คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11439/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในการพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้ามีความเหมือนหรือคล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาจากภาพรวมของลักษณะเครื่องหมายการค้าดังกล่าวทั้งหมด ลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้า และสำเนียงเรียกขานว่าเหมือนกันหรือคล้ายกันเพียงใด ตลอดจนต้องพิจารณาว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันแต่มีลักษณะอย่างเดียวกันหรือไม่
โจทก์ได้ใช้คำว่า “ANNA SUI” ซึ่งเป็นชื่อสกุลนักออกแบบสินค้าของโจทก์เป็นเครื่องหมายการค้าโดยไม่ได้ลอกเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้ใด จึงเป็นการใช้โดยสุจริตตลอดมาก่อนที่โจทก์จะยื่นคำขอจดทะเบียนทั้ง 3 คำขอนั้น เมื่อปรากฏว่าโจทก์กับ ส. และก. ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าทั้งสามต่างคนต่างได้ใช้เครื่องหมายการค้าของตนกับสินค้าที่ขอจดทะเบียนและได้รับการจดทะเบียนดังกล่าวมาแล้วด้วยกันโดยสุจริตในประเทศไทย นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจึงชอบที่จะรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ โดยอาจกำหนดเงื่อนไขและข้อจำกัดเกี่ยวกับวิธีการใช้และเขตแห่งการใช้เครื่องหมายการค้าตามคำขอทั้ง 3 คำขอของโจทก์นั้นหรือกำหนดข้อจำกัดอื่นที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเห็นสมควรก็ได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 27

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า “ANNA SUI” ของโจทก์ตามคำขอเลขที่ 577343, 590644 และ 590645 มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ ให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 9 หมายเลข 15 และหมายเลข 21 และเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 12 หมายเลข 18 และหมายเลข 23 และให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำขอเลขที่ 577343, 590644 และ 590645 ของโจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์เป็นประการแรกว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า “ANNA SUI” ตามคำขอเลขที่ 577343 ของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า ตาม คำขอเลขที่ 468061 ทะเบียนเลขที่ ค158388 และเครื่องหมายการค้าคำว่า “ANNA SUI” ตามคำขอเลขที่ 590644 และ 590645 ของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า ในรูปกรอบสี่เหลี่ยม ซึ่งมีลักษณะเป็นเครื่องหมายการค้า ตามคำขอเลขที่ 319783 ทะเบียนเลขที่ ค71611 จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่ง กำเนิดของสินค้าหรือไม่ เห็นว่า ในการพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า “ANNA SUI” ของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “Anna Is” และเครื่องหมายการค้าคำว่า ในรูปกรอบสี่เหลี่ยมจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่นั้นต้องพิจารณาจากภาพรวมของลักษณะเครื่องหมายการค้าดังกล่าวทั้งหมด ลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้าและสำเนียงเรียกขานว่าเหมือนกันหรือคล้ายกันเพียงใด ตลอดจนต้องพิจารณาว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันแต่มีลักษณะอย่างเดียวกันหรือไม่ ปรากฏว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า “ANNA SUI” ของโจทก์ตามคำขอเลขที่ 577343 โจทก์ได้ขอจดทะเบียนไว้กับสินค้าจำพวก 25 รายการ สินค้าจำนวน 49 รายการ เช่น เสื้อเชิ้ต เสื้อยืดคอกลม ชุดสูท เสื้อแจกเกต กางเกงยีน กางเกงขายาว เป็นต้น เครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวมีลักษณะเป็นเครื่องหมายการค้าประเภทคำ โดยอ่านออกเสียงว่า “แอนนา ซุย” ส่วนเครื่องหมายการค้าคำว่า “Anna Is” ตามทะเบียนเลขที่ ค158388 นางเสาวณิตได้รับการจดทะเบียนไว้กับสินค้าจำพวก 25 รายการสินค้า เสื้อ (ยกเว้นเสื้อชั้นในและเสื้อกีฬา) กางเกง (ยกเว้นกางเกงชั้นในและกางเกงกีฬา) ซึ่งมีลักษณะเป็นเครื่องหมายการค้าประเภทคำเช่นเดียวกัน โดยอ่านออกเสียงว่า “แอนนา อีส” เครื่องหมายการค้าคำว่า “ANNA SUI” ของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าคำว่า “Anna Is” มีลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้าอยู่ที่คำว่า “ANNA” หรือ “Anna” ซึ่งมีตัวอักษรทุกตัวเหมือนกันและอยู่ในตำแหน่งเดียวกันโดยมีสำเนียงเรียกขานเหมือนกันว่า “แอนนา” แตกต่างกันเฉพาะคำหลังซึ่งเป็นเพียงส่วนประกอบของเครื่องหมายการค้าซึ่งไม่ใช่ลักษณะเด่นที่สาธารณชนจะจดจำ โดยของโจทก์เป็นคำว่า “SUI” อ่านว่า ซุย ส่วนของนางเสาวณิตเป็นคำว่า “Is” อ่านว่า อีส เท่านั้น เมื่อนำเครื่องหมายการค้าคำว่า “ANNA SUI” ของโจทก์และเครื่องหมายการค้าคำว่า “Anna Is” มาใช้กับสินค้าเสื้อและกางเกงเช่นเดียวกัน เครื่องหมายการค้าทั้งสองดังกล่าวย่อมคล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่อาจรับจดทะเบียนเครื่องหมายคำว่า “ANNA SUI” ของโจทก์ตามคำขอดังกล่าวตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 13 ได้ เว้นแต่เป็นกรณีตามมาตรา 27 สำหรับเครื่องหมายการค้าคำว่า “ANNA SUI” ตามคำขอเลขที่ 590644 และ 590645 โจทก์ได้ขอจดทะเบียนไว้กับสินค้าจำพวก 20 รายการสินค้า พัดลม เครื่องเรือน กระจก กรอบรูปหมอน เบาะ เครื่องนอน และสินค้าจำพวก 24 รายการสินค้า ผ้าลินินใช้ในครัว ผ้าขนหนู ผ้าปูโต๊ะ ผ้าคลุมเตียง ผ้าคลุม ผ้าห่ม ผ้าปูเตียง ปลอกหมอน ผ้านวม ผ้าคลุมเครื่องเรือน เสื้อ ผ้าเช็ดหน้า และผ้าเช็ดทำความสะอาด ตามลำดับ ส่วนเครื่องหมายการค้าคำว่า ในรูปกรอบสี่เหลี่ยมตามทะเบียนเลขที่ ค71611 นายกิตติได้รับการจดทะเบียนไว้กับสินค้าจำพวก 20 รายการสินค้า ที่นอน เครื่องหมายการค้าคำว่า “ANNA SUI” ของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าคำว่า “ANNA” ในรูปกรอบสี่เหลี่ยมมีลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้าอยู่ที่คำว่า “ANNA” หรือซึ่งมีตัวอักษรทุกตัวเหมือนกันและอยู่ในตำแหน่งเดียวกันโดยมีสำเนียงเรียกขานเหมือนกันว่า “แอนนา” แตกต่างกันเพียงส่วนประกอบของเครื่องหมายการค้าซึ่งไม่ใช่ลักษณะเด่นที่สาธารณชนจะจดจำโดยของโจทก์เป็นคำว่า “SUI” อ่านว่า ซุย ส่วนของนายกิตติเป็นรูปกรอบสี่เหลี่ยมซึ่งคำว่า อยู่ตรงกลางเท่านั้น การเรียกขานสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าทั้งสองดังกล่าวคล้ายกัน เมื่อนำเครื่องหมายการค้าคำว่า “ANNA SUI” ของโจทก์และเครื่องหมายการค้าคำว่า อยู่ในรูปกรอบสี่เหลี่ยมมาใช้กับสินค้าเครื่องนอน หมอน เบาะ ผ้าคลุมเตียง ผ้าห่ม ปลอกหมอน ผ้านวม ของโจทก์กับสินค้าที่นอนของนายกิตติ จึงเห็นได้ว่าสินค้าของโจทก์กับสินค้าของนายกิตติดังกล่าวเป็นสินค้าที่มีลักษณะอย่างเดียวกัน เครื่องหมายการค้าคำว่า “ANNA SUI” ของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าคำว่า อยู่ในรูปกรอบสี่เหลี่ยมของนายกิตติย่อมคล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่อาจรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “ANNA SUI”ของโจทก์ทั้งสองคำขอดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 13 ได้ เว้นแต่เป็นกรณีตามมาตรา 27 อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ต่อไปเป็นประการสุดท้ายว่า คำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ปฏิเสธการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “ANNA SUI” ของโจทก์ตามคำขอเลขที่ 577343, 590644 และ 590645 เพราะเหตุที่ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้ใช้หรือโฆษณาเครื่องหมายการค้าคำว่า “ANNA SUI” เป็นที่แพร่หลายจนทำให้สาธารณชนในประเทศไทยได้รู้จักเป็นอย่างดี จึงถือไม่ได้ว่ามีพฤติการณ์พิเศษที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจะรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “ANNA SUI” ของโจทก์ทั้ง 3 คำขอดังกล่าวตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 27 ได้ดังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยหรือไม่ ในปัญหานี้มาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วตามมาตรา 13 … ทั้งนี้สำหรับสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันที่นายทะเบียนเห็นว่ามีลักษณะอย่างเดียวกัน ถ้านายทะเบียนเห็นว่าเป็นเครื่องหมายการค้าซึ่งต่างเจ้าของต่างได้ใช้มาแล้วด้วยกันโดยสุจริตหรือมีพฤติการณ์พิเศษที่นายทะเบียนเห็นสมควรรับจดทะเบียน นายทะเบียนจะรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกันดังกล่าวให้แก่เจ้าของหลายคนก็ได้โดยจะมีเงื่อนไขและข้อจำกัดเกี่ยวกับวิธีการใช้และเขตแห่งการใช้เครื่องหมายการค้านั้นหรือเงื่อนไขและข้อจำกัดอื่นตามที่นายทะเบียนเห็นสมควรกำหนดด้วยก็ได้ ทั้งนี้ให้นายทะเบียนมีหนังสือแจ้งคำสั่งนั้นพร้อมด้วยเหตุผลให้ผู้ขอจดทะเบียนและเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วทราบโดยไม่ชักช้า … ” จากบทบัญญัติมาตรา 27 ดังกล่าว ในกรณีที่มีผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วตามมาตรา 13 สำหรับสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเห็นว่ามีลักษณะอย่างเดียวกัน ดังเช่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “ANNA SUI” ของโจทก์ตามคำขอเลขที่ 577343, 590644 และ 590645 นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าอาจรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้ง 3 คำขอดังกล่าวของโจทก์ได้ในกรณีใดกรณีหนึ่งใน 2 กรณี ดังนี้คือ หากนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเห็นว่าเครื่องหมายการค้าทั้ง 3 คำขอ ของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วซึ่งโจทก์และบุคคลอื่นผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นต่างคนต่างได้ใช้มาแล้วด้วยกันโดยสุจริตกรณีหนึ่ง หรือหากนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า เห็นว่า มีพฤติการณ์พิเศษที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเห็นสมควรรับจดทะเบียน อีกกรณีหนึ่ง ซึ่งในเรื่องนี้โจทก์นำสืบโดยมีนางดารานีย์ ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์มาเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของพยานหนังสือถ้อยแถลงของโจทก์ และเอกสารแนบท้ายถ้อยแถลงของโจทก์ฉบับที่ 1 ถึงที่ 4 ได้ความว่า บริษัทโจทก์ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2524 โดยจดทะเบียนภายใต้กฎหมายมลรัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา มีนางสาวแอนนา ซุย (Anna Sui) ซึ่งเป็นนักออกแบบชื่อดังชาวอเมริกัน โจทก์เป็นบริษัทชั้นนำของโลกที่ดำเนินธุรกิจด้านการออกแบบผลิตและจำหน่ายเสื้อผ้า เครื่องประดับ กระเป๋าถือ เครื่องสวมใส่เท้า แว่นตา เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ตกแต่งและเครื่องใช้สอยภายในบ้านตามข้อมูลบริษัทโจทก์ เครื่องหมายการค้าคำว่า “ANNA SUI” เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีที่มาจากชื่อสกุลนางสาวแอนนา ซุย เครื่องหมายการค้าดังกล่าวได้ใช้กับสินค้าเป็นครั้งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 2524 โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “ANNA SUI” เป็นครั้งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2526 กับสินค้าเสื้อผ้าสตรี เสื้อแจกเกต ชุดเสื้อกระโปรงติดกัน เสื้อครึ่งตัวของสตรี กางเกงขายาว กระโปรง เสื้อยืดคอกลมแขนสั้น หมวก ถุงมือ และเข็มขัด โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายดังกล่าวกับสินค้าและบริการในจำพวกอื่น ๆ ทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกา และในหลายประเทศทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยเครื่องหมายการค้าคำว่า “ANNA SUI” ของโจทก์ได้รับการจดทะเบียนกับสินค้าจำพวก 3, 9, 14 และ 18 ตามลำดับ โจทก์ได้โฆษณาประชาสัมพันธ์เครื่องหมายการค้าคำว่า “ANNA SUI” ของโจทก์ในหลายประเทศทั่วโลกโดยผ่านทางสื่อต่าง ๆ เช่น สิ่งพิมพ์ ใบปลิว และนิตยสารที่มีชื่อเสียงต่าง ๆ และโจทก์ยังโฆษณาสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า “ANNA SUI” ของโจทก์ผ่านทางเว็บไซต์ “www.annasui.com” ในอินเทอร์เน็ตตาม และภาพถ่ายเว็บไซต์ที่ระบุเกี่ยวกับสินค้าและบริการต่าง ๆ ของโจทก์ นอกจากนั้นสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า “ANNA SUI” ของโจทก์ยังมีวางจำหน่ายในหลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทยซึ่งมีการจัดจำหน่ายมาตั้งแต่ปี 2541 โดยโจทก์ได้ทำการโฆษณาสินค้าของโจทก์ในประเทศไทย สินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า “ANNA SUI” ของโจทก์มีวางจำหน่ายอยู่ตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำในประเทศไทย เช่น คิงพาวเวอร์ ห้างสรรพสินค้าอิเซตัน เซน เซ็นทรัล สยามพารากอน ตามภาพถ่ายร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าของโจทก์ ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบดังกล่าวจำเลยมิได้นำสืบพยานหลักฐานโต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่นข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบดังกล่าว ปรากฏว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า “Anna Is” ตามทะเบียนเลขที่ ค158388 ที่นางเสาวณิต ได้รับการจดทะเบียนไว้กับสินค้าจำพวก 25 รายการสินค้า เสื้อ (ยกเว้นเสื้อชั้นในและเสื้อกีฬา) กางเกง (ยกเว้นกางเกงชั้นในและกางเกงกีฬา) นางเสาวณิตเพิ่งยื่นขอจดทะเบียนเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2544 ซึ่งเป็นภายหลังจากที่โจทก์ส่งสินค้าเสื้อและกางเกงภายใต้เครื่องหมายการค้าของโจทก์คำว่า “ANNA SUI” เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยเมื่อปี 2541 ถึง 3 ปี ส่วนเครื่องหมายการค้าคำว่า ในรูปกรอบสี่เหลี่ยมตามทะเบียนเลขที่ ค71611 ที่นายกิตติ ได้รับการจดทะเบียนไว้กับสินค้าจำพวก 20 รายการสินค้า ที่นอน นายกิตติได้ยื่นขอจดทะเบียนเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2539 ก่อนที่โจทก์จะส่งสินค้าจำพวกเครื่องนอน หมอน ปลอกหมอน ผ้าห่มของโจทก์เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยเพียงประมาณ 2 ปี เห็นว่า การที่โจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “ANNA SUI” ซึ่งเป็นเครื่องหมายที่มาจากชื่อสกุลของนางสาวแอนนา ซุย (Anna Sui) นักออกแบบสินค้าของโจทก์ในประเทศสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่ปี 2524 โดยได้โฆษณาและจำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า “ANNA SUI” ตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 577343, 590644 และ 590645 ของโจทก์ในหลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทยซึ่งโจทก์ได้ส่งสินค้าของโจทก์ดังกล่าวมาจำหน่ายในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2541 ที่คิงพาวเวอร์และห้างสรรพสินค้าที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นอิเซตัน เซน เซ็นทรัล และสยามพารากอน ก่อนที่โจทก์จะยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “ANNA SUI” ทั้ง 3 คำขอ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2547 วันที่ 18 พฤษภาคม 2548 และวันที่ 18 พฤษภาคม 2548 ตามลำดับ หลายปี แสดงให้เห็นว่าโจทก์ได้ใช้คำว่า “ANNA SUI” ซึ่งชื่อสกุลนักออกแบบสินค้าของโจทก์เป็นเครื่องหมายการค้าโดยไม่ได้ลอกเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้ใด การใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “ANNA SUI” กับสินค้า เสื้อ กางเกง และเครื่องนอนต่าง ๆ ตามคำขอจดทะเบียนทั้ง 3 คำขอ ของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “ANNA SUI” โดยสุจริตตลอดมาก่อนที่โจทก์จะยื่นคำขอจดทะเบียนทั้ง 3 คำขอ นั้น กรณีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “ANNA SUI” กับสินค้าจำพวก 25 รายการสินค้า เสื้อ กางเกง จำพวก 20 รายการสินค้า หมอน ชุดเครื่องนอน และจำพวก 24 รายการสินค้า ปลอกหมอน ผ้าห่ม ซึ่งคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “Anna Is” ของนางเสาวณิตซึ่งได้รับการจดทะเบียนไว้กับสินค้าจำพวก 25 รายการสินค้า เสื้อ กางเกง และคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า ในรูปกรอบสี่เหลี่ยมของนายกิตติซึ่งได้รับการจดทะเบียนไว้กับสินค้าจำพวก 20 รายการสินค้า ที่นอน อันเป็นการขอจดทะเบียนสำหรับสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกัน ที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเห็นว่ามีลักษณะอย่างเดียวกัน เมื่อปรากฏว่าโจทก์กับนางเสาวณิตและนายกิตติผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า “ANNA SUI” คำว่า “AnnaIs” และคำว่า ในรูปกรอบสี่เหลี่ยม ตามลำดับ ต่างคนต่างได้ใช้เครื่องหมายการค้าของตนกับสินค้าที่ขอจดทะเบียนและได้รับการจดทะเบียนดังกล่าวมาแล้วด้วยกันโดยสุจริตในประเทศไทย นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจึงชอบที่จะรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำว่า “ANNA SUI” ตามคำขอเลขที่ 577343, 590644 และ 590645 ของโจทก์โดยนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าอาจกำหนดเงื่อนไขและข้อจำกัดเกี่ยวกับวิธีการใช้และเขตแห่งการใช้เครื่องหมายการค้าตามคำขอทั้ง 3 คำขอ ของโจทก์นั้นหรือกำหนดข้อจำกัดอื่นที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเห็นสมควรก็ได้ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 27 กรณีไม่จำต้องพิจารณาว่ามีพฤติการณ์พิเศษที่สมควรรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “ANNA SUI” ตามคำขอทั้ง 3 คำขอของโจทก์หรือไม่ต่อไป เพราะเหตุที่จะรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามบทบัญญัติมาตรา 27 ดังกล่าวจะเป็นเหตุใดเหตุหนึ่งระหว่างกรณีที่ผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ากับบุคคลที่ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้วต่างคนต่างได้ใช้เครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกันนั้นมาด้วยกันโดยสุจริต กับกรณีที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเห็นว่ามีพฤติการณ์พิเศษที่นายทะเบียน เครื่องหมายการค้าเห็นสมควรรับจดทะเบียนก็ได้ดังได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่เพียงพอที่จะรับฟังว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีการใช้หรือโฆษณาเป็นที่แพร่หลายจนทำให้สาธารณชนในประเทศไทยได้รู้จักเป็นอย่างดี ถือไม่ได้ว่ามีพฤติการณ์พิเศษที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจะรับจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 27 คำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามคำขอเลขที่ 577343, 590644 และ 590645 จึงถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายและพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 9 หมายเลข 15 และหมายเลข 21 เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 12 หมายเลข 18 และหมายเลข 23 และให้จำเลยพิจารณาดำเนินการตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “ANNA SUI” เลขที่ 577343, 590644 และ 590645 ของโจทก์ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 27 ต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

Share