แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เมื่อเจ้ามรดกตาย มรดกย่อมตก ทอดแก่ทายาท ทายาททุกคนจึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกัน จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกได้โอนที่ดินมาเป็นของตนและนำไปจำนองหนี้ส่วนตัวไว้กับจำเลยที่ 2 โดยทายาทอื่นมิได้รู้เห็นยินยอม เป็นการปฏิบัติผิดหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 การจำนองจึงเป็นกิจการนอกขอบอำนาจผู้จัดการมรดก ทายาทอื่นในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ย่อมมีสิทธิขัดขวางมิให้จำเลยทั้งสองสอดเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินโดยมิชอบด้วยกฎหมายได้เสมอ ฟ้องของโจทก์ไม่เกี่ยวกับคดีมรดก จึงนำอายุความตาม มาตรา 1754 มาบังคับไม่ได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองย่อมเป็นข้อเสียเปรียบแก่โจทก์ซึ่งเป็นทายาทและเป็นผู้อยู่ในฐานะจดทะเบียนสิทธิได้ก่อน เมื่อจำเลยที่ 2 รับจำนองโดยไม่สุจริต จึงชอบที่จะเพิกถอนการจดทะเบียนจำนองเสียได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่าขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2886,2887, 3461 และ 3466 ตำบลหนองโบสถ์ (ลำไทรโยง) อำเภอนางรองจังหวัดบุรีรัมย์ ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยให้จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองภายใน 15 วัน หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติก็ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เพราะนำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทได้รู้หรือควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดก จำเลยที่ 2 รับจดทะเบียนจำนองไว้โดยสุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนอง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก) เลขที่ 2886, 2887, 3460และ 3466 ตำบลหนองโบสถ์ (ลำไทรโยง) อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์ที่ 1 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเหลาหรือเฉลา อร่าม หรืออะร่าม มีบุตรด้วยกัน 10 คน คือจำเลยที่ 1 นางอุทัยโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 เด็กหญิงจันทร์และเด็กชายสุธน นายเหลามีที่ดิน6 แปลงรวมทั้งที่ดินพิพาทนี้ด้วย นายเหลาถึงแก่ความตายเมื่อวันที่16 สิงหาคม 2524 จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกนายเหลาโดยนายชัยวัฒน์ เข็มทอง เป็นทนายความ และศาลมีคำสั่งแต่งตั้งให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายเหลาเมื่อวันที่11 ธันวาคม 2528 ต่อมาวันที่ 25 ธันวาคม 2528 จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนายเหลาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียว แล้วได้จดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 2ในวันเดียวกันนั้น…ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะโจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 นั้น เห็นว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 บัญญัติว่า “เมื่อบุคคลใดตายมรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท” โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 7 และจำเลยที่ 1เป็นทายาทของนายเหลา มรดกของนายเหลายย่อมตกทอดเป็นของทายาทในเมื่อนายเหลาตายโจทก์ทั้งเจ็ดและจำเลยที่ 1 จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทร่วมกัน การที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งแล้วได้จัดการโอนมรดกมาเป็นของจำเลยที่ 1 ตามลำพังแล้วนำไปจำนองหนี้ส่วนตัวไว้กับจำเลยที่ 2 โดยทายาทอื่นมิได้รู้เห็นยินยอมเช่นนี้ จึงเป็นการปฏิบัติผิดหน้าที่ของผู้จัดการมรดกที่จะต้องดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ทายาทดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719 การจำนองดังกล่าวจึงเป็นกิจการที่ได้ทำไปนอกขอบอำนาจในฐานะที่เป็นผู้จัดการมรดก โจทก์ทั้งเจ็ดในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทย่อมมีสิทธิขัดขวางมิให้จำเลยทั้งสองสอดเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทโดยมิชอบด้วยกฎหมายได้เสมอ ฟ้องของโจทก์ไม่เกี่ยวกับคดีมรดกจึงนำอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 มาบังคับเกี่ยวกับคดีนี้มิได้ ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ…การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนายเหลาที่ตกได้แก่จำเลยที่ 1 และโจทก์ทั้งเจ็ดย่อมเป็นการเสียเปรียบแก่โจทก์ผู้อยู่ในฐานะจดทะเบียนสิทธิได้ก่อน เมื่อจำเลยที่ 2รับจำนองไว้โดยไม่สุจริตจึงชอบที่จะเพิกถอนการจดทะเบียนจำนองเสียได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 ฎีกาของจำเลยที่ 2ทุกข้อฟังไม่ขึ้น แต่เนื่องจากที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 2886, 2887,3460 และ 3466 ตามฟ้อง เป็นทรัพย์มรดกของนายเหลาซึ่งมีทายาทด้วยกัน11 คน การที่โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองจึงเป็นการใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อประโยชน์แก่ทายาทด้วยกันทั้งหมดทุกคนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1359 เมื่อจำเลยที่ 1 มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเพียง 1 ใน 11 ส่วน จึงต้องเพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของโจทก์ทั้งเจ็ดและทายาทอื่นซึ่งรวมแล้วเพียง 10 ใน 11 ส่วนเท่านั้น…”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2886, 2887, 3460และ 3466 ตำบลหนองโบสถ์ (ลำไทรโยง) อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 เฉพาะส่วนของโจทก์ทั้งเจ็ดและทายาทจำนวน10 ใน 11 ส่วน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1.