คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2165/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

กรณีที่จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ให้ลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แม้ความผิดบางกระทงจะมีโทษจำคุกตลอดชีวิต ศาลก็ต้องกำหนดโทษความผิดกระทงอื่นไว้ด้วย แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิตสถานเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3) การลงโทษจำคุกตลอดชีวิตเพียงกระทงเดียวโดยไม่กำหนดโทษกระทงอื่นอีก หาชอบไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสอง ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯมาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289, 340,340 ตรี, 371, 83, 91 และให้ริบของกลางกับให้จำเลยร่วมกันคืนและใช้ราคาทรัพย์ จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 289(4)(7),340 วรรคท้ายประกอบมาตรา 340 ตรี, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯมาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ เนื่องจากความผิดของจำเลยทั้งสองตามมาตรา 83, 289(4)(7) และตามมาตรา 340 วรรคท้าย ประกอบมาตรา340 ตรี, 371 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทซึ่งต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่โทษในความผิดทั้งสองบทมีอัตราเท่ากัน จึงลงโทษจำเลยทั้งสองตามมาตรา 289(4)(7)เพียงบทเดียว ให้ลงโทษประหารชีวิตจำเลยทั้งสอง คำรับสารภาพของจำเลยทั้งสองในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้จำเลยทั้งสองหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 คงลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองไว้ตลอดชีวิต และเมื่อจำเลยทั้งสองถูกลงโทษจำคุกถึงตลอดชีวิตแล้วจึงไม่จำต้องกำหนดโทษในความผิดอื่นอีกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 ริบของกลางและให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์รวม 15,900 บาท แก่ผู้เสียหาย คำขออื่นให้ยก จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์และจำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสองเป็นคนร้ายร่วมกับพวกกระทำความผิดทุกกรรมตามที่โจทก์ฟ้อง แล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “กรณีที่จำเลยกระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้ลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ดังนั้นแม้ความผิดบางกระทงจะมีโทษจำคุกตลอดชีวิต ศาลก็ต้องกำหนดโทษความผิดกระทงอื่นไว้ด้วย เป็นแต่เพียงว่าเมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3)บังคับให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิตสถานเดียว ที่ศาลล่างทั้งสองเห็นว่าเมื่อจำเลยถูกลงโทษจำคุกตลอดชีวิตกระทงหนึ่งแล้ว ไม่จำเป็นต้องกำหนดโทษในความผิดกระทงอื่นอีกก็ดีและการที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทความผิดจำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ โดยไม่ได้ระบุวรรคใดก็ดี เป็นการไม่ชอบ เห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 วรรคแรก และมาตรา 8 ทวิ,72 ทวิ วรรคสอง ให้ลงโทษตามมาตรา 7, 72 วรรคแรก จำคุกคนละ2 ปี ส่วนความผิดฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในหมู่บ้านและทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371เป็นการกระทำกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ,72 ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นบทหนักที่สุด จำคุกคนละ 6 เดือน จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต เหลือโทษจำคุกคนละ 1 ปี 4 เดือนความผิดฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในหมู่บ้านและทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตเหลือโทษจำคุกคนละ 4 เดือน นอกจากนี้ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและเมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว คงจำคุกจำเลยทั้งสองคนละตลอดชีวิตสถานเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91(3)

Share