คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2923/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยมีที่ดินได้เสนอโจทก์เพื่อร่วมทำโครงการจัดสรรที่ดินพร้อมบ้านกับจำเลยพร้อมอนุมัติกู้เงินเพื่อลงทุนด้วยโจทก์อนุมัติ ได้ทำสัญญากัน 2 ฉบับ คือสัญญากู้เงินและสัญญาให้ผู้ซื้อกู้เงินโจทก์ไปซื้อที่ดินและบ้านตามโครงการดังนี้ สัญญาฉบับหลังเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาฉบับแรก ข้อความในสัญญาแต่ละฉบับมีผลผูกพันบังคับกันได้ ดังนั้น การตีความเจตนาของคู่สัญญาจึงต้องแปลจากสัญญาทั้ง 2 ฉบับรวมกัน ไม่ใช่ยกเอาเฉพาะข้อความตอนใดตอนหนึ่งหรือสัญญาฉบับใดฉบับหนึ่งหรือข้อใดข้อหนึ่งมาแปล จึงไม่ใช่นิติกรรมอำพราง และไม่ใช่สัญญากู้เงินโดยวิธีออกตั๋วสัญญาใช้เงินอย่างเดียว สัญญาทั้ง 2 ฉบับจึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนกันเป็นพิเศษยิ่งกว่าสัญญากู้ธรรมดาคู่สัญญาแต่ละฝ่ายต่างมีสิทธิและหน้าที่จะต้องปฏิบัติตอบแทนซึ่งกันและกันตามข้อความที่ระบุไว้ในสัญญา
โจทก์ยอมให้จำเลยกู้เงินสูงกว่าจำนวนที่ขอกู้ในการเสนอโครงการครั้งแรกแสดงว่าได้ตกลงเปลี่ยนแปลงวงเงินกันแล้วเท่ากับเป็นการยืนยันตามข้อตกลงนั้น ข้อตกลงนี้จึงผูกพันโจทก์ โจทก์จะปฏิเสธไม่ให้จำเลยและผู้ซื้อที่ดินกับบ้านกู้เงินถึงจำนวนดังกล่าวไม่ได้ เป็นการผิดสัญญา
เมื่อต่างฝ่ายต่างมีวัตถุแห่งหนี้เป็นเงินที่จะต้องชำระซึ่งกันและกัน ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้หักกลบลบหนี้กันได้เพราะเป็นความสะดวกในการบังคับคดี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันกู้ยืมเงินโจทก์ไป ๒๖,๒๐๐,๐๐๐ บาทจำเลยได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้โจทก์ และได้นำที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาจำนองค้ำประกันหนี้ ต่อมาจำเลยได้ขอขึ้นเงินจำนองอีกสามครั้ง รวมเป็นเงินจำนองทั้งสิ้น ๑๖,๔๖๐,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ได้ชำระเงินต้นและดอกเบี้ยบางส่วน คงค้างชำระเงินต้น ๑๙,๓๐๖,๙๑๔.๖๕ บาท และค้างชำระดอกเบี้ย ๔๑๐,๕๓๖.๔๒ บาทจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ผิดนัด โจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองแล้วจำเลยเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองหากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองทั้งหมดออกขายทอดตลาด
จำเลยทั้งสามให้การและฟ้องแย้งว่า การทำสัญญากู้ สัญญาจำนองและการออกตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นนิติกรรมอำพรางของสัญญา โครงการจัดสรรที่ดินพร้อมบ้านขายของหมู่บ้านดีสมโชค ซึ่งโจทก์ตกลงรับโครงการนี้ โดยตกลงยินยอมให้จำเลยกู้เงินในวงเงินปี ๒๕๑๖ จำนวน ๒๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท แต่ขณะจะเริ่มก่อสร้างวัสดุมีราคาแพงขึ้น โจทก์ตกลงเพิ่มวงเงินกู้เป็น ๔๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท โดยไม่มีกำหนดเวลาใช้คืนเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาที่ดิน ก่อสร้างบ้าน อาคารพาณิชย์และการสาธารณูปโภคต่าง ๆบนที่ดิน ๑๐๓ ไร่ของจำเลยทั้สาม และสัญญาอนุมัติวงเงินสำหรับลูกค้ากู้เงินเพื่อนำไปซื้อที่ดินและบ้านในโครงการอีกเป็นจำนวน ๘๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท โจทก์โดยตัวแทนโจทก์และผู้เกี่ยวข้องได้ร่วมกันแสวงหาผลประโยชน์อันไม่ควรได้และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบกระทำละเมิดและปฏิบัติผิดสัญญา กล่าวคือ จ่ายเงินให้จำเลยเพียง ๒๒,๙๔๐,๐๐๐ บาทเป็นการผิดเงื่อนไข ทำให้จำเลยเสียหาย โจทก์ไม่ปฏิบัติตามสัญญาโดยอนุมัติให้ผู้ซื้อหรือผู้เช่าซื้อกู้ร้อยละห้าสิบ ทำให้ส่วนที่เหลือเป็นภาระของจำเลย ซึ่งถ้าโจทก์ปฏิบัติตามสัญญา จำเลยจะชำระหนี้ให้โจทก์เพิ่มขึ้นอีก ดังนั้นเงินยอดนี้ถือว่าจำเลยชำระให้โจทก์เรียบร้อยแล้วแต่โจทก์มิได้หักกลบลบหนี้ให้จำเลย จึงต้องรับผิดจ่ายเงินจำนวนนี้ให้จำเลย โจทก์ผิดสัญญาไม่ให้จำเลยกู้เงิน ทำให้จำเลยไม่สามารถดำเนินงานตามโครงการได้ทำให้ขาดผลกำไรไม่ต่ำกว่า ๙๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท จำเลยสร้างบ้านแบบต่าง ๆ จำนวนสามสิบหลังแต่แล้วเสร็จบริบูรณ์เพียงยี่สิบเอ็ดหลัง มีผู้ซื้อหรือผู้เช่าซื้อตกลงซื้อและพร้อมที่จะปฏิบัติตามสัญญา โดยได้ส่งหลักฐานการกู้เงินให้โจทก์เรียบร้อยแล้วทุกรายตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๑๙ แต่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามสัญญาทำให้จำเลยขาดการชำระยอดเงินกู้ให้แก่โจทก์โดยความผิดของโจทก์คิดเป็นเงิน ๕,๒๘๑,๐๐๐ บาท คิดเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้นที่จำเลยได้รับเป็นเงิน ๑๒๐,๗๑๖,๘๗๓.๙๖ บาทขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์ชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งทำนองเดียวกันกับฟ้องเดิม และให้การต่อสู้ว่าฟ้องแย้งเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ชำระเงิน ๑๘,๑๓๕,๖๙๗.๑๖ บาทพร้อมดอกเบี้ยให้แก่จำเลย และให้โจทก์ทำการไถ่ถอนจำนองตามฟ้องทั้งหมด เพราะจำเลยชำระหนี้หมดแล้ว
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินต้นและดอกเบี้ยถึงวันฟ้องรวม ๒๑,๔๕๓,๖๗๔.๘๕ บาท พร้อมดอกเบี้ย เป็นการไถ่ถอนจำนองให้แก่โจทก์หากไม่ชำระ ให้ยึดทรัพย์ที่จำนองทั้งหมดออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้โจทก์ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสาม
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้ได้ความว่าจำเลยทั้งสามมีที่ดินอยู่ที่ตำบลคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร (หมู่บ้านดีสมโชค) ประสงค์จะจัดสรรที่ดินและบ้านขายแก่บุคคลทั่วไป เมื่อวันที่ ๒๔เมษายน ๒๕๑๖ จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ได้เสนอโครงการจัดสรรที่ดินพร้อมบ้าน แผนที่ของที่ดินแผนผังที่ดินจัดสรร แผนที่ที่ดินหลังโฉนด พร้อมแบบบ้านที่จะสร้างประมาณ ๓๐๐ หลังไปยังโจทก์เพื่อพิจารณาโครงการและร่วมทำโครงการจัดสรรที่ดินพร้อมบ้านกับจำเลยพร้อมขออนุมัติเงินกู้ประมาณ ๒๐-๒๕ ล้านบาทเพื่อลงทุนตามโครงการขั้นแรก ตามเอกสารหมาย ล.๓๘, ล.๓๙ โจทก์พิจารณาโครงการของจำเลยแล้ว มีหนังสือลงวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๑๖ หมาย ล.๑๓๒ ตอบอนุมัติในหลักการ เมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๑๖ โจทก์กับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ได้ทำสัญญากันสองฉบับ ฉบับแรกเรียกว่า “สัญญากู้เงิน”ฉบับหลังเรียกว่า “สัญญาให้ผู้ซื้อกู้เงินไปซื้อที่ดินและบ้านตามโครงการดีสมโชค”สัญญากู้เงิน (หมาย จ.๑๑) มีข้อความว่า
ข้อ ๑. “ผู้กู้” (จำเลย) ได้ตกลงกู้เงิน “ผู้ให้กู้” (โจทก์) เป็นจำนวน ๑๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท (สิบสี่ล้านบาท)
ข้อ ๒. เงินจำนวน ๑๔ ล้านบาทนี้ “ผู้กู้” ยังมิได้รับไปจาก “ผู้ให้กู้” ไปทั้งหมดในวันทำสัญญานี้ เมื่อ “ผู้กู้” ได้รับเงินที่กู้ไปจาก “ผู้ให้กู้” เป็นจำนวนเท่าใดเมื่อใด “ผู้กู้”จะออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้ “ผู้ให้กู้” ยึดถือไว้เป็นหลักฐาน ตั๋วสัญญาใช้เงินนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญากู้ฉบับนี้ ในตั๋วสัญญาใช้เงินนี้ จะมีระบุไว้ชัดเจนว่า “ผู้กู้” ได้รับเงินที่กู้ไปจาก “ผู้ให้กู้” แล้วเป็นจำนวนเท่าใด เมื่อใด และจะชำระคืนให้เสร็จสิ้นเมื่อใด
ข้อ ๓. ในการทำตั๋วสัญญาใช้เงินตามข้อ ๒ “ผู้กู้” จะทำตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อชำระดอกเบี้ยให้ “ผู้ให้กู้” ยึดไว้เป็นหลักฐาน ตั๋วสัญญาใช้เงินตามข้อนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาฉบับนี้เช่นเดียวกัน
ข้อ ๔. “ผู้กู้” ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ “ผู้ให้กู้” ในอัตราร้อยละ ๑๔ ต่อปีนับจากวันกู้จนกว่าจะชำระเงินเสร็จ โดยชำระดอกเบี้ยล่วงหน้าให้ ๑ เดือน และในวันที่ ๑๐ ของทุก ๆ เดือนต่อไป
ข้อ ๕. “ผู้กู้” สัญญาว่า ถ้า “ผู้กู้” ย้ายตำบลที่อยู่จากภูมิลำเนาดังกล่าวข้างต้นตามสัญญานี้ “ผู้กู้” มีหน้าที่แจ้งให้ “ผู้ให้กู้” ทราบภายใน ๗ วัน มิฉะนั้นถือว่า “ผู้กู้”ผิดสัญญาในสาระสำคัญ “ผู้ให้กู้” มีสิทธิเรียกร้องเงินกู้ทั้งหมดคืนโดยทันที
ข้อ ๖. เพื่อเป็นประกันหนี้รายนี้ “ผู้กู้” ได้นำที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามบัญชีต่อท้ายสัญญานี้มาจดทะเบียนจำนองให้ “ผู้ให้กู้” ไว้ สัญญาจำนองและข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญานี้
ข้อ ๗. ถ้า “ผู้กู้” ผิดสัญญาหรือข้อตกลงซึ่งได้ทำไว้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญานี้แม้เพียงข้อใดข้อหนึ่ง “ผู้ให้กู้” มีสิทธิและอำนาจฟ้องศาลเพื่อบังคับให้ “ผู้กู้” ชำระหนี้ตามสัญญานี้ และข้อตกลงตามตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญานี้ รวมตลอดถึงค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น ซึ่ง”ผู้ให้กู้” ได้รับจากการผิดสัญญาและข้อตกลงของ “ผู้กู้” ได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า
ส่วน “สัญญาให้ผู้ซื้อกู้เงินไปซื้อที่ดินและบ้านตามโครงการดีสมโชค” (เอกสารหมาย ล.๔๐) มีข้อความว่า
ข้อ ๑. “ผู้กู้” (จำเลย) ได้กู้เงิน “ผู้ให้กู้” (โจทก์) ไปตามสัญญากู้ลงวันที่ ๑๒กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ เพื่อนำเงินไปใช้จ่ายในการจัดสรรพัฒนาที่ดินและปลูกบ้านให้บุคคลทั่วไปซื้อหรือเช่าซื้อ
ข้อ ๒. “ผู้กู้” สัญญาจะให้ “ผู้ให้กู้” มีหน้าที่ในการควบคุมดูแล อนุมัติโครงการแบบแปลน แผนผัง ในการจัดสรรพัฒนาที่ดินและการปลูกสร้างบ้านของ “ผู้กู้” ทั้งหมดตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งเสร็จสิ้น
ข้อ ๓. ในการที่ “ผู้ให้กู้” ต้องมีภาระหน้าที่ตามข้อ ๒ นี้ “ผู้กู้” ตกลงยินยอมจ่ายเงินค่าควบคุมดูแลและตรวจสอบบ้านที่ “ผู้กู้” สร้างขึ้นทุกหลัง หลังละ ๗๐๐ บาท
ข้อ ๔. “ผู้ให้กู้” สัญญาว่า ถ้าผู้ซื้อหรือเช่าซื้อที่ดินและบ้านของ “ผู้กู้” ไม่มีเงินพอหากผู้ซื้อหรือเช่าซื้อสามารถชำระเงินให้ “ผู้กู้” เป็นจำนวนร้อยละ ๒๕ ของราคาที่ดินและบ้านที่ซื้อหรือเช่าซื้อแล้ว “ผู้ให้กู้” จะให้ผู้ซื้อหรือเช่าซื้อกู้เงินส่วนที่ยังขาดอยู่เพื่อไปชำระให้แก่ “ผู้กู้” โดยผู้ซื้อหรือเช่าซื้อจะต้องนำที่ดินและบ้านที่ซื้อหรือเช่าซื้อมาจดทะเบียนจำนองให้ “ผู้ให้กู้” ไว้เป็นหลักประกัน โดยเสียดอกเบี้ยให้ “ผู้ให้กู้”ในอัตราร้อยละไม่เกิน ๑๓ ต่อปี และผู้ซื้อหรือเช่าซื้อจะผ่อนชำระเงินที่กู้ไปให้ “ผู้ให้กู้” เป็นรายเดือน โดยจะต้องชำระให้เสร็จสิ้นภายในเวลาไม่เกิน ๑๕ ปี
ในการที่ “ผู้ให้กู้” มีหน้าที่ต้องหาเงินมาให้ผู้ซื้อหรือเช่าซื้อกู้ดังกล่าวข้างบนนี้”ผู้กู้” ตกลงยินยอมให้ผลประโยชน์แก่ “ผู้ให้กู้” ในอัตราร้อยละ ๒.๕ ของราคาที่ดินและบ้านที่ผู้ซื้อหรือเช่าซื้อ ซื้อหรือเช่าซื้อ
เงินจำนวนร้อยละ ๒.๕ นี้ “ผู้กู้” จะต้องชำระให้ “ผู้ให้กู้” เสมอถึงแม้ผู้ซื้อหรือเช่าซื้อจะไม่ได้กู้เงินจาก “ผู้ให้กู้” ทั้งนี้ก็เพราะ “ผู้ให้กู้” จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจัดหาเงินมาเตรียมพร้อมไว้ให้ผู้ซื้อหรือเช่าซื้อกู้อยู่ตลอดเวลา
ข้อ ๕. สัญญาฉบับนี้ให้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสัญญากู้ลงวันที่ ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๖
ข้อ ๖. ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดผิดสัญญาแม้เพียงข้อใดข้อหนึ่ง คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิฟ้องศาลเพื่อบังคับตามสัญญาได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายทุกอย่างที่พึงจะได้รับจากการผิดสัญญานั้นด้วย
หลังจากนั้นจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ได้ทำสัญญากู้เงินโจทก์อีกห้าครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๑๘ โดยยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี รวมเงินกู้ทั้งหกครั้งเป็นเงิน ๒๖,๒๐๐,๐๐๐ บาท วิธีลดหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ออกให้โจทก์ กระทำโดยให้ผู้ซื้อหรือเช่าซื้อที่ดินและบ้านจากจำเลยกู้เงินโจทก์ตามสัญญาหมาย ล.๔๐ ข้อ ๔ เพื่อนำเงินส่วนนี้ไปทำการลดหนี้ และผู้ซื้อหรือเช่าซื้อต้องนำที่ดินและบ้านที่ซื้อหรือเช่าซื้อไปจำนองไว้แก่โจทก์เป็นประกันหนี้
ศาลฎีกาเห็นว่า สัญญาให้ผู้ซื้อหรือเช่าซื้อกู้เงินโจทก์ไปซื้อที่ดินและบ้านตามโครงการดีสมโชคหมาย ล.๔๐ เป็นส่วนหนึ่งของสัญญากู้เงิน และข้อความในสัญญาแต่ละฉบับนี้มีผลผูกพันบังคับกันได้ ดังนั้น การตีความเจตนาของคู่สัญญาจึงต้องแปลจากสัญญาทั้งสองฉบับรวมกัน ไม่ใช่ยกเอาเฉพาะข้อความตอนใดตอนหนึ่งหรือสัญญาฉบับใดฉบับหนึ่งหรือข้อใดข้อหนึ่งมาแปล จึงไม่ใช่นิติกรรมอำพรางดังจำเลยอ้างเพราะสัญญาดังกล่าวสามารถค้นหาเจตนาของคู่สัญญาได้จากข้อความในสัญญาทั้งสองฉบับนั้นเองมิได้มีนิติกรรมใดถูกอำพรางไว้ และก็ไม่ใช่สัญญากู้เงินโดยวิธีออกตั๋วสัญญาใช้เงินอย่างเดียวดังคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ เพราะการชำระหนี้หรือลดหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินมีสัญญาหมาย ล.๔๐ ข้อ ๔ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยยิ่งกว่านั้นสัญญาหมาย ล.๔๐ นี้ยังให้สิทธิโจทก์เข้าควบคุมดูแลอนุมัติโครงการแบบแปลน แผนผังในการจัดสรรพัฒนาที่ดินและปลูกสร้างบ้านของหมู่บ้านดีสมโชคตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งเสร็จสิ้น โดยจำเลยจะต้องจ่ายเงินค่าควบคุมดูแลและตรวจสอบบ้านที่จำเลยสร้างขึ้นทุกหลัง หลังละ ๗๐๐ บาท ทั้งการที่โจทก์มีหน้าที่ต้องหาเงินมาให้ผู้ซื้อหรือเช่าซื้อกู้ร้อยละเจ็ดสิบห้าของราคาที่ดินและบ้านนั้น จำเลยจะต้องให้ผลประโยชน์แก่โจทก์ร้อยละ ๒.๕ ของราคาที่ดินและบ้านไม่ว่าผู้ซื้อหรือเช่าซื้อจะกู้เงินโจทก์หรือไม่ ด้วยเหตุนี้สัญญาหมาย จ.๑๑ และ ล.๔๐ จึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนกันเป็นพิเศษยิ่งกว่าสัญญากู้ธรรมดา คู่สัญญาแต่ละฝ่ายต่างมีสิทธิและหน้าที่จะต้องปฏิบัติตอบแทนซึ่งกันและกันตามข้อความที่ระบุไว้ในสัญญา เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์กับจำเลยได้นำสัญญาหมาย ล.๔๐ ข้อ ๔ ไปใช้เป็นวิธีลดหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่จำเลยออกให้โจทก์ตามสัญญากู้เงินทุกฉบับ สัญญาหมาย ล.๔๐ นี้จึงมีผลใช้บังคับแก่สัญญากู้เงินทุกฉบับด้วย
ศาลฎีกาวินิจฉัยต่อไปว่า ตั้งแต่วันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๑๖ ถึงวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๑๘ โจทก์ได้ให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ทยอยทำสัญญากู้เงินโจทก์เป็นงวด ๆ รวมหกงวดเป็นเงิน ๒๖,๒๐๐,๐๐๐ บาท อันเป็นจำนวนที่สูงกว่าเงินที่จำเลยขอกู้ในการเสนอโครงการครั้งแรก จึงแสดงชัดว่าโจทก์กับจำเลยได้ตกลงเปลี่ยนแปลงวงเงินที่โจทก์จะให้จำเลยและผู้ซื้อที่ดินกับบ้านกู้เงินโจทก์เพิ่มมากขึ้น และจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ได้มีหนังสือ (ต้นฉบับ) ยืนยันถึงข้อตกลงนี้ไปถึงโจทก์จริง นอกจากนี้จำเลยยังมีนายพิศิษฐ์ผู้จัดการโครงการของบริษัทโจทก์ และนายอนุพงศ์ผู้ร่างหนังสือฉบับนี้มาเบิกความสนับสนุนคำของจำเลยทั้งสามอีก ทั้งคำให้การแก้ฟ้องแย้งของโจทก์ก็มิได้ให้การปฏิเสธในเรื่องนี้คงต่อสู้เพียงว่าเป็นคำให้การ (ฟ้องแย้ง) ที่เคลือบคลุมเท่านั้น ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าเมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๑๖ โจทก์กับจำเลยได้ตกลงเพิ่มวงเงินให้จำเลยกู้เป็น ๔๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท และผู้ซื้อที่ดินและบ้านกู้เป็น ๘๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท เมื่อโจทก์ได้ปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวไปบางส่วนโดยให้จำเลยกู้เพิ่มจากวงเงิน ๒๕,๐๐๐,๐๐๐ บาทไป ๑,๒๐๐,๐๐๐ บาทแล้วเท่ากับเป็นการยืนยันตามข้อตกลงนั้น ข้อตกลงนี้จึงผูกพันโจทก์โจทก์จะปฏิเสธไม่ให้จำเลยและผู้ซื้อที่ดินกับบ้านกู้เงินถึงจำนวนดังกล่าวไม่ได้เป็นการผิดสัญญา
คดีนี้ศาลชั้นต้นนำเงินที่จำเลยเป็นหนี้โจทก์ถึงวันฟ้องหักจากจำนวนเงินค่าเสียหายที่โจทก์จะต้องชำระให้แก่จำเลย ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อต่างฝ่ายต่างมีวัตถุแห่งหนี้เป็นเงินที่จะต้องชำระซึ่งกันและกัน ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้หักกลบลบหนี้กันได้ เพราะเป็นการสะดวกในการบังคับคดี และไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดห้ามไว้ ผลแห่งคดีจึงเป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้ว ฎีกาของจำเลยที่อ้างว่าโจทก์ทิ้งฟ้องอุทธรณ์จึงไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไป
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น กับให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาโดยกำหนดเป็นค่าทนายความรวมเป็นเงิน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งล้านบาท) แทนจำเลยทั้งสามจำเลยทั้งสามฎีกาอย่างคนอนาถา จึงให้โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมชั้นฎีกาต่อศาลชั้นต้นในนามของจำเลยทั้งสาม

Share