คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2912/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้จำเลยที่ 1 ไม่ต้องร่วมรับผิดกับ น. ในฐานะนายจ้าง แต่โจทก์มิได้ฟ้องโดยยืนยันว่า จำเลยที่ 2 รับประกันภัยรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุจากจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด โจทก์เพียงแต่ฟ้องว่า น. ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ขับรถในทางการที่จ้างโดยประมาทชนรถที่โจทก์รับประกันภัย จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์กระบะของจำเลยที่ 1 ไว้ในขณะเกิดเหตุ และกรมธรรม์ยังคุ้มครองอยู่ในขณะเกิดเหตุ โดยกรมธรรม์มีเงื่อนไขสำคัญว่า หากรถยนต์กระบะที่จำเลยที่ 2 รับประกันภัยก่อความเสียหายแก่บุคคลภายนอก จำเลยที่ 2 จะรับผิดต่อบุคคลภายนอกในนามของผู้เอาประกันภัยแทนผู้เอาประกันภัย เป็นการฟ้องให้ผู้รับประกันภัยรับผิดตามสัญญาประกันภัย ซึ่งโจทก์สามารถฟ้องผู้รับประกันภัยให้รับผิดได้โดยไม่จำต้องฟ้องผู้เอาประกันภัยด้วย ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามที่จำเลยที่ 2 ให้การและนำสืบรับว่า จำเลยที่ 2 รับประกันภัยรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุจาก น. และข้อเท็จจริงได้ความว่า น. ขับรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุชนรถที่โจทก์รับประกันภัยโดยละเมิด จำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ผู้รับช่วงสิทธิมาฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงิน 209,281 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 185,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ไม่ได้โต้เถียงกันชั้นฎีการับฟังว่า นายนิด ขับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน ภ -9438 นครปฐม ซึ่งเป็นรถที่จำเลยที่ 2 รับประกันภัยค้ำจุนไว้จากนายนิดและยังอยู่ในระยะเวลาประกันภัย จากทางกิ่งอำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ มุ่งหน้าไปทางอำเภอประทาย จังหวัดนครราชสีมา เมื่อถึงที่เกิดเหตุ ซึ่งเป็นถนนที่มีช่องเดินรถเพียงสองช่องให้รถแล่นสวนทางกันได้และเป็นทางโค้ง ยางล้อหลังด้านขวารถที่นายนิดขับแตก ขณะนั้นนายชูศักดิ์ขับรถยนต์บรรทุก หมายเลขทะเบียน 81-6864 นครราชสีมา แล่นสวนทางมา รถทั้งสองคันจึงเฉี่ยวชนกันรถที่นายชูศักดิ์ขับได้ตกในคูน้ำข้างถนนได้รับความเสียหาย ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ขาดอายุความ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิด ฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ไม่ขาดอายุความ แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิด จำเลยที่ 2 ก็ไม่ต้องรับผิดด้วย ไม่วินิจฉัยปัญหาอื่น โจทก์อุทธรณ์ จำเลยที่ 2 แก้อุทธรณ์ แต่ไม่แก้อุทธรณ์ในปัญหาว่าฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ไม่ขาดอายุความ ปัญหานี้จึงยุติตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ขาดอายุความและพยานหลักฐานของโจทก์ฟังไม่ได้ว่า นายนิดเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และขับรถไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิด เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดจำเลยที่ 2 ก็ไม่ต้องรับผิดด้วย โจทก์ฎีกาว่า นายนิดเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และขับรถไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ไม่ขาดอายุความ และฎีกาว่าจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ ในการวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของโจทก์จำต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ และนายนิดขับรถโดยประมาทเลินเล่อหรือไม่ ซึ่งศาลล่างทั้งสองยังไม่ได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวน
มีปัญหาวินิจฉัยข้อแรกตามคำให้การของจำเลยทั้งสองว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ ที่จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่ได้แสดงหลักฐานใดๆ ให้จำเลยทั้งสองทราบถึงความเสียหายของรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 81-6864 นครราชสีมา ความเสียหายที่เรียกร้องมาตามฟ้องจึงเป็นความเท็จ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดชดใช้ค่าซ่อมแซมได้นั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องไว้แล้วว่า รถทั้งสองคันเฉี่ยวชนกัน รถที่โจทก์รับประกันภัยตกในคูน้ำข้างถนนเสียหายทั้งคัน โจทก์เสียค่าจ้างยกรถที่โจทก์รับประกันภัย 5,000 บาท และโจทก์จัดการซ่อมแซมรถ เสียค่าซ่อมแซม 180,000 บาท โจทก์จึงรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยมาฟ้องไล่เบี้ยเอาจากจำเลยทั้งสอง เป็นการบรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว ส่วนพยานหลักฐานที่แสดงถึงความเสียหายของรถและค่าเสียหายที่โจทก์เสียไป แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายมาในคำฟ้องด้วย โจทก์ก็สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุม ข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยข้อต่อไปว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์มิได้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 81-6864 นครราชสีมา ไว้จากผู้เอาประกันภัย และผู้เอาประกันภัยไม่มีส่วนได้เสียในรถยนต์บรรทุกจึงไม่อาจเอาประกันภัยได้ กรมธรรม์ประกันภัยเป็นเอกสารปลอม ลายมือชื่อกรรมการผู้มีอำนาจในกรมธรรม์มิใช่ลายมือชื่อของกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนและในขณะเกิดเหตุมิได้อยู่ในระยะเวลาคุ้มครองตามกรมธรรม์ หนังสือมอบอำนาจตามเอกสารท้ายฟ้องเป็นหนังสือมอบอำนาจปลอม ลายมือชื่อผู้มอบอำนาจมิใช่ลายมือชื่อของกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์ เป็นลายมือชื่อปลอมและเป็นเพียงสำเนาเอกสารโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง เห็นว่า ชั้นพิจารณาโจทก์มีนายสายัณห์ เป็นพยานเบิกความยืนยันว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำก้ด ประกอบกิจการประกันภัย โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์บรรทุก ในขณะเกิดเหตุยังอยู่ในระยะเวลาประกันภัย โจทก์มอบอำนาจให้พยานดำเนินคดีนี้แทน จำเลยทั้งสองมิได้นำสืบในปัญหานี้ให้เห็นเป็นอย่างอื่น ตามคำเบิกความของนายสายัณห์ประกอบพยานเอกสารที่นายสายัณห์เบิกความถึง ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์บรรทุกดังกล่าวไว้จากผู้เอาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยมีส่วนได้เสียในรถยนต์บรรทุกนั้นจึงเอาประกันภัยได้ กรมธรรม์ประกันภัยไม่เป็นเอกสารปลอม ลายมือชื่อกรรมการผู้มีอำนาจในกรมธรรม์เป็นลายมือชื่อของกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทน และในขณะเกิดเหตุยังอยู่ในระยะเวลาคุ้มครองตามกรมธรรม์ หนังสือมอบอำนาจไม่เป็นหนังสือมอบอำนาจปลอม โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง ข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งสองในปัญหาข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยข้อต่อไปว่า นายนิดขับรถโดยประมาทเลินเล่อหรือไม่ จำเลยทั้งสองให้การว่า เหตุรถเฉี่ยวชนกันเกิดจากความประมาทของนายชูศักดิ์ที่ขับรถเข้าทางโค้งด้วยความเร็วสูงและล้ำเข้ามาในช่องเดินรถสวน ซึ่งผู้มีชื่อขับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน ภ-9438 นครปฐม แล่นสวนทางมาในช่องเดินรถของตน แต่จำเลยทั้งสองมิได้สืบพยานในปัญหาข้อนี้แต่อย่างใด ส่วนโจทก์มีนายชูศักดิ์เป็นพยานเบิกความยืนยันว่า ขณะพยานขับรถถึงที่เกิดเหตุนายนิดขับรถยนต์กระบะแล่นสวนทางมา ยางล้อหลังด้านขวาของรถยนต์กระบะแตก รถเสียการทรงตัว ท้ายรถหมุนออกด้านขวาของนายนิด ล้ำเข้ามาในช่องเดินรถของพยาน ชนกับบริเวณหน้ารถที่พยานขับ ตามภาพถ่ายความเสียหายของรถทั้งสองคันและภาพถ่ายที่เกิดเหตุ ซึ่งตามภาพถ่ายสอดคล้องกับคำเบิกความของนายชูศักดิ์ โจทก์ยังมีร้อยตำรวจเอกวรพจน์ พนักงานสอบสวนเป็นพยานเบิกความว่า พยานตรวจที่เกิดเหตุและสอบสวนแล้วเห็นว่า เหตุรถเฉี่ยวชนกันเกิดจากความประมาทของนายนิด จึงแจ้งข้อหาแก่นายนิดว่าขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นได้รับความเสียหาย นายนิดให้การรับสารภาพ ได้เปรียบเทียบปรับนายนิด 400 บาท นายนิดชำระค่าปรับแล้ว พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังได้ว่า นายนิดเป็นผู้ขับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน ภ-9438 นครปฐม และไม่ตรวจสภาพยางล้อรถให้อยู่ในสภาพดีก่อนที่จะนำรถมาขับในทางเดินรถ เมื่อยางล้อรถแตกไม่สามารถบังคับรถให้อยู่ในช่องเดินรถของตน รถได้แล่นล้ำเข้าไปในช่องเดินรถสวนเฉี่ยวชนกับรถยนต์บรรทุกที่นายชูศักดิ์ขับ นายนิดจึงขับรถโดยประมาทเลินเล่อ เป็นการทำละเมิดต่อนายชูศักดิ์ ข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ก็ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า นายนิดเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และขับรถไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 หรือไม่ ในปัญหาข้อนี้จำเลยที่ 1 ให้การว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ไม่ใช่เจ้าของและผู้ครอบครองรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุ เนื่องจากจำเลยที่ 1 ขายและส่งมอบรถยนต์กระบะแก่นายนิดไปตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีส่วนได้เสียในรถยนต์กระบะและไม่ใช่นายจ้างของนายนิด แม้จำเลยที่ 1 ไม่สืบพยานในปัญหาข้อนี้ แต่พยานโจทก์ที่นำสืบมีนายชูศักดิ์เบิกความว่า นายนิดเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เป็นการเบิกความลอยๆ ไม่มีหลักฐานสนับสนุน กับโจทก์มีนายสายัณห์ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า ทราบว่านายนิดเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 จากคำบอกเล่าของพนักงานสอบสวน คำเบิกความของนายสายัณห์เป็นพยานบอกเล่า มีน้ำหนักน้อย ทั้งเมื่อร้อยตำรวจเอกวรพจน์ พนักงานสอบสวน เบิกความเป็นพยานโจทก์ ก็มิได้เบิกความว่านายนิดเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด พยานหลักฐานของโจทก์จึงยังฟังไม่ได้ว่า นายนิดเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และขับรถไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับนายนิด ฎีกาของโจทก์ในปัญหาข้อนี้ฟังไม่ขึ้น และคดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ที่ว่า ฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ขาดอายุความหรือไม่อีกต่อไป เพราะไม่อาจมีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของจำเลยที่ 1
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อต่อไปว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ยอมรับแล้วว่าจำเลยที่ 2 รับประกันภัยรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุจากนายนิด เมื่อนายนิดทำละเมิด จำเลยที่ 2 ก็ต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยนั้น เห็นว่า โจทก์มิได้ฟ้องโดยยืนยันว่าจำเลยที่ 2 รับประกันภัยรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุจากจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด โจทก์เพียงแต่ฟ้องว่า นายนิดลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ขับรถในทางการที่จ้างโดยประมาทชนรถที่โจทก์รับประกันภัย จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน ภ-9438 นครปฐม ของจำเลยที่ 1 ไว้ในขณะเกิดเหตุและกรมธรรม์ยังคุ้มครองอยู่ในขณะเกิดเหตุ โดยกรมธรรม์มีเงื่อนไขสำคัญว่า หากรถยนต์กระบะที่จำเลยที่ 2 รับประกันภัยก่อความเสียหายแก่บุคคลภายนอก จำเลยที่ 2 จะรับผิดต่อบุคคลภายนอกในนามของผู้เอาประกันภัยแทนผู้เอาประกันภัย เป็นการฟ้องให้ผู้รับประกันภัยรับผิดตามสัญญาประกันภัย ซึ่งโจทก์สามารถฟ้องผู้รับประกันภัยให้รับผิดได้โดยไม่จำต้องฟ้องผู้เอาประกันภัยด้วย ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามที่จำเลยที่ 2 ให้การและนำสืบรับว่าจำเลยที่ 2 รับประกันภัยรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุจากนายนิด และข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายนิดขับรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุชนรถที่โจทก์รับประกันภัยโดยละเมิด จำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ผู้รับช่วงสิทธิมาฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดจำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ในปัญหาข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยข้อสุดท้ายว่า ค่าสินไหมทดแทนมีเพียงใด ได้ความว่า หลังจากรถทั้งสองคันเฉี่ยวชนกัน รถที่โจทก์รับประกันภัยตกลงไปในคูน้ำข้างถนน นายฉัตรชัย พนักงานเรียกร้องค่าเสียหายของโจทก์ กับนายสายัณห์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ เบิกความเป็นพยานโจทก์ยืนยันว่า โจทก์ต้องเสียค่าจ้างยกรถ 4,500 บาท และโจทก์จัดการซ่อมแซมรถเสียค่าซ่อมแซม 180,000 บาท ไปตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2541 รวมเป็นเงิน 184,500 บาท คำเบิกความของพยานโจทก์โดยมีบิลเงินสดเป็นหลักฐานจึงมีน้ำหนักให้รับฟัง ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การและมีนางดลหทัย เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของจำเลยที่ 2 เพียงปากเดียวมาเบิกความว่า ความเสียหายของรถที่โจทก์รับประกันภัยมีไม่เกิน 10,000 บาท เป็นการเบิกความลอยๆ ไม่มีหลักฐานสนับสนุน ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามพยานหลักฐานของโจทก์ว่า รถที่โจทก์รับประกันภัยได้รับความเสียหายและโจทก์จ่ายค่าสินไหมทดแทนไป 184,500 บาท จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในค่าเสียหายดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2541 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์จ่ายไป
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 184,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 7 มีนาคม 2543) ต้องไม่เกิน 24,281 บาท ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้รวม 18,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share