คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 914/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับคำให้การ เป็นคำสั่งไม่รับคำคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 จำเลยจึงมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 228(3), 247
ตามรายงานเจ้าหน้าที่ของพนักงานศาลได้ระบุว่า ว. เป็นพี่ชายจำเลยมีอายุเกิน 20 ปี และอยู่บ้านเดียวกัน ถือได้ว่าจำเลยได้รับหมายเรียกโดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 76 ทั้งในหมายเรียกก็ระบุไว้โดยชัดแจ้งว่า ให้จำเลยทำคำให้การแก้คดียื่นต่อศาลภายใน 8 วัน ฉะนั้น เหตุที่จำเลยกล่าวอ้างว่าในวันที่เจ้าพนักงานศาลไปส่งหมายเรียกนั้น จำเลยไม่ได้อยู่บ้านเพราะสามีซึ่งป่วยไปรักษาตัวที่กรุงเทพมหานคร ว. ซึ่งเป็นญาติและอยู่บ้านเดียวกับจำเลยเป็นผู้รับหมายเรียกไว้ ครั้นเมื่อ จำเลยนำสามีกลับมาถึงบ้านตรงกับวันที่ครบกำหนดยื่นคำให้การ จึงโทรขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การออกไปอีก 7 วัน เพื่อไปติดต่อหาทนายความ ที่กรุงเทพมหานครแก้ต่างให้นั้น ไม่เป็นเหตุให้รับคำให้การของจำเลยได้
กรณีของจำเลยเป็นการยื่นคำให้การพ้นกำหนดเวลาตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคหนึ่งได้บัญญัติไว้มิใช่เป็นการขาดนัดยื่นคำให้การตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 197 จึงรับคำให้การของจำเลยไว้พิจารณาในฐานะที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การตามมาตรา 199 ไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ผู้ที่ยังไม่ทราบชื่อได้ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน พ.บ.ก – ๐๐๓๙ มาตามถนนเพชรเกษมมาถึงท้องที่ตำบลหนองปรง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ได้ขับแซงรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียนสมุทรสงคราม ๐๓๒๔๙ ซึ่งขับโดยนายเล็กโฉมหน้าไปทางเดียวกัน เมื่อจวนจะแซงพ้น นายเล็กได้เร่งเครื่องวิ่งด้วยความเร็วสูงแข่งขึ้นไปโดยความประมาทของคนขับรถทั้งสอง ทำให้รถยนต์กระทบกัน เป็นเหตุให้รถยนต์ทั้งสองตกจากถนนลงข้างทาง รถยนต์ที่นายเล็กขับตกลงไปทางด้านทิศตะวันตก นายเล็กถึงแก่ความตาย ส่วนรถยนต์หมายเลขทะเบียน พ.บ.ก – ๐๐๓๙ ตกลงไปทางทิศตะวันออกแล้วเสียหลักวิ่งเข้าชนรั้วและบ้านของโจทก์เสียหายเป็นเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท โดยเหตุที่นายเล็กเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ และผู้ขับไม่ทราบชื่อเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ ได้ขับรถยนต์ไปในทางการที่จ้างของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวให้โจทก์ ขอบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ให้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปีนับแต่วันทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จ
ศาลชั้นต้นส่งหมายเรียกให้จำเลยที่ ๒ รับไว้เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๒๔ โดยนายวารีซึ่งเป็นพี่ชายจำเลยที่ ๒ มีอายุเกินกว่า ๒๐ ปี และอยู่บ้านเรือนเดียวกับจำเลยที่ ๒ ลงชื่อรับหมายเรียกไว้แทน
ต่อมาวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๔ จำเลยที่ ๒ ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การและยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าครบกำหนด จำเลยที่ ๒ยื่นคำให้การในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๔ การที่จำเลยที่ ๒ โทรเลขขอขยายระยะเวลาไม่มีผลในทางกฎหมายแต่อย่างใด จำเลยมายื่นคำให้การในวันนี้ จึงพ้นกำหนดเวลายื่นคำให้การแล้ว ไม่รับคำให้การจำเลยที่ ๒
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับคำให้การเป็นคำสั่งที่ไม่รับคำคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๘จำเลยที่ ๒ จึงมีสิทธิอุทธรณ์และฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๘(๓), ๒๔๗
ที่จำเลยที่ ๒ ฎีกาให้รับคำให้การของจำเลยที่ ๒ โดยอ้างเหตุว่า ในวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๒๔ เจ้าพนักงานศาลไปส่งหมายเรียกให้จำเลยที่ ๒ นั้นจำเลยที่ ๒ ไม่ได้อยู่บ้านเพราะนำสามีซึ่งป่วยไปรักษาตัวที่กรุงเทพมหานครนายวารีซึ่งเป็นญาติและอยู่บ้านเดียวกับจำเลยที่ ๒ เป็นผู้รับหมายเรียกไว้ครั้นต่อมาวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๔ จำเลยที่ ๒ นำสามีกลับมาถึงบ้าน จึงทราบถึงเรื่องหมายเรียกซึ่งปรากฏว่า ครบกำหนดให้จำเลยที่ ๒ ยื่นคำให้การภายในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๔ จึงโทรเลขขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การออกไปอีก ๗ วัน และไปติดต่อหาทนายความที่กรุงเทพมหานครแก้ต่างให้จำเลยที่ ๒ นั้น เห็นว่าตามรายงานเจ้าหน้าที่ของพนักงานศาลจังหวัดระนองได้ระบุว่า นายวารีเป็นพี่ชายของจำเลยที่ ๒ มีอายุเกิน ๒๐ ปี และอยู่บ้านเดียวกันจึงถือว่าจำเลยที่ ๒ ได้รับหมายเรียกโดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๗๖ ทั้งในหมายเรียกก็ระบุไว้โดยชัดแจ้งว่า ให้จำเลยที่ ๒ ทำคำให้การแก้คดียื่นต่อศาลภายใน ๘ วัน ฉะนั้น เหตุที่จำเลยที่ ๒ กล่าวอ้างดังกล่าวข้างต้นจึงไม่เป็นเหตุให้รับคำให้การของจำเลยที่ ๒ ได้
ที่จำเลยที่ ๒ ฎีกาว่าไม่มีเจตนาจงใจที่จะขาดนัดยื่นคำให้การ ขอให้รับคำให้การไว้พิจารณาต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๙๙ นั้น เห็นว่า กรณีของจำเลยที่ ๒ เป็นการยื่นคำให้การพ้นกำหนดเวลาตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๗ วรรคหนึ่งได้บัญญัติไว้ มิใช่เป็นการขาดนัดยื่นคำให้การตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๑๙๗ ดังนั้นจึงรับคำให้การของจำเลยที่ ๒ ไว้พิจารณาในฐานะที่จำเลยที่ ๒ขาดนัดยื่นคำให้การตามมาตรา ๑๙๙ ไม่ได้
พิพากษายืน

Share