แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลย ป. และ จ. ไปพูดกับโจทก์ร่วมให้หาคนงานไปทำงานต่างประเทศ โดยจำเลยพูดอวดอ้างว่า ป. เป็นผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดบี.อาร์.บิซเน็ส จำเลยและ จ. เป็นผู้ช่วยผู้จัดการ มีการแจ้งประเภทงานและเงินเดือน กับสวัสดิการที่จะได้รับ ตลอดจนกำหนดวันเดินทางซึ่งเป็นเท็จ ทั้งจำเลยกับพวกยังเป็นผู้พาคนงานไปตรวจโรคที่โรงพยาบาลอีกด้วย โจทก์ร่วมหลงเชื่อตามที่จำเลยกับพวกกล่าวอ้าง ได้จัดหาคนงานและเก็บเงินส่งให้ ป. ดังนี้การกระทำของจำเลยกับพวกเป็นการหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงและบุคคลที่สาม เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 341
การที่โจทก์ร่วมจ่ายเงินให้คนงานแทนไปก่อน ในวันที่ 3กุมภาพันธ์ 2526 เพราะกลัวจะถูกคนงานดำเนินคดี ยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมรู้ถึงการกระทำผิดของจำเลยกับพวกในวันดังกล่าว ต่อมาวันที่ 1 สิงหาคม 2526 จึงทราบเรื่องแน่ชัดว่าจำเลยกับพวกไม่ได้ดำเนินกิจการส่งคนงานไปทำงานต่างประเทศและหลบหนี จึงได้ไปร้องทุกข์เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2526 ยังไม่เกินสามเดือน คดีไม่ขาดอายุความ.
ย่อยาว
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยกับพวก ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341, 83 ให้จำเลยคืนเงินแก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้เสียหายเข้ามาเป็นโจทก์ร่วม
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยกระทำผิดดังฟ้องจริง แต่คดีขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 ประกอบมาตรา 348 พิพากษาให้ยกฟ้อง
โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์ว่าคดีไม่ขาดอายุความ
ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยกระทำผิดและคดีไม่ขาดอายุความพิพากษากลับ จำเลยมีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ให้จำคุก 1 ปี 6 เดือนให้จำเลยคืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหาย
จำเลยฎีกาว่าจำเลยไม่ได้กระทำผิดและคดีขาดอายุความ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘จำเลยนำสืบต่อสู้เป็นทำนองว่าโจทก์ร่วมกับนายประยงค์ อินทร์มะโรง ร่วมกันจัดหาคนงานไปทำงานต่างประเทศโดยมีการเรียกเงินจากผู้ที่สมัครไป จำเลยและนายแสวง สุขันธ์ ได้จ่ายเงินให้นายประยงค์ไปแต่ไม่ได้ไปทำงานตามคำหลอกลวง แต่ฝ่ายโจทก์มีตัวโจทก์ร่วมนายชาย ก้อนคำดี นายวิทยาวงษาเลิศ เบิกความสอดคล้องต้องกันว่า จำเลย นายประยงค์ และนายจันทร์ เป็นคนไปพูดให้โจทก์ร่วมหาคนงานไปทำงานต่างประเทศโดยจำเลยพูดอวดอ้างแก่บุคคลดังกล่าวว่านายประยงค์เป็นผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด บี.อาร์.บิซเน็ส จำเลยและนายจันทร์เป็นผู้ช่วยผู้จัดการ มีการแจ้งประเภทงานและเงินเดือน กับสวัสดิการที่จะได้รับในการนี้ตามเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 ซึ่งหัวกระดาษก็ระบุชื่อที่อยู่ รวมทั้งหมายเลขโทรศัพท์ของห้างไว้ด้วย เพื่อเป็นเหตุจูงใจให้ผู้ที่จะไปทำงานหลงเชื่อ ทั้งยังได้ความตามที่โจทก์นำสืบว่า จำเลย นายประยงค์ นายจันทร์เป็นผู้พาคนงานไปตรวจโรคที่โรงพยาบาลเซ็นทรัล ซึ่งจำเลยก็เบิกความรับในข้อนี้ ยิ่งกว่านั้นหลักฐานการรับเงินที่นายประยงค์เซ็นรับตามเอกสารหมาย จ.1 ก็มีลายมือชื่อจำเลยลงไว้นอกจากนี้โจทก์ยังมีโทรเลขเอกสารหมาย จ.3 ที่นายประยงค์โทรเลขมาถึงจำเลย ใจความว่าจะได้เดินทางวันที่ 17 แน่ ให้จำเลยรีบโอนเงินไปเข้าบัญชีนางทรงศิลป์ หลอดเงิน ภริยานายประยงค์ภายในวันที่ 8 นายสิน มาลัยพวง พยานจำเลยเองก็ว่าจำเลยเป็นคนไปชวนคนไปทำงานต่างประเทศ และเป็นผู้แนะนำว่านายประยงค์เป็นเจ้าของบริษัทส่งคนไปทำงาน ตามความเป็นมาดังกล่าว ล้วนแต่มีจำเลยเกี่ยวข้องผูกพันกับนายประยงค์มาตลอด ฟังได้ว่าจำเลยได้ร่วมในการหลอกลวงนี้ด้วย แม้โจทก์ร่วมจะมีส่วนเกี่ยวข้องจัดการเกี่ยวกับการหาคนงานและเก็บเงินส่งให้นายประยงค์ ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมได้ส่วนแบ่งในการนี้โดยโจทก์ร่วมอ้างว่ารับดำเนินการเพื่อจะให้ญาติของตนได้ไปทำงาน คือนายชาญนายวิทยา นายสิน การที่โจทก์ร่วมกระทำไปก็โดยหลงเชื่อตามคำหลอกลวงของจำเลยกับพวกนั่นเอง ดังนี้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยกับพวกได้ร่วมกันหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงและบุคคลที่สาม การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดดังโจทก์ฟ้องปัญหาที่จะวินิจฉัยต่อไปมีว่า คดีโจทก์ขาดอายุความร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 หรือไม่แม้จะได้ความว่าโจทก์ร่วมจ่ายเงินให้คนงานเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2526 แทนไปก่อนเนื่องจากกลัวจะถูกคนงานดำเนินคดี เพียงเท่านี้ยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมรู้ถึงการกระทำผิดของจำเลยกับพวกตั้งแต่วันนั้น เพราะไม่ปรากฏว่าในวันดังกล่าว โจทก์ร่วมรู้ว่าจำเลยและนายประยงค์มิได้ดำเนินกิจการดังกล่าวอ้างและหลบหนีไปแล้วโจทก์ร่วมเพิ่งจะทราบความจริงในเรื่องนี้แน่ชัดเมื่อออกติดตามไม่พบจำเลยและไปที่บ้านนายประยงค์พบว่าบ้านปิด คนข้างบ้านบอกว่านายประยงค์หนีไปเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2526 จึงได้ไปแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยกับพวกตามเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2526 ยังไม่เกินสามเดือนคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น’
พิพากษายืน.