทั้งสองฉบับจะส่งไม่ถึงผู้รับ คำเบิกความของพยานจำเลยไม่มีน้ำหนัก ข้อเท็จจริงฟังได้ตามพยานหลักฐานโจทก์ว่า จดหมายทั้งสองฉบับส่งไปถึงจำเลยโดยชอบแล้ว จึงไม่มีเหตุที่ศาลจะปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดตามมาตรา 33 (2) ตามฎีกาของจำเลย ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 30,000 บาท แทนโจทก์.

Share