คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2925/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เลดออกไซด์ (LEADOXIDES) ซึ่งเป็นสินค้าประเภทพิกัดที่ 28.27นั้น เป็นของที่ทำจากตะกั่ว โดยนำตะกั่วบริสุทธิ์มาทำเป็นผงแล้วเผาหรือผ่านออกซิเจนเข้าไป กลายเป็นเลดออกไซด์ แต่ตะกั่วที่ถูกเผาอาจไม่กลายเป็นเลดออกไซด์ทั้งหมด อาจมีโลหะตะกั่ว (METALLIXLEAD) หลงเหลืออยู่บ้าง ประมาณร้อยละ 8 จึงต่างกับเกรย์ออกไซด์(GREYOXIDES)กล่าวคือเลดออกไซด์จะมีปริมาณตะกั่วออกไซด์เกือบทั้งหมด หรือเกินกว่าร้อยละ 95 ขึ้นไปส่วนเกรย์ออกไซด์จะมีส่วนผสมของโลหะตะกั่ว (METALLICLEAD)ตั้งแต่ร้อยละ 15-35 ที่เหลือนอกนั้นเป็นตะกั่วออกไซด์หรือเลดออกไซด์ สินค้ารายพิพาทที่โจทก์สั่งเข้ามามีโลหะตะกั่วผสมอยู่เป็นจำนวนถึงร้อยละ 25 นับว่ามีโลหะตะกั่วผสมอยู่เป็นจำนวนมากเกินกว่าที่จะถือได้ว่าเป็นสิ่งบริสุทธิ์เจือปนที่หลงเหลือจากกรรมวิธีการผลิต ฉะนั้นสินค้าพิพาทที่โจทก์นำเข้ามาและสำแดงในใบขนสินค้าว่าเป็นเกรย์ออกไซด์เลด จึงเป็นผลิตภัณฑ์ทางเคมี และสิ่งปรุงแต่งที่ได้จากอุตสาหกรรมทางเคมีหรืออุตสาหกรรมประเภทเดียวกัน ซึ่งมิได้ระบุหรือรวมไว้ในที่อื่น ต้องเสียอากรขาเข้า ตามประเภทพิกัดที่ 38.19 ข. ในอัตราร้อยละ 30.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2522 โจทก์ได้นำสินค้าชนิดเลดออกไซด์ (GREYOXIDELEAD) เข้ามาในประเทศไทยโดยสั่งซื้อจากบริษัทคอมมอนเวลท์ ลิทาจ แอนด์ เรดเลด จำกัด แห่งประเทศออสเตรเลีย จำนวน 345 ถัง น้ำหนักสุทธิ 17.250 กิโลกรัมโจทก์ได้สำแดงรายการในใบขนสินค้าขาเข้าในประเภทพิกัดที่28.27 อัตราอากรร้อยละ 10 แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 5 ถึงที่ 7ได้กักสินค้าของโจทก์ อ้างว่าเป็นเคมีภัณฑ์ปรุงแต่งจัดเข้าประเภทพิกัดที่ 38.19 ข. ต้องเสียอากรขาเข้าร้อยละ 30ซึ่งจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เห็นชอบด้วย อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 ได้กักสินค้าของโจทก์ไว้จนถึงวันที่ 23 กรกฎาคม 2523 จึงได้ปล่อยสินค้าโดยให้โจทก์หาประกัน โจทก์ต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารและเสียเงินค่าฝากสินค้าให้แก่การท่าเรือแห่งประเทศไทยรวมเป็นเงิน93,494 บาท ซึ่งจำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ขอให้พิพากษาว่าการที่โจทก์สำแดงรายการเพื่อเสียอากรขาเข้าในประเภทพิกัดที่ 28.27 อัตราร้อยละ 10 สำหรับสินค้าชนิดเลดออกไซด์(GRDYOXIDELEAD) นั้น ถูกต้องชอบด้วยกฎหมายแล้ว ให้จำเลยร่วมกันคืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารกสิกรไทย ฉบับลงวันที่22 กรกฎาคม 2523 ให้แก่โจทก์และชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 93,494 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยทั้งเจ็ดให้การว่า การที่จำเลยสั่งให้โจทก์เสียอากรขาเข้าสำหรับสินค้าเกรย์ออกไซด์เลด (GREYOXIDELEAD)ในประเภทพิกัดที่ 38.19ข. อัตราร้อยละ 30 นั้น เป็นการถูกต้องชอบด้วยกฎหมายแล้ว สินค้าที่โจทก์นำเข้านี้เป็นสินค้าคนละประเภทกับสินค้าตามคำวินิจฉัยพิกัดอัตราที่ 2/2521จำเลยปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริตถูกต้องตามกฎหมาย โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ได้สั่งซื้อสินค้าชนิดหนึ่งจากต่างประเทศ และนำเข้ามาในราชอาณาจักร เมื่อวันที่10 พฤศจิกายน 2522 โดยสำแดงในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าว่าเป็นสินค้า ‘GREYOXIDELEAD’ ขอเสียอากรขาเข้าในประเภทพิกัดที่ 28.27 ซึ่งจะต้องเสียอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 10 เจ้าหน้าที่กองวิเคราะห์สินค้า กรมศุลกากร เห็นว่าสินค้าที่โจทก์นำเข้ามานั้นไม่ใช่สินค้าตามประเภทพิกัดที่ 28.27 แต่จัดเข้าประเภทพิกัดที่ 38.19ข. ต้องเสียอากรร้อยละ 30 แล้ววินิจฉัยว่าเลดออกไซด์ (LEADOXIDES) นั้นเป็นของที่ทำจากตะกั่วโดยนำตะกั่วบริสุทธิ์มาทำเป็นผงแล้วเผา หรือผ่านออกซิเจนเข้าไป ตะกั่วที่ถูกเผานั้นจะกลายเป็นเลดออกไซด์ (LEADOXIDES) แต่ตะกั่วที่ถูกเผานั้นอาจไม่กลายเป็นเลดออกไซด์ทั้งหมด อาจมีโลหะตะกั่ว(METALLICLEAD) หรือสารอื่นหลงเหลืออยู่บ้างหากมีโลหะตะกั่ว (METELLICLEAD) เหลืออยู่ประมาณร้อยละ 8 ทางกรมศุลกากรจำเลยที่ 2 ถือว่าโลหะตะกั่วจำนวนนี้เป็นเพียงสิ่งไม่บริสุทธิ์เจือปน (IMPURITIEX) ที่หลงเหลืออยู่เท่านั้น สินค้าที่โจทก์นำเข้ามาและเกิดกรณีพิพาทกันนี้ปรากฏว่า ทางฝ่ายจำเลยได้ส่งตัวอย่างไปตรวจวิเคราะห์ยังหน่วยงานต่าง ๆที่มีความรู้ ความชำนาญในด้านนี้ กล่าวคือ ส่งไปวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์บริการ องค์การแบตเตอรี่ คณะวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกรมวิทยาศาสตร์บริการ (ส่งไปตรวจเป็นครั้งที่ 2) และสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ ซึ่งผลของการวิเคราะห์ปรากฏว่าสินค้าพิพาทที่โจทก์สั่งเข้ามานั้น มีโลหะตะกั่ว (METALLICLEAD) ผสมอยู่เกินกว่าร้อยละ 8 โดยเฉพาะอย่างยิ่งครั้งสุดท้ายทางฝ่ายจำเลยได้ส่งไปให้สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติทำการตรวจวิเคราะห์ด้วยวิธีเอกซเรย์ซึ่งเป็นวิธีที่ถือได้ว่าได้ผลแน่นอนหรือใกล้เคียงที่สุดปรากฏว่าสินค้าพิพาทมีโลหะตะกั่ว (METALLIXLEAD) ผสมอยู่เป็นจำนวนร้อยละ 25+/-3 และมีตะกั่วออกไซด์ร้อยละ 75+/-3ดังปรากฏตามเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 3 นางประพิศ ประคุณหังสิตนักวิทยาศาสตร์ 5 กรมวิทยาศาสตร์ พยานโจทก์เบิกความยืนยันว่าเลดออกไซด์ (LEADOXIDES) เป็นสารเคมีตัวเดียว มีประมาณตะกั่วออกไซด์เกือบทั้งหมด คือเกินกว่าร้อยละ 95 ขึ้นไป และยังได้ความจากนายสมชาติ น้อยฉายา นักวิทยาศาสตร์โทกรมวิทยาศาสตร์บริการ พยานโจทก์อีกว่า เกรย์ออกไซด์(GREYOXIDES) จะต้องมีส่วนผสมของโลหะตะกั่วร้อยละ 15 – 35ส่วนที่เหลือนอกนั้นเป็นตะกั่วออกไซด์ (LEADOXIDES) เมื่อสรุปจากคำเบิกความของนางประพิศ ประคุณหังสิต และนายสุชาติน้อยฉายา พยานโจทก์ดังกล่าวข้างต้นนั้นแล้วจะเห็นได้ว่าเลดออกไซด์ (LEADOXIDES) กับเกรย์ออกไซด์ (GREYOXIDES) นั้นไม่เหมือนกันกล่าวคือ เลดออกไซด์ (LEADOXIDES) จะมีประมาณตะกั่วออกไซด์เกือบทั้งหมด หรือเกินกว่าร้อยละ 95 ขึ้นไปส่วนเกรย์ออกไซด์จะมีส่วนผสมของโลหะตะกั่ว (METALLICLEAD)ตั้งแต่ร้อยละ 15 – 35 ที่เหลือนอกนั้นเป็นตะกั่วออกไซด์หรือเลดออกไซด์ (LEADOXIDES) สินค้ารายพิพาทที่โจทก์สั่งเข้ามานี้มีโลหะตะกั่ว (METALLICLEAD) ผสมอยู่เป็นจำนวนถึงร้อยละ 25 นับว่ามีโลหะตะกั่ว (METALLICLEAD) ผสมอยู่เป็นจำนวนมากเกินกว่าที่จะถือได้ว่าเป็นสิ่งบริสุทธิ์เจือปน (IMPURITIES) ที่หลงเหลือจากกรรมวิธีการผลิต คดีได้ความจากนางปราศรัย ทวีแสง จำเลยที่ 6 ซึ่งรับราชการเป็นนักวิทยาศาสตร์ 7 หัวหน้าฝ่ายอาหาร กองวิเคราะห์สินค้าว่า การที่สินค้าพิพาทมีปริมาณของโลหะตะกั่ว (METALLICLEAD) ผสมอยู่เป็นจำนวนมากเช่นนี้ เป็นความประสงค์ของผู้ผลิต ที่จะให้มีโลหะตะกั่วผสมอยู่เป็นปริมาณเท่าใด ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์ต้องถือว่าเป็นเคมีภัณฑ์ผสมฉะนั้น คดีจึงฟังได้ว่าสินค้าพิพาทที่โจทก์นำเข้ามานั้น เป็นผลิตภัณฑ์ทางเคมีและสิ่งปรุงแต่งที่ได้จากอุตสาหกรรมทางเคมี หรืออุตสาหกรรมประเภทเดียวกัน ซึ่งมิได้ระบุหรือรวมไว้ในที่อื่น ต้องเสียอากรขาเข้าตามประเภทพิกัดที่ 38.19ข. ในอัตราร้อยละ 30 ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากรจำเลยที่ 2สั่งให้โจทก์เสียอากรขาเข้าในประเภทพิกัดที่ 38.19ข. ในอัตราร้อยละ 30 นั้น ถูกต้องชอบด้วยกฎหมายแล้ว
พิพากษายืน.

Share