คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1677/2547

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอต่อศาลจังหวัดสุรินทร์ว่า ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินเฉพาะส่วนโดยการครอบครองปรปักษ์ เป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ แต่เมื่อผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่าที่ดินเป็นของผู้คัดค้าน ผู้ร้องไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินคดีจึงเปลี่ยนเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดิน อันเป็นคดีมีทุนทรัพย์ มิใช่คดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้อีกต่อไป เมื่อทุนทรัพย์ไม่เกิน 300,000 บาท จึงอยู่ในอำนาจของศาลแขวงสุรินทร์ที่จะพิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25(4) ศาลจังหวัดสุรินทร์ชอบที่จะมีคำสั่งให้โอนคดีไปยังศาลแขวงสุรินทร์ได้

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า เดิมที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1934 มีชื่อนายผาย ใจกล้า เป็นเจ้าของผู้ครอบครองทำประโยชน์ ต่อมานายผายถึงแก่กรรม และเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2530 ทายาทของนายผายได้ขายที่ดินดังกล่าวเฉพาะส่วนทางด้านทิศตะวันออก เนื้อที่ประมาณ 391 ตารางวา ให้แก่ผู้ร้องในราคา500 บาท หลังจากนั้นผู้ร้องได้ครอบครองทำประโยชน์โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมาเป็นเวลา 15 ปีเศษ ต่อมาที่ดินแปลงนี้ได้เปลี่ยนเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 10172 เนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 16 ตารางวา ขอให้มีคำสั่งว่าที่ดินแปลงดังกล่าวเฉพาะส่วนที่ผู้ร้องครอบครองเนื้อที่ 391 ตารางวา เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องโดยการครอบครองปรปักษ์ ให้เจ้าพนักงานที่ดินทำการรังวัดแบ่งแยกออกเป็นโฉนดที่ดินอีกฉบับหนึ่งให้แก่ผู้ร้อง

ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นบุตรของนายผาย นายผายกับมารดาของผู้คัดค้านมิได้จดทะเบียนสมรสกัน มีบุตรด้วยกัน 8 คน นายผายให้การรับรองบุตรทุกคนโดยให้ใช้นามสกุลอุปการะเลี้ยงดู ตลอดจนให้การศึกษา ทั้งแสดงออกแก่บุคคลทั่วไปว่าบุตรทุกคนเป็นบุตรของตนเอง เมื่อนายผายถึงแก่กรรม ที่ดินพิพาทจึงเป็นมรดกตกแก่บุตรทุกคนรวมทั้งผู้คัดค้าน ทายาทของนายผายไม่ได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้อง และผู้ร้องไม่เคยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแต่อย่างใด ผู้ร้องจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ ขอให้ยกคำร้องขอ

ศาลจังหวัดสุรินทร์เห็นว่า คดีนี้เป็นการโต้แย้งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทจึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ โดยทุนทรัพย์คดีนี้ไม่เกิน 300,000 บาท ซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้น(ศาลแขวงสุรินทร์) จึงมีคำสั่งให้โอนคดีไปยังศาลชั้นต้นตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 16 วรรคท้าย

ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์และไม่อยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกคำร้องขอ

ผู้ร้องอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องมีว่า คดีนี้เป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณราคาเป็นเงินได้หรือคดีมีทุนทรัพย์หรือไม่ เห็นว่าการที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนโดยการครอบครองปรปักษ์ เป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ แต่เมื่อผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้คัดค้าน ผู้ร้องไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท คดีจึงเปลี่ยนเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดิน อันเป็นคดีมีทุนทรัพย์ มิใช่คดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้อีกต่อไป เมื่อทุนทรัพย์คดีนี้ไม่เกิน 300,000 บาท คดีจึงอยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25(4) ศาลจังหวัดสุรินทร์ชอบที่จะมีคำสั่งให้โอนคดีเรื่องนี้ไปยังศาลชั้นต้นได้ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้นแล้วพิพากษายกคำร้องขอมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังขึ้น

พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่”

Share