คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 291/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

นิติกรรมการโอนที่ดินรายพิพาทให้ผู้ร้องได้ทำเป็นการยกให้โดยเสน่หาดังนี้ ที่ผู้ร้องอ้างว่าได้ชำระหนี้แทนบิดาและจำเลยผู้โอนซึ่งเป็นมารดาจะถือว่าเป็นค่าตอบแทนโดยตรงหาได้ไม่ การที่บุตรชำระหนี้แทนบิดามารดาเป็นหน้าที่ทางศีลธรรมประการหนึ่ง ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงประเภทนิติกรรมให้เป็นอื่นไปได้ ฉะนั้น การที่จำเลยโอนที่ดินรายพิพาทให้ผู้ร้องเพียงแต่จำเลยและสามีรู้ฝ่ายเดียวว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบก็พอแล้วที่จะเพิกถอนการโอนได้ ข้อที่ผู้ร้องอ้างว่าจำเลยยังมีที่ดินอีกแปลงหนึ่งก็ปรากฏว่าจำเลยมีเจ้าหนี้อื่นอีกหลายราย บางรายก็ยังฟ้องร้องอยู่ราคาที่ดินที่ว่าก็ยังโต้เถียงกัน ไม่แน่ว่าทรัพย์สินของจำเลยจะพอชำระหนี้ครบถ้วนหรือไม่ ดังนี้ ถือว่าการที่จำเลยโอนที่ดินให้ผู้ร้องเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ

ย่อยาว

จำเลยทำสัญญายอมความใช้เงินให้โจทก์ตามฟ้องแล้วไม่ชำระ โจทก์จึงนำยึดที่บ้าน 1 แปลงพร้อมเรือน 1 หลัง กับที่ดินสวนยาง 2 แปลง ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์อ้างว่าเป็นของผู้ร้องได้รับการยกให้จากบิดามารดาคือ นายล้อมและจำเลย ได้จดทะเบียนสิทธิโดยผู้ร้องได้ชำระหนี้ไถ่ถอนการจำนองและหนี้รายอื่น เป็นการรับโอนโดยมีค่าตอบแทน

โจทก์คัดค้านว่าเป็นของจำเลย ฯลฯ

ศาลชั้นต้นให้ยกคำร้อง

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า นิติกรรมการโอนที่ดินรายพิพาททั้ง 3 แปลง ให้ผู้ร้องนั้นได้ทำเป็นการยกให้โดยเสน่หา ที่ผู้ร้องอ้างว่าได้ชำระหนี้แทนบิดามารดาไปนั้น จะถือว่าเป็นค่าตอบแทนโดยตรงหาได้ไม่ การที่บุตรชำระหนี้แทนบิดามารดาเป็นหน้าที่ทางศีลธรรมประการหนึ่ง หามีผลเปลี่ยนแปลงประเภทของนิติกรรมให้เป็นอื่นไปได้ไม่ เมื่อเป็นเช่นนั้นการโอนที่ดินบ้านเรือนให้ผู้ร้องเพียงแต่จำเลยและสามีรู้ฝ่ายเดียวว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบก็พอแล้วที่จะเพิกถอนการโอนนั้นได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 ข้อที่ผู้ร้องอ้างว่าจำเลยยังมีที่ดินอีกแปลงหนึ่งราคาประมาณ 10,000 บาท ก็ปรากฏว่าจำเลยมีเจ้าหนี้อื่นอีกหลายราย บางรายก็ยังฟ้องร้องอยู่ นอกจากนั้นราคาที่ดินที่ว่านั้นก็ยังโต้เถียงกัน ไม่แน่ว่าทรัพย์สินของจำเลยจะพอชำระหนี้ได้ครบถ้วนหรือไม่ ตามพฤติการณ์ฟังได้ว่าการโอนที่ดินให้ผู้ร้องเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบแล้ว

พิพากษายืน

Share