แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำบรรยายฟ้องของโจทก์เป็นที่เข้าใจได้แล้วว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง จำเลยทำสุรากลั่นบรรจุถุงพลาสติก 4 ใบ บรรจุถุงพลาสติก 7 ถุง บรรจุแกลลอน 20 ใบ ปริมาณ 592 ลิตร โดยไม่ได้รับอนุญาต แล้วจำเลยมีสุรากลั่นจำนวนและปริมาณดังกล่าวไว้ในครอบครอง จากนั้นจำเลยขายสุรากลั่นจำนวนและปริมาณดังกล่าว โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นสุราที่ทำขึ้นโดยฝ่าฝืนกฎหมาย เป็นการกระทำในคราวเดียวกันและต่อเนื่องกัน กล่าวคือ เมื่อจำเลยทำสุรากลั่นแล้ว จำเลยมีสุรากลั่นดังกล่าวไว้ในครอบครอง จากนั้นขายสุรากลั่นนั้น การกระทำความผิด ของจำเลยสำเร็จไปในแต่ละขั้นตอนของการกระทำแต่ละครั้ง หาได้ขัดแย้งหรือขัดต่อเหตุผลแต่ประการใดไม่ ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
การที่จำเลยทำสุรากลั่นโดยไม่ได้รับอนุญาต กับการมีไว้ในครอบครองซึ่งสุรากลั่น แม้สุรากลั่นจะเป็นจำนวนเดียวกัน แต่ความผิดแต่ละฐานต่างมีสภาพและลักษณะของการกระทำความผิดที่แตกต่างกันและสามารถแยกเป็นคนละส่วนต่างหากจากกันได้ และ พ.ร.บ. สุรา พ.ศ. 2493 บัญญัติความผิดและบทลงโทษไว้คนละมาตรากัน จึงเป็นความผิดต่างกรรมกัน
ความผิดฐานขายสุรานั้น ตาม พ.ร.บ. สุรา พ.ศ. 2493 มาตรา 31 มีระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท สำหรับมาตรา 30 เป็นบทบัญญัติความผิดฐานฝ่าฝืนมาตรา 5 คือ การทำสุรา หรือมีภาชนะหรือเครื่องกลั่นสำหรับทำสุราไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และถ้าได้ขายสุราที่ทำขึ้นนั้นด้วยต้องระวางโทษหนักขึ้น เป็นบทฝ่าฝืนโทษจากการทำสุราเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่บทบัญญัติให้การขายสุราที่ทำขึ้นเป็นความผิดตามมาตรานี้อีกบทหนึ่ง ดังนั้นที่จำเลย ขายสุรากลั่นที่จำเลยทำขึ้นโดยไม่ได้รับอนุญาตจึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 30 แต่เป็นความผิดตามมาตรา 31
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ. สุรา พ.ศ. ๒๔๙๓ มาตรา ๕, ๓๐, ๓๑, ๓๒, ๔๕ ป.อ. มาตรา ๙๑ และริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. สุรา พ.ศ. ๒๔๙๓ มาตรา ๕, ๓๐, ๓๑, ๓๒, ๔๕ เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๙๑ ฐานทำสุรากลั่น จำคุก ๒ เดือน ปรับ ๕,๐๐๐ บาท ฐานมีสุรากลั่น จำคุก ๒ เดือน ปรับ ๕,๐๐๐ บาท ฐานขายสุรากลั่น จำคุก ๒ เดือน ปรับ ๕,๐๐๐ บาท รวมจำคุก ๖ เดือน ปรับ ๑๕,๐๐๐ บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตาม ป.อ. มาตรา ๗๘ กึ่งหนึ่ง คงจำคุก ๓ เดือน และปรับ ๗,๕๐๐ บาท เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังมีกำหนด ๓ เดือน แทนตาม ป.อ. มาตรา ๒๓ ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา ๒๙, ๓๐ ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๕ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยฐานมีสุรากลั่น ปรับ ๑,๐๐๐ บาท ลดโทษให้ตาม ป.อ. มาตรา ๗๘ กึ่งหนึ่งแล้วคงปรับ ๕๐๐ บาท เมื่อรวมกับโทษในความผิดฐานทำสุรากลั่นและฐานขายสุรากลั่นตาม คำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วรวมจำคุก ๒ เดือน และปรับ ๕,๕๐๐ บาท ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขัง นอกจากที่แก้ให้เป็น ไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายประการแรกว่า ฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับการที่จำเลย มีและขายสุรากลั่นจำนวนและปริมาณตามฟ้อง ขัดแย้งกันเนื่องจากหากจำเลยมีสุรากลั่นไว้ในครอบครองย่อมแสดงว่าจำเลยไม่ได้ขายสุรากลั่นดังกล่าว หรือหากจำเลยขายสุรากลั่นไปแล้ว จำเลยย่อมไม่มีสุรากลั่นไว้ในครอบครองอีก ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม นั้น เห็นว่า จากคำบรรยายฟ้องของโจทก์เป็นที่เข้าใจได้แล้วว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องจำเลยทำสุรากลั่นบรรจุถังพลาสติก ๔ ใบ บรรจุถุงพลาสติก ๗ ถุง บรรจุแกลลอน ๒๐ ใบ ปริมาณ ๕๙๒ ลิตร โดยไม่ได้รับใบอนุญาต แล้วจำเลยมีสุรากลั่นจำนวนและปริมาณดังกล่าวไว้ในครอบครอง จากนั้นจำเลยขายสุรากลั่นจำนวนและปริมาณดังกล่าว โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นสุราที่ทำขึ้นโดยฝ่าฝืนกฎหมาย เป็นการกระทำในคราวเดียวกันและต่อเนื่องกัน กล่าวคือ เมื่อจำเลยทำสุรากลั่นแล้ว จำเลยมีสุรากลั่นดังกล่าวไว้ในครอบครอง จากนั้นจำเลยขายสุรากลั่นนั้น การกระทำความผิดของจำเลยสำเร็จไปในแต่ละขั้นตอนของการกระทำแต่ละครั้ง หาได้ขัดแย้งกันหรือขัดต่อเหตุผลแต่ประการใดไม่ ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายประการต่อมาว่า สุรากลั่นของกลางที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องทั้งสามข้อหา เป็นสุรากลั่นจำนวนเดียวกัน เมื่อจำเลยรับว่าเป็นผู้ทำสุรากลั่นดังกล่าวแล้ว จำเลยก็ต้องมีสุราที่จำเลยเป็นผู้กลั่นไว้ในครอบครอง เพราะเป็นผลผลิตที่จำเลยได้ทำขึ้น ซึ่งเป็นการกระทำอันเกิดจากเจตนาและการกระทำอันเดียวกันต่อเนื่องกัน หาใช่มีเจตนาแตกต่างกันไม่ การกระทำความผิดของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทไม่ใช่ความผิดหลายกรรมต่างกันนั้น เห็นว่า แม้สุรากลั่นของกลางคดีนี้จะเป็นจำนวนเดียวกันแต่ก็เห็นได้ว่าในความผิด แต่ละฐานต่างกันมีสภาพและลักษณะของการกระทำความผิดที่แตกต่างกันและสามารถแยกเป็นคนละส่วนต่างหากจากกันได้ และ พ.ร.บ. สุรา พ.ศ. ๒๔๙๓ มาตรา ๕, ๓๐, ๓๒ บัญญัติความผิดและบทลงโทษฐานทำสุราโดยไม่ได้รับ ใบอนุญาต กับการที่มีไว้ในครอบครองซึ่งสุราที่รู้ว่าทำขึ้นโดยฝ่าฝืนกฎหมายไว้คนละมาตรากัน ดังนั้นการที่จำเลยทำสุรากลั่นโดยไม่ได้รับใบอนุญาตกับการมีไว้ในครอบครองซึ่งสุรากลั่นนั้น จึงเป็นความผิดต่างกรรมกันต้องลงโทษ ทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๙๑ ที่ศาลล่างทั้งสองเรียงกระทงลงโทษมานั้นชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่งสำหรับความผิดฐานขายสุรา นั้น ตาม พ.ร.บ. สุรา พ.ศ. ๒๔๙๓ มาตรา ๓๑ มีระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท สำหรับมาตรา ๓๐ เป็นบทบัญญัติความผิดฐานฝ่าฝืนมาตรา ๕ คือ การทำสุรา หรือมีภาชนะหรือเครื่องกลั่นสำหรับ ทำสุราไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และถ้าได้ขายสุราที่ทำขึ้นนั้นด้วยต้องระวางโทษหนักขึ้นเป็นบทเพิ่มโทษจากการทำสุราเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่บทบัญญัติให้การขายสุราที่ทำขึ้นเป็นความผิดตามมาตรานี้อีกบทหนึ่ง ดังนั้น ที่จำเลยขายสุรากลั่นที่จำเลยทำขึ้นโดยไม่ได้รับอนุญาตจึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา ๓๐ ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยในความผิดนี้ จำคุก ๒ เดือน ปรับห้าพันบาท เป็นการลงโทษเกินกว่าอัตราโทษที่กฎหมายกำหนด จึงไม่ถูกต้องปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยไม่ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๒๒๕
พิพากษาแก้เป็นว่า ลงโทษจำเลยฐานขายสุรากลั่นปรับ ๕,๐๐๐ บาท ลดโทษกึ่งหนึ่งคงปรับ ๒,๕๐๐ บาท รวมกับโทษฐานอื่นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๕ แล้ว เป็นจำคุก ๑ เดือน ปรับ ๕,๕๐๐ บาท เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๕ .