คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2911/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านไปทำงานที่อื่นชั่วคราวซึ่งผู้ร้องมีอำนาจออกคำสั่งได้ตามระเบียบข้อบังคับในการทำงาน ผู้คัดค้านจึงต้องมีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ร้องซึ่งเป็นนายจ้าง การที่ผู้คัดค้านเข้าใจว่าคำสั่งของผู้ร้องเป็นการกลั่นแกล้งผู้คัดค้านเนื่องจากผู้คัดค้านเป็นกรรมการลูกจ้างจึงเป็นความเข้าใจผิดของผู้คัดค้านเองเมื่อไม่ไปปฏิบัติงานตามคำสั่งของผู้ร้องเป็นเวลาสามวันติดต่อกัน ผู้คัดค้านจะอ้างว่าเป็นความเข้าใจโดยสุจริตว่าผู้ร้องกลั่นแกล้งไม่ได้การกระทำของผู้คัดค้านจึงเป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุสมควร
ผู้ร้องมีคำขอให้เลิกจ้างผู้คัดค้านโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยหรือค่าเสียหายใด ๆ แก่ผู้คัดค้านนั้นเมื่อผู้ร้องได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานกลางให้เลิกจ้างผู้คัดค้านได้ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 52 แล้วผู้ร้องก็ต้องมีคำสั่งเลิกจ้างอีกชั้นหนึ่งสิทธิของผู้ร้องที่จะจ่ายหรือไม่จ่ายคำชดเชยหรือค่าเสียหายนั้นเกิดขึ้นหลังจากผู้ร้องได้มีคำสั่งเลิกจ้างแล้วไม่สมควรที่จะพึงมีคำสั่งไว้ล่วงหน้าโดยยังไม่มีกรณีพิพาทเกิดขึ้น

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่านายสำเนา จั่นคำ กรรมการลูกจ้าง ได้ละทิ้งหน้าที่การงานเกินกว่า ๓ วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันควร จงใจทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหายขออนุญาตเลิกจ้างนายสำเนา จั่นคำ โดยไม่จ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหาย
นายสำเนา จั่นคำ ยื่นคำคัดค้านว่า มิได้ละทิ้งหน้าที่การงานเป็นเวลา ๓ วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรและมิได้จงใจทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหายผู้คัดค้านไปทำงานตามปกติทุกวัน แต่ผู้ร้องไม่ยอมให้ผู้คัดค้านเข้าทำงานและกลั่นแกล้งผู้คัดค้านเพื่อบีบบังคับให้ผู้คัดค้านลาออกจากกรรมการลูกจ้าง หรือลาออกจากการเป็นลูกจ้าง ผู้ร้องไม่มีสิทธิเลิกจ้างผู้คัดค้านโดยไม่จ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหาย
ศาลแรงงานกลางอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านโดยไม่จ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหายใด ๆ
ผู้คัดค้านอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า การที่ผู้ร้องมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านไปทำงานที่โรงงานเก่านั้นก็เป็นเพียงเพื่อช่วยซ่อมเครื่องชั่วคราว ซึ่งผู้ร้องมีอำนาจออกคำสั่งได้ตามระเบียบข้อบังคับในการทำงาน ซึ่งมีข้อความว่า ในกรณีจำเป็นฝ่ายบริหารโรงงาน ๆ มีสิทธิที่จะทำการสับเปลี่ยนกะการทำงาน หรือโยกย้าย หรือมอบหมายงานเพิ่มเติมให้แก่พนักงานตามความเหมาะสมและตามสภาพการทำงานของพนักงาน ผู้คัดค้านจึงต้องมีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ร้องซึ่งเป็นนายจ้าง การที่ผู้คัดค้านเข้าใจว่าคำสั่งของผู้ร้องเป็นการกลั่นแกล้งผู้คัดค้านเนื่องจากผู้คัดค้านเป็นกรรมการลูกจ้างก็เป็นความเข้าใจที่ผิดพลาดของผู้คัดค้านเอง และที่ผู้คัดค้านไม่ยอมเข้าทำงานในโรงงานเก่าแต่กลับมาเพื่อที่จะเข้าไปทำงานที่โรงงานใหม่ที่ผู้คัดค้านเคยทำงานอยู่เดิมเป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันนั้น ผู้คัดค้านจะกล่าวอ้างว่าเป็นความเข้าใจโดยสุจริตว่าผู้ร้องกลั่นแกล้งนั้นหาได้ไม่ การกระทำของผู้คัดค้านจึงเป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร
ข้อที่ผู้ร้องมีคำขอให้เลิกจ้างผู้คัดค้านโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยหรือค่าเสียหายแก่ผู้คัดค้านนั้น เมื่อผู้ร้องได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานกลางให้เลิกจ้างผู้คัดค้านได้ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๕๒ แล้วผู้ร้องก็ต้องมีคำสั่งเลิกจ้างอีกชั้นหนึ่ง สิทธิของผู้ร้องที่จะจ่ายหรือไม่จ่ายค่าชดเชยหรือค่าเสียหายจะเป็นประการใดนั้น เป็นสิทธิที่เกิดขึ้นหลังจากผู้ร้องได้มีคำสั่งเลิกจ้างแล้ว ไม่สมควรที่จะพึงมีคำสั่งไว้ล่วงหน้าโดยยังไม่มีกรณีพิพาทเกิดขึ้น ชอบที่จะยกคำขอของผู้ร้องข้อนี้เสีย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของผู้ร้องในข้อที่ว่าผู้ร้องไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหายใด ๆ แก่ผู้คัดค้าน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลแรงงานกลาง

Share