คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 291/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 234 บัญญัติให้เจ้าหนี้ผู้ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้จะต้องขอหมายเรียกลูกหนี้เข้ามาในคดีนั้นด้วย ก็เพื่อให้ลูกหนี้ได้มีโอกาสรักษาสิทธิของตน ดังนั้นการที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1เข้ามาในคดีนี้แทนการขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยที่ 1เข้ามาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3)จึงถือได้ว่ามีการเรียกลูกหนี้เข้ามาในคดีตามความมุ่งหมายของบทบัญญัติดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 4 แล้ว โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 แทนการขอหมายเรียกจำเลยที่ 1 ให้เข้ามาในคดีได้ หาเป็นเหตุที่จะต้องยกฟ้องโจทก์และขัดข้องที่จะพิพากษาให้จำเลยอื่นชำระหนี้แก่โจทก์โดยอ้างว่าโจทก์มิได้หมายเรียกจำเลยที่ 1 เข้ามาในคดีไม่ การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 โดยมิได้มีคำขอบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้นั้นก็เนื่องจากศาลฎีกาเคยพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้รายเดียวกันนี้ให้แก่โจทก์ไปก่อนแล้วจึงไม่จำต้องมีคำขอบังคับจำเลยที่ 1 อีก ทั้งเมื่อมิได้มีคำขอบังคับจำเลยที่ 1 ศาลก็พิพากษาบังคับจำเลยที่ 1ไม่ได้อยู่แล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 หาเป็นเหตุให้ฟ้องโจทก์ต้องเสียไปถึงกับยกฟ้องโจทก์ไม่ การฟ้องเรียกทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 คืนจากผู้ถือหุ้นตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1269 กฎหมายก็มิได้กำหนด อายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 เป็นผู้ถือหุ้น จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเลิกบริษัท และจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีแล้ว โดยจำเลยที่ 2เป็นผู้ชำระบัญชี จำเลยที่ 2 เพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องเอาเงินอันเป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 คืนจากจำเลยที่ 2ถึงที่ 8 เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ไม่มีสินทรัพย์ชำระหนี้ค่าภาษีอากรทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์ โจทก์จึงขอใช้สิทธิเรียกร้องเอาทรัพย์สินคืนจากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ในนามของตนเองแทนจำเลยที่ 1 เพื่อป้องกันสิทธิของโจทก์ในมูลหนี้ค่าภาษีอากรดังกล่าว ขอให้บังคับจำเลยที่ 3 คืนเงินเพื่อชำระหนี้ค่าภาษีอากร396,800 บาท จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4 ถึงที่ 8 คืนเงินเพื่อชำระหนี้ค่าภาษีอากรคนละ 99,200 บาท ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินที่จำเลยแต่ละคนต้องชำระคืน นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 5 ที่ 6 และที่ 8 ให้การว่า จำเลยที่ 5 ที่ 6และที่ 8 ไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 และไม่เคยรับคืนเงินอันเป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 โจทก์ไม่ได้ฟ้องเรียกหนี้ภายใน 2 ปีนับแต่วันสิ้นสุดการชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 ฟ้องของโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 และที่ 7 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าการที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ฟ้องจำเลยที่ 2ถึงที่ 8 ให้ชำระเงินที่จะต้องคืนจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ โดยฟ้องจำเลยที่ 1 แทนการขอหมายเรียกจำเลยที่ 1 ให้เข้ามาในคดีนั้นกระทำได้หรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 234 บัญญัติให้เจ้าหนี้ผู้ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้จะต้องขอหมายเรียกลูกหนี้เข้ามาในคดีนั้นด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อประสงค์ให้ลูกหนี้ได้มีโอกาสรักษาสิทธิของตน ดังนั้นการที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1เข้ามาในคดีนี้แทนการขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยที่ 1 เข้ามาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3) จึงถือได้ว่ามีการเรียกลูกหนี้เข้ามาในคดีตามความมุ่งหมายของบทบัญญัติดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 แล้ว โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1แทนการขอหมายเรียกจำเลยที่ 1 ให้เข้ามาในคดีได้หาเป็นเหตุที่จะต้องยกฟ้องโจทก์และขัดข้องที่จะพิพากษาให้จำเลยอื่นชำระหนี้แก่โจทก์โดยอ้างว่าโจทก์มิได้หมายเรียกจำเลยที่ 1 เข้ามาในคดีไม่ ส่วนปัญหาที่ว่าโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 โดยมิได้มีคำขอบังคับจำเลยที่ 1ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง จะเป็นเหตุให้ต้องยกฟ้องโจทก์หรือไม่นั้น เห็นว่า การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1โดยมิได้มีคำขอบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้นั้นก็เนื่องจากศาลฎีกาเคยพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้รายเดียวกันนี้ให้แก่โจทก์ไปก่อนแล้ว จึงไม่จำต้องมีคำขอบังคับจำเลยที่ 1 อีก ทั้งเมื่อมิได้มีคำขอบังคับจำเลยที่ 1 ศาลก็พิพากษาบังคับจำเลยที่ 1ไม่ได้อยู่แล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142หาเป็นเหตุให้ฟ้องโจทก์ต้องเสียไปถึงกับยกฟ้องโจทก์ไม่ และการฟ้องเรียกทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 คืนจากผู้ถือหุ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1269 กฎหมายก็มิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วยนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษายกคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นรับฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ไว้แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาตั้งแต่ให้จำเลยทั้งแปดยื่นคำให้การใหม่และพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share