คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2052/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ผู้ร้องไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตาย แต่ขณะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งถอนผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายกับตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายนั้น อำนาจปกครอง ณ. อยู่กับผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียว ผู้ร้องจึงเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของ ณ. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1569 ซึ่งการยื่นคำร้องขอดังกล่าวผู้ร้องมิได้ยื่นในฐานะส่วนตัวแต่ยื่นในฐานะเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของ ณ. ในคำร้องขอนั้นนอกจากมีข้ออ้างว่ามีการยักย้ายทรัพย์มรดกของผู้ตายแล้วยังมีข้ออ้างว่าผู้ร้องได้รับคำบอกเล่าว่าแท้จริงผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้ ณ. ไว้ด้วย ดังนั้นการยื่นคำร้องขอของผู้ร้องจึงเป็นไปตามหน้าที่ของผู้ใช้อำนาจปกครองเพื่อระวังรักษาประโยชน์ของ ณ. ให้ได้รับทรัพย์มรดกของผู้ตายตามสิทธิที่แท้จริง ผู้ร้องในฐานะผู้ใช้อำนาจปกครองของ ณ. จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 ที่มีสิทธิจะร้องต่อศาลขอให้ถอนผู้จัดการมรดกหรือขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2554 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนางพนิดา ผู้คัดค้านที่ 1 และนางสาวหรือนางกรองทอง ผู้คัดค้านที่ 2 ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวณิชชา ผู้ตายโดยให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย
ต่อมาวันที่ 12 ตุลาคม 2554 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งถอนผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 จากการเป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวณิชชา แล้วตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแทน
ผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำคัดค้านในทำนองเดียวกันขอให้ยกคำร้องขอ
ศาลชั้นต้นงดการไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้องขอ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องขอแล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปรากฏข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า นางสาวณิชชา ผู้ตายเป็นบุตรของผู้คัดค้านที่ 3 กับนายชัยสิทธิ์ ซึ่งถึงแก่ความตายแล้ว ผู้ตายมีบุตร 3 คน คือ ผู้คัดค้านที่ 1 นางสาวสุริสา และนางสาวณัฐาภรณ์ โดยผู้คัดค้านที่ 1และนางสาวสุริสาเป็นบุตรของผู้ตายที่เกิดจากนายสุรัตน์ สามีไม่ชอบด้วยกฎหมายที่แยกทางกับผู้ตายในภายหลัง ส่วนนางสาวณัฐาภรณ์เป็นบุตรของผู้ตายที่เกิดจากผู้ร้องซึ่งมีการจดทะเบียนสมรสกันแต่ได้จดทะเบียนหย่ากันแล้ว เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2554 ผู้ตายถึงแก่ความตายตามสำเนามรณบัตร และมีที่ดินสิ่งปลูกสร้างกับเงินฝากในธนาคารหลายรายการเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ 1 กับผู้คัดค้านที่ 2 ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย โดยขณะนั้นไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ตายทำพินัยกรรมไว้ ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2555 ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านที่ 2 และผู้ร้องร่วมกันใช้อำนาจปกครองนางสาวณัฐาภรณ์ซึ่งยังเป็นผู้เยาว์โดยตั้งผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานครเป็นผู้กำกับการปกครองในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินและประโยชน์ของนางสาวณัฐาภรณ์ผู้เยาว์ด้วยตามสำเนาคำสั่งคดีแพ่งหมายเลขแดงที่1948/2555 คำสั่งศาลเยาวชนและครอบครัวกลางดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 ว่า ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอในฐานะผู้ใช้อำนาจปกครองของนางสาวณัฐาภรณ์ผู้เยาว์ ขอให้ศาลถอนผู้จัดการมรดกหรือขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้ผู้ร้องไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตาย แต่ขณะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งถอนผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายกับตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายนั้น อำนาจปกครองนางสาวณัฐาภรณ์ผู้เยาว์อยู่กับผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียว ผู้ร้องจึงเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของนางสาวณัฐาภรณ์ผู้เยาว์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1569 ซึ่งการยื่นคำร้องขอดังกล่าวผู้ร้องมิได้ยื่นในฐานะส่วนตัวแต่ยื่นในฐานะเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของนางสาวณัฐาภรณ์ผู้เยาว์ ในคำร้องขอนั้นนอกจากมีข้ออ้างว่ามีการยักย้ายทรัพย์มรดกของผู้ตายแล้วยังมีข้ออ้างว่าผู้ร้องได้รับคำบอกเล่าว่าแท้จริงผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้นางสาวณัฐาภรณ์ผู้เยาว์ไว้ด้วย ดังนั้นการยื่นคำร้องขอของผู้ร้องจึงเป็นไปตามหน้าที่ของผู้ใช้อำนาจปกครองเพื่อระวังรักษาประโยชน์ของนางสาวณัฐาภรณ์ผู้เยาว์ให้ได้รับทรัพย์มรดกของผู้ตายตามสิทธิที่แท้จริง ผู้ร้องในฐานะผู้ใช้อำนาจปกครองของนางสาวณัฐาภรณ์ผู้เยาว์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 ที่มีสิทธิจะร้องต่อศาลขอให้ถอนผู้จัดการมรดกหรือขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ คำร้องขอของผู้ร้องจึงสมบูรณ์ในเรื่องสิทธิการเสนอคดีต่อศาลมาตั้งแต่แรก คำสั่งของศาลเยาวชนและครอบครัวกลางตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1948/2555 ที่มีภายหลังหามีผลย้อนให้คำร้องขอของผู้ร้องมีข้อบกพร่องในเรื่องสิทธิการเสนอคดีต่อศาลโดยจะต้องแก้ไขด้วยการขอความยินยอมจากผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเป็นคู่ความฝ่ายปรปักษ์และขอความเห็นชอบจากผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานครแต่อย่างใดไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share