คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2913-2915/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 172 จำคุก 3 เดือนศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 172,174 วรรคสอง และ 83 ให้จำคุก 3 เดือนเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขเล็กน้อยต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 78 ให้อำนาจการยึดรถแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ไว้ 2 กรณี คือ ผู้ขับขี่หลบหนี หรือไม่แสดงตนว่าเป็นผู้ขับขี่กรณี ดังกล่าวพนักงานเจ้าหน้าที่หาจำต้องติดตามยึดรถในทันทีที่เกิดเหตุไม่ดังนั้นเมื่อมีการหลบหนีหรือหาตัวไม่พบพนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีอำนาจติดตามยึดรถในเวลาต่อมาได้ จำเลยที่ 1 แจ้งความอันเป็นเท็จแก่พนักงานสอบสวนว่าจำเลยที่ 1 มีความเห็นว่าการกระทำของร้อยตำรวจเอก ก.กับพวกรวม 3 คน เป็นการร่วมกันเอารถยนต์ของตนไปโดยเจตนาทุจริตและใช้กำลังบังคับว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้ดูแลรถอันเป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์และลักทรัพย์แสดงว่าจำเลยที่ 1 ยืนยันว่าการกระทำของร้อยตำรวจเอกก.กับพวกเป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ หาใช่เป็นเพียงความเห็นหรือความเข้าใจไม่การกระทำของจำเลยที่ 1จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172,174 วรรคสองประกอบด้วยมาตรา 181(1) ซึ่งจะต้องได้รับโทษหนักขึ้นแม้ปัญหาดังกล่าวจะไม่มีฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้เพราะเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแต่เนื่องจากโจทก์ไม่ได้ฎีกาขอให้เพิ่มเติมโทษจำเลย จึงไม่อาจเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 1 ได้ จำเลยที่ 2 ที่ 3 ให้การอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้เห็นว่าร้อยตำรวจเอกก.ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบทำการยึดรถยนต์ไปโดยไม่มีอำนาจและไม่ทราบสาเหตุทั้งกระทำเกินความจำเป็นเพื่อสนับสนุนคำแจ้งความของจำเลยที่1 ให้กลายเป็นความจริงซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่ร้อยตำรวจเอก ก. กับพวกจึงเป็นการแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172(อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 492/2509)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันแจ้งความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวน โดยจำเลยที่ 1 แจ้งว่า ร้อยตำรวจเอกเกียรติศักดิ์กับพวกงัดประตูรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 จอดไว้แล้วเอารถไป ขอให้ดำเนินคดีในข้อหาปล้นทรัพย์และลักทรัพย์จำเลยที่ 2 แจ้งว่าชายคนหนึ่งได้กระชากกุญแจรถยนต์จากจำเลยที่ 2 แล้วขับรถยนต์ไปโดยไม่ได้แจ้งให้ทราบว่าจะเอารถไปทำไม ส่วนจำเลยที่ 3 แจ้งว่าร้อยตำรวจเอกเกียรติศักดิ์กับพวกได้เข้าไปงัดกุญแจรถยนต์ พอดีจำเลยที่ 2 มาถึง ร้อยตำรวจเอกเกียรติศักดิ์ได้เข้าแย่งกุญแจจากจำเลยที่ 2 มอบให้ตำรวจอีกคนหนึ่งขับรถไป ซึ่งความจริงแล้วร้อยตำรวจเอกเกียรติศักดิ์ ได้ยึดรถยนต์คันดังกล่าวซึ่งมีผู้ขับขี่ไปชนกับรถคันอื่นทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บมาเพื่อประกอบคดี โดยได้ตามช่างกุญแจมาทำการไขประตูรถ แล้วให้ตำรวจขับไปไว้ที่สถานีตำรวจการแจ้งความเท็จของจำเลยทั้งสามเป็นเหตุให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีอาญาแก่ร้อยตำรวจเอกเกียรติศักดิ์กับพวก ทำให้ได้รับความเสียหาย จึงขอให้ลงโทษ

จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 172 จำคุก 3 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 1 และโจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172, 174 วรรคสอง และ 83 ให้จำคุกคนละ 3 เดือน

จำเลยทั้งสามฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า คดีเฉพาะตัวจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 3 เดือน และศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขเล็กน้อยจำเลยที่ 1 จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218

ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78ที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้ขับขี่รถยนต์ที่เกิดอุบัติเหตุแสดงตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณสถานที่เกิดเหตุ ต้องเป็นกรณีเกิดอุบัติเหตุต่อหน้าหรือใกล้เคียงกับพนักงานเจ้าหน้าที่จึงจะติดตามยึดรถได้ แต่ถ้าเหตุการณ์ขาดตอนแล้วจะติดตามยึดรถอีกไม่ได้ ดังนั้นร้อยตำรวจเอกเกียรติศักดิ์จึงไม่มีอำนาจยึกรถเพราะขัดต่อบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นว่าบทกฎหมายที่จำเลยที่ 1 อ้างถึงนี้ได้ให้อำนาจการยึดรถแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ไว้2 กรณี คือผู้ขับขี่หลบหนี หรือไม่แสดงตนว่าเป็นผู้ขับขี่ จากกรณีดังกล่าวพนักงานเจ้าหน้าที่จึงหาจำต้องติดตามยึดรถในทันทีที่เกิดเหตุไม่ ดังนั้นเมื่อมีการหลบหนีหรือหาตัวไม่พบพนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีอำนาจติดตามยึดรถได้ดังเช่นกรณีนี้

การแจ้งความของจำเลยที่ 1 แก่พนักงานสอบสวนตามที่ปรากฏในเอกสารหมายป.จ.5 มีข้อความชัดว่า จำเลยที่ 1 มีความเห็นว่าการกระทำของร้อยตำรวจเอกเกียรติศักดิ์กับพวกเป็นการร่วมกันเอารถยนต์ของจำเลยที่ 1 ไปโดยเจตนาทุจริตและใช้กำลังบังคับว่าในทันใดนั้นจะประทุษร้ายผู้ดูแลรถอันเป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์และลักทรัพย์การแจ้งความดังกล่าวจึงมีข้อความประรกอบกับการแจ้งความของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย ป.จ.1 ว่า ร้อยตำรวจเอกเกียรติศักดิ์ได้กระทำการกับพวกรวม 3 คน แสดงชัดว่าจำเลยที่ 1 ยืนยันว่าการกระทำของร้อยตำรวจเอกเกียรติศักดิ์กับพวกเป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ หาใช่เป็นเพียงความเห็นหรือความเข้าใจดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172, 174 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 181(1) ซึ่งจำเลยที่ 1 จะต้องรับโทษหนักขึ้น แม้ปัญหาดังกล่าวจะไม่มีฝ่ายใดฎีกาก็ตาม แต่เนื่องจากเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195, 225 และเนื่องจากโจทก์ไม่ได้ฎีกาขอให้เพิ่มเติมโทษจำเลย ศาลฎีกาจึงไม่อาจเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 1 ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212, 225

การที่จำเลยที่ 2 กลับให้การต่อร้อยตำรวจโทประเสริฐพนักงานสอบสวนพร้อมกับจำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 1 นำไปให้การ ก็เพื่อจะให้เห็นเป็นว่า ร้อยตำรวจเอกเกียรติศักดิ์ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำการยึดรถของนายสิงห์คมไปโดยไม่มีอำนาจ นำเอารถไปโดยไม่ทราบสาเหตุ ทั้งกระทำการเกินความจำเป็น ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่ร้อยตำรวจเอกเกียรติศักดิ์กับพวก ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการสนับสนุนคำแจ้งความของจำเลยที่ 1ให้กลายเป็นความจริง การให้การของจำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงเป็นการแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงานตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172 ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 492/2509 ระหว่างผู้ว่าคดีศาลแขวงลพบุรี โจทก์ นายไพศาล ศรีสุคนธ์ กับพวก จำเลย เมื่อการแจ้งความเท็จเป็นการแจ้งความเพื่อกล่าวหาร้อยตำรวจเอกเกียรติศักดิ์ว่าได้กระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และตามฎีกาของจำเลยทั้งสองก็ยืนยันในเรื่องนี้ ดังนั้น ที่ฎีกาของจำเลยทั้งสองอ้างว่าร้อยตำรวจเอกเกียรติศักดิ์กระทำการฝ่าฝืนระเบียบ แม้จะเป็นความจริงก็ไม่อาจทำให้การกระทำของจำเลยทั้งสอง กลับไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จไปได้ การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต่างก็เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 174 วรรคสอง

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172, 174 วรรคสอง, 181(1)

Share