คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2925/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ในเรื่องค่าแรงว่า โจทก์ใช้พนักงานของโจทก์เป็นผู้ทำการซ่อม แม้ไม่เกิดเหตุต้องซ่อมรถในคดีนี้โจทก์ก็ต้องจ่ายให้พนักงานเป็นประจำอยู่แล้ว แต่ในชั้นฎีกากลับฎีกาว่า รถไฟคันเกิดเหตุใกล้จะถึงเวลาซ่อมบำรุงเมื่อเกิดเหตุก็ซ่อมบำรุงเรียบร้อยแล้วโจทก์ไม่ควรได้รับค่าแรงเต็มจำนวนดังนี้ ข้ออ้างของจำเลยที่ 3 ในฎีกาไม่ได้เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ค่าใช้จ่ายทั่วไปในโรงงานหรือค่าโอเวอร์เฮดชาร์จร้อยละ140 ของค่าแรงพอจะถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของค่าซ่อมอันเป็นค่าเสียหายส่วนหนึ่งโจทก์จึงมีสิทธิเรียกจากจำเลยผู้ทำละเมิดได้ซึ่งศาลจะกำหนดให้ตามจำนวนที่เห็นสมควรส่วนค่าควบคุมเพิ่มขึ้นจากราคาทุนเป็นระเบียบภายในของโจทก์เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่ทราบระเบียบนี้และไม่ได้ตกลงให้โจทก์ซ่อมอีกทั้งยังเป็นค่าควบคุมที่คิดเพิ่มเป็นพิเศษนอกเหนือไปจากค่าควบคุมธรรมดาซึ่งรวมอยู่ในค่าใช้จ่ายทั่วไปในโรงงานอยู่แล้วโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ใช้เงินจำนวนนี้
แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้อุทธรณ์ฎีกา แต่กรณีเป็นหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้เมื่อจำเลยที่ 3 ฎีกา และศาลฎีกากำหนดค่าเสียหายต่ำกว่าที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดเท่ากับจำเลยที่3 ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1),247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน ก.จ.02547 ซึ่งนำเข้าเป็รถร่วมกับจำเลยที่ 2 เพื่อประกอบกิจการขนส่งจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าว นายเล็กลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ขับรถยนต์คันดังกล่าวไปในทางการที่จ้างของจำเลยทั้งสองด้วยความประมาทเลินเล่อ ไม่ปฏิบัติตามเครื่องหมายจราจร ขับด้วยความเร็วสูงตัดหน้าขบวนรถไฟของโจทก์ในระยะกระชั้นชิดเป็นเหตุให้เกิดการชนกันขึ้น ทำให้รถดีเซลรางของโจทก์เสียหายต้องซ่อมเป็นเงิน 68,449.99 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสามให้การว่า นายเล็กไม่ใช่ลูกจ้างและไม่ได้ปฏิบัติงานในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เหตุเกิดขึ้นเพราะความประมาทของพนักงานขับรถไฟของโจทก์ จำเลยที่ 3 ไม่ได้รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ก.จ.02547 ไว้จากจำเลยที่ 2 ค่าซ่อมแซมรถโจทก์อย่างสูงไม่เกิน 10,000 บาท ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 68,449.99 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 23 มีนาคม 2519 อันเป็นวันทำละเมิดจนกว่าจะชำระเงินให้โจทก์เสร็จ

จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ในเรื่องค่าแรงงานว่าโจทก์ใช้พนักงานของโจทก์เป็นผู้ทำการซ่อม แม้ไม่เกิดเหตุต้องซ่อมรถในคดีนี้โจทก์ก็ต้องจ่ายให้พนักงานเป็นประจำอยู่แล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าแรงงาน แต่จำเลยที่ 3 กลับฎีกาว่ารถไฟคันเกิดเหตุใกล้จะถึงเวลาซ่อมบำรุง เมื่อเกิดเหตุก็ซ่อมบำรุงเรียบร้อยแล้ว โจทก์ไม่ควรได้รับค่าแรงเต็มจำนวนควรได้รับอย่างมากไม่เกิน 8,000 บาท เห็นว่าข้ออ้างของจำเลยที่ 3 ในฎีกาไม่ได้เป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ส่วนค่าใช้จ่ายทั่วไปในโรงงานหรือโอเวอร์เฮดชาร์จร้อยละ 140ของค่าแรงและการคิดค่าควบคุมเพิ่มขึ้นจากราคาทุนร้อยละ 20 จำเลยที่ 3ฎีกาว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับ ศาลฎีกาเห็นว่า สำหรับค่าใช้จ่ายทั่วไปในโรงงานหรือโอเวอร์ชาร์จพอจะถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของค่าซ่อม เมื่อรวมค่าเสียหายส่วนนี้ทั้งหมดแล้วเห็นควรกำหนดให้จำเลยที่ 3 ชดใช้ให้โจทก์เป็นเงิน10,000 บาท ส่วนค่าควบคุมเพิ่มขึ้นจากราคาทุนนั้นเป็นระเบียบภายในของโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่ทราบระเบียบนี้และไม่ได้ตกลงให้โจทก์ซ่อมโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 3 ชดใช้เงินจำนวนนี้เพราะเป็นค่าควบคุมที่คิดเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษนอกไปจากค่าควบคุมธรรมดาซึ่งรวมอยู่ในค่าใช้จ่ายทั่วไปในโรงงานหรือโอเวอร์เฮดชาร์จลำดับที่ 5 แล้ว เงิน 2 จำนวนนี้เป็นหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดเท่ากับจำเลยที่ 3 ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1), 247

พิพากษาแก้ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินรวม 41,416.90 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 23 มีนาคม 2519 จนกว่าจะชำระเงินให้โจทก์เสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share