คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2923/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 297,83 และคดีได้ความตรงความเป็นจริงว่า ศาลชั้นต้น ได้สอบคำให้การจำเลยพร้อมกับสอบเรื่องทนายความด้วยแล้ว แม้จะปรากฏว่าศาลชั้นต้นไม่จดบันทึกเกี่ยวกับการสอบถามจำเลย เรื่องทนายความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 173 วรรคสอง ไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาก็ตาม แต่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่จะใช้บังคับได้ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 48บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของศาลต้องจดแจ้งรายงานการนั่งพิจารณาหรือกระบวนพิจารณาอื่น ๆ ของศาลไว้ทุกครั้งและรายงานนั้นต้องมีข้อความโดยย่อเกี่ยวด้วยเรื่องที่กระทำและรายการข้อสำคัญอื่น ๆ ซึ่งเห็นได้ว่าแม้การจดรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจะเป็นการไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นก็ตาม แต่เมื่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208(2)บัญญัติว่า ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นเป็นการจำเป็น เนื่องจาก ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณา ก็ให้ พิพากษาสั่งให้ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาและพิพากษาหรือสั่งใหม่ตามรูปคดี ดังนั้น เมื่อคดีได้ความชัดแจ้งว่าศาลชั้นต้น ได้สอบคำให้การจำเลยพร้อมกับสอบเรื่องทนายความแล้ว กรณีจึงไม่มีเหตุอันสมควรที่จะให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ การที่ศาลอุทธรณ์ไม่ได้ให้ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาและพิพากษาหรือสั่งใหม่ตามรูปคดีจึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 297
จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 297 จำเลยทั้งสามอายุไม่เกิน17 ปี เห็นว่า ยังไม่สมควรลงโทษ แต่ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 74 โดยให้ส่งตัวจำเลยทั้งสามไปฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดขอนแก่นจนกว่าจำเลยทั้งสามจะมีอายุครบสิบแปดปีบริบูรณ์
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 เพียงข้อเดียวว่า การที่ศาลชั้นต้นไม่จดบันทึกเกี่ยวกับการสอบถามจำเลยที่ 3 เรื่องทนายความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 วรรคสองไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 48 เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบหรือไม่ และศาลอุทธรณ์ภาค 1 ต้องสั่งให้ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาและพิพากษาหรือสั่งใหม่หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 บัญญัติว่า วิธีพิจารณาข้อใดซึ่งประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 48 บัญญัติว่า ในคดีทุกเรื่อง ให้เป็นหน้าที่ของศาลต้องจดแจ้งรายงานการนั่งพิจารณาหรือกระบวนพิจารณาอื่น ๆของศาลไว้ทุกครั้ง รายงานนั้นต้องมีรายการต่อไปนี้ (4) ข้อความโดยย่อเกี่ยวด้วยเรื่องที่กระทำและรายการข้อสำคัญอื่น ๆ เมื่อมีกฎหมายบัญญัติไว้หรือเมื่อศาลเห็นเป็นการจำเป็นก็ให้ศาลจดบันทึก(โดยจดรวมไว้ในรายงานพิสดาร หรืออีกส่วนหนึ่งต่างหาก) ซึ่งคำแถลงหรือคำคัดค้านในข้อสำคัญ ข้อตกลง คำชี้ขาด คำสั่งหรือการอื่น ๆ หรือกระบวนพิจารณาที่ทำด้วยวาจาตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ แม้การจดรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 3 มกราคม 2540 จะไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 48 ดังกล่าว แต่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208(2) บัญญัติว่า ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นเป็นการจำเป็นเนื่องจากศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณาก็ให้พิพากษาสั่งให้ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาและพิพากษาหรือสั่งใหม่ตามรูปคดี ดังนั้น เมื่อได้ความตามความเป็นจริงว่าศาลชั้นต้นได้สอบถามคำให้การของจำเลยที่ 3 พร้อมกับสอบถามเรื่องทนายความแล้ว จำเลยที่ 3 ไม่ต้องการทนายความและรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกประการ ดังนี้ ก็ไม่มีเหตุอันสมควรที่จะให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่พิพากษาสั่งให้ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาและพิพากษาหรือสั่งใหม่ตามรูปคดีนี้ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล
พิพากษายืน

Share