คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2919/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีเจตนารมณ์เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินและเกษตรกรผู้นั้นจะต้องไม่มีที่ดินประกอบเกษตรกรรมเป็นของตนเองหรือมีที่ดินเล็กน้อยไม่เพียงพอแก่การครองชีพหรือต้องเช่าที่ดินของผู้อื่นประกอบเกษตรกรรม เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นเกษตรกรได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ซึ่งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินแล้ว จำนวน 20 ไร่ 2 งาน 84 ตารางวา โดยทำนาทั้งแปลงจึงถือได้ว่าโจทก์มีที่ดินประกอบเกษตรกรรมเป็นของตนเอง และมีรายได้เพียงพอแก่การครองชีพแล้ว โจทก์จึงขาดคุณสมบัติที่จะได้รับโอนที่ดินพิพาทแม้ทางมรดกตกทอดของบิดาโจทก์ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ออกคำสั่งให้โจทก์รับมรดกตกทอดสิทธิการเช่าในที่ดินพิพาทโดยอ้างว่าขัดกับกฎหมายและระเบียบเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตาม พ.ร.บ. การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 นั้นชอบแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ และไม่จำต้องวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิจะได้รับมรดกที่ดินพิพาทหรือไม่ เพราะถึงแม้ได้รับมาก็ไม่มีมีสิทธิรับโอนอยู่แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าโจทก์และจำเลยที่ ๓ เป็นผู้มีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมในที่ดินตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑ก) สารบัญทะเบียนที่ดินเลขที่ ๖๒๒๖ เล่ม ๖๓ หน้า ๒๖ อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี ตำแหน่งที่ดินแปลงที่ ๑๑ ระวาง ส.ป.ก. ที่/กลุ่มที่ ๒๙๗๙ จำนวนเนื้อที่คนละ ๖ ไร่ ๓ งาน ๒๔.๕ ตารางวา ตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๓๙ โดยให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ในฐานะนายทะเบียนผู้มีอำนาจออกหนังสืออนุญาตการให้สิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวจัดแบ่งที่ดินและออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินตามหนังสือดังกล่าวให้แก่โจทก์และจำเลยที่ ๓ ได้จำนวนที่ดินคนละ ๖ ไร่ ๓ งาน ๒๔.๕ ตารางวา
ที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การว่า นายพุฒได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินในที่ดินพิพาทโดยเช่าจากทางราชการ โดยคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้ออกระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการโอนและการตกทอดทางมรดก สิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อที่ดินในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๓๕ ในหมวด ๒ การตกทอดทางมรดกของสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อ ข้อ ๑๑ ว่า “เมื่อเกษตรกรถึงแก่กรรมให้สิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อตกทอดแก่คู่สมรสเป็นอันดับแรก” เมื่อจำเลยที่ ๓ เป็นคู่สมรสของนายพุฒเกษตรกรในขณะถึงแก่กรรม จึงเป็นผู้ได้รับตกทอดสิทธิการเช่า ทั้งได้ความว่าจำเลยที่ ๓ ได้ร่วมทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทกับเกษตรกรผู้ถึงแก่กรรมมาก่อน จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ในฐานะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดอุบลราชธานีจึงได้ดำเนินการออกหนังสืออนุญาตให้แก่จำเลยที่ ๓ เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยปฏิบัติถูกต้องตามข้อกฎหมายและระเบียบของราชการแล้ว โจทก์จึงไม่ได้รับสิทธิใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินพิพาท นอกจากนี้เมื่อปี ๒๕๒๖ โจทก์ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินซึ่งอยู่ในเขตปฏิรูปที่แล้วจำนวน ๒๒ ไร่ และเพียงพอแก่การครองชีพแล้ว จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จึงไม่อาจออกคำสั่งให้โจทก์รับมรดกตกทอดสิทธิการเช่าในที่ดินพิพาทได้ เนื่องจากขัดกับกฎหมายและระเบียบเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๘ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยก่อนว่า โจทก์มีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินหรือไม่ เห็นว่า ในทางพิจารณาโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าโจทก์มี คุณสมบัติครบถ้วนที่จะได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินแต่อย่างใด ทั้งยังเบิกความตอบทนายจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ยอมรับว่าโจทก์ได้รับที่ดินจำนวน ๒๑ ไร่ โดยมีหลักฐานเป็น ส.ป.ก. ๔-๐๑ ก ด้วย ส่วนจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ นำสืบได้ความว่า โจทก์เป็นบุตรของนายพุฒ โจทก์ได้ยื่นคำขอเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินจำนวนเนื้อที่ ๒๐ ไร่ ๒ งาน ๘๔ ตารางวา ต่อมาในวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๓๗ คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดอุบลราชธานีได้ออกหนังสืออนุญาตให้โจทก์เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินเนื้อที่ ๒๐ ไร่ ๒ งาน ๘๔ ตารางวา ตามสารบัญทะเบียนที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเลยที่ ๖๒๓๑ เล่ม ๖๓ หน้า ๓๑ อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี ตามเอกสารหมาย ล.๔ และ ล.๕ ซึ่งตาม พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๔ บัญญัติความหมายของคำว่า “การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม” หมายความว่า การปรับปรุงเกี่ยวกับสิทธิและการถือครองในที่ดินเพื่อเกษตรกรรม รวมตลอดถึงการจัดที่อยู่อาศัยในที่ดินเพื่อเกษตรกรรมนั้น โดยรัฐนำที่ดินของรัฐ หรือที่ดินที่รัฐจัดซื้อหรือเวนคืนจากเจ้าของที่ดิน ซึ่งมิได้ทำประโยชน์ในที่ดินนั้นด้วยตนเอง หรือมีที่ดินเกินสิทธิตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อจัดให้แก่เกษตรกรผู้ไม่มีที่ดินของตนเองหรือเกษตรกรที่มีที่ดินเล็กน้อย ไม่เพียงพอแก่การครองชีพและสถาบันเกษตรกรได้เช่าซื้อ เช่าหรือเข้าทำประโยชน์โดยรัฐให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรม การปรับปรุงทรัพยากรและปัจจัยการผลิต ตลอดจนการผลิตและการจำหน่ายให้เกิดผลดียิ่งขึ้น และคำว่า “เกษตรกร” หมายความว่า ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก และให้หมายความรวมถึงบุคคลผู้ยากจนหรือผู้จบการศึกษาทางเกษตรกรรม หรือผู้เป็นบุตรของเกษตรกรบรรดาซึ่งไม่มีที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นของตนเองและประสงค์จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาด้วย และตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการโอนและการตกทอดทางมรดกของสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อที่ดินในการปฏิรูปที่ดินเพื่อ เกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๓๕ ข้อ ๖ ระบุว่าผู้รับโอนและผู้รับมรดกตามระเบียบนี้จะต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้ (๑) ผู้นั้นรวมทั้งบุคคลในครอบครัวเดียวกันไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองเพียงพอแก่การครองชีพอยู่ก่อนแล้ว… ดังนี้ แสดงว่าเจตนารมณ์ของการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมก็เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินและเกษตรกรผู้นั้นจะต้องไม่มีที่ดินประกอบเกษตรกรรมเป็นของตนเองหรือมีที่ดินเล็กน้อยไม่เพียงพอแก่การครองชีพหรือต้องเช่าที่ดินของ ผู้อื่นประกอบเกษตรกรรม เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ซึ่งเป็นเกษตรกรได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ซึ่งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินแล้ว จำนวน ๒๐ ไร่ ๒ งาน ๘๔ ตารางวา โดยทำนาทั้งแปลง จึงถือได้ว่าโจทก์มีที่ดินประกอบเกษตรกรรมเป็นของตนเอง และมีรายได้เพียงพอแก่การครองชีพแล้ว โจทก์จึงขาดคุณสมบัติที่จะได้รับโอนที่ดินพิพาทแม้ทางมรดกตกทอดของนายพุฒ ดังนั้นการที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ไม่ออกคำสั่งให้โจทก์รับมรดกตกทอดสิทธิการเช่าในที่ดินพิพาทโดยอ้างว่าขัดกับกฎหมายและระเบียบเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๘ นั้นชอบแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ และไม่จำต้องวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิจะได้รับมรดกที่ดินพิพาทหรือไม่ เพราะถึงแม้ได้รับมาก็ไม่มีสิทธิรับโอนอยู่แล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share