คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2920/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามร่วมกันมีเฮโรอีนเป็นยาเสพติดให้โทษ คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 115.4 กรัม ไว้ในครอบครอง เพื่อจำหน่ายและพยายามร่วมกันส่งเฮโรอีนจำนวนดังกล่าว ออกนอกราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสามแต่ละคนสมัครใจนำยาเสพติดตามจำนวน ที่แต่ละคนต้องการติดตัวไปเท่านั้น มิได้ร่วมกันกระทำผิด และพิพากษาว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 15 วรรคสอง,65 วรรคสอง,66 วรรคสอง การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามมาตรา 65 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ดังนี้ เมื่อโจทก์ มิได้อุทธรณ์จึงต้องฟังตามศาลชั้นต้นว่าจำเลยทั้งสาม มิได้ร่วมกันกระทำผิดที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสาม ร่วมกันกระทำผิดจึงไม่ถูกต้อง แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษา แก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 และมาตรา 83โดยลงโทษเท่าเดิมนั้น เป็นเพียงปรับบทกฎหมายที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าถูกต้องเท่านั้น จึงมิใช่เป็นการเพิ่มเติมโทษ อย่างไรก็ตามศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสามต่างมีเฮโรอีนแยกต่างหากจากกันมิได้กระทำผิดร่วมกันในลักษณะตัวการ เมื่อเฮโรอีน ที่จำเลยแต่ละคนมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่เกิน 100 กรัม จึงเป็นความผิดตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 65, 66,102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80,83, 91พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 3, 7 ริบเฮโรอีนของกลาง
จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสอง,มาตรา 65 วรรคสอง, มาตรา 66 วรรคสอง และมาตรา 102ประกอบด้วยพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 7 การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามมาตรา 65 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 ให้ลงโทษประหารชีวิตคำให้การรับสารภาพของจำเลยทั้งสามเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้จำเลยทั้งสามคนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ประกอบกับมาตรา 52(2) จำคุกจำเลยทั้งสามคนละ50 ปี ริบเฮโรอีนของกลางคำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสอง,มาตรา 65 วรรคสอง, มาตรา 66 วรรคสอง, มาตรา 102ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 80 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติมาตรการใบการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 7 เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานพยายามส่งเฮโรอีนออกนอกราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามร่วมกันมีเฮโรอีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษจำนวน 10 แห่ง น้ำหนักรวม284.2 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 115.4 กรัมไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและพยายามร่วมกันส่งเฮโรอีนจำนวนดังกล่าวออกนอกราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายซึ่งศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสามแต่ละคนสมัครใจนำยาเสพติดตามจำนวนที่แต่ละคนต้องการติดตัวไปเท่านั้น มิได้ร่วมกันกระทำผิดโดยจำเลยที่ 1 มีเฮโรอีนคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ 34.9 กรัมจำเลยที่ 2 มีเฮโรอีนคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ 58.2 กรัมและจำเลยที่ 3 มีเฮโรอีนคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ 22.3 กรัมและพิพากษาว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสอง,65 วรรคสอง, 66 วรรคสอง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2534 มาตรา 7 การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามมาตรา 65 วรรคสองซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90และโจทก์มิได้อุทธรณ์ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังตามศาลชั้นต้นว่าจำเลยทั้งสามมิได้ร่วมกันกระทำผิด ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำผิดจึงไม่ถูกต้อง แต่เห็นว่าที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80และมาตรา 83 โดยลงโทษเท่าเดิมนั้นเป็นเพียงปรับบทกฎหมายที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าถูกต้องเท่านั้น จึงมิใช่เป็นการเพิ่มเติมโทษอย่างไรก็ตามคดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสามต่างมีเฮโรอีนแยกต่างหากจากกัน มิได้กระทำผิดร่วมกันในลักษณะตัวการเมื่อเฮโรอีนที่จำเลยแต่ละคนมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่เกิน 100 กรัม จึงเป็นความผิดตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษตามมาตรา 66 วรรคสองและศาลอุทธรณ์มิได้แก้ไขในส่วนนี้ และปรับบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 66 วรรคหนึ่งโดยไม่ปรับบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share