คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 844/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีที่ฟ้องนายจ้างให้ร่วมรับผิดกับลูกจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 นั้น รถคันที่ลูกจ้างขับไปกระทำละเมิดนั้นจะเป็นของนายจ้างหรือไม่ไม่สำคัญ
จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างขับรถไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถไปชนรถของโจทก์เสียหายแล้วจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยได้รับว่าจะซ่อมรถให้โจทก์ แต่แล้วก็ไม่ซ่อมให้ จำเลยที่ 2จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เพื่อความเสียหาย ที่โจทก์ไม่ได้ใช้รถเป็นเวลานานด้วยจะอ้างว่าจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดแต่ผู้เดียวหาได้ไม่และการที่โจทก์ไม่ได้ใช้รถนั้นเป็นผลโดยตรงจากการละเมิดจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ด้วย จะอ้างว่าโจทก์มีรถหลายคัน ไม่น่าจะขาดรถสำหรับใช้ หรือคาดไม่ถึงว่าโจทก์มีหน้าที่ต้องให้เช่ารถนั้นด้วยหาได้ไม่
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ค่าเสียหายในการที่โจทก์ไม่ได้ใช้รถตั้งแต่วันละเมิดจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ เมื่อปรากฏว่าในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยที่ 3 ได้ชดใช้ค่าซ่อมรถโจทก์แล้วความเสียหายของรถโจทก์จึงหมดสิ้นไปศาลฎีกาย่อมพิพากษาแก้ให้จำเลยที่ 1 กับที่ 2 ชำระค่าเสียหายในส่วนนี้ถึงวันที่จำเลยที่ 3 ชดใช้ให้โจทก์นั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เอาประกันภัยรถยนต์ของจำเลยที่ 2 เลขทะเบียน ร.ย. 00445 ไว้กับจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2508 จำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์คันที่กล่าวของจำเลยที่ 2 ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 โดยประมาท ชนรถบดถนนของโจทก์ชำรุดเสียหาย ผู้แทนของโจทก์ได้ติดต่อกับจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ตกลงว่าจะใช้ค่าเสียหายให้ แต่แล้วก็ไม่จัดการอย่างใด ทำให้โจทก์ขาดประโยชน์ไม่ได้ ใช้รถบดถนนตั้งแต่วันเกิดเหตุจนถึงวันฟ้องคิดเป็นค่าเช่าวันละ 500 บาท แต่ขอคิดเอาเพียงวันละ 150 บาทเป็นเงิน 54,000 บาทค่าเสียหายในการซ่อมรถ 28,940 บาท ค่าแรงซ่อมรถ 1,000 บาท รวมเป็น 83,400 บาท ขอให้จำเลยร่วมกันชดใช้เงินจำนวนนี้พร้อมด้วยดอกเบี้ย และให้ใช้ค่าเสียหายวันละ 150 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ

จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นเจ้าของรถคันที่จำเลยที่ 1 ขับ และจำเลยที่ 1 มิได้ขับโดยประมาท รถของโจทก์เป็นฝ่ายผิดและเสียหายเพียง1,000 บาทกว่า ค่าเสียหายรายวันเป็นค่าเสียหายพิเศษที่คาดล่วงหน้าไม่ถึงโจทก์ไม่มีสิทธิเรียก

จำเลยที่ 3 ให้การว่าได้รับประกันภัยรถยนต์ของจำเลยที่ 2 เฉพาะความเสียหายที่เกี่ยวกับตัวทรัพย์เท่านั้น ไม่ได้รับประกันถึงการขาดประโยชน์ของบุคคลภายนอกด้วย ฯลฯ

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องรับผิดในความเสียหายของรถโจทก์และค่าเสียหายที่ไม่ได้ใช้รถ ส่วนจำเลยที่ 3 รับผิดแทนจำเลยที่ 2 เฉพาะค่าเสียหายที่เป็นค่าซื้อเครื่องอะไหล่และค่าแรงซ่อมและเห็นว่าทั้งสองฝ่ายประมาทพอกันให้จำเลยรับผิดแทนโจทก์เพียงครึ่งหนึ่ง พิพากษาให้จำเลยที่ 1, 2 ใช้ค่าเสียหายเป็นค่าเครื่องอะไหล่และค่าแรงซ่อมให้โจทก์ 14,970 บาทและค่าเสียหายที่โจทก์ไม่ได้ใช้รถบดถนนวันละ 75 บาท นับแต่วันที่24 กุมภาพันธ์ 2508 จนกว่าจะใช้เงินเสร็จกับดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้จำเลยที่ 3 ชำระแทนจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 14,970 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ประมาท จำเลยที่ 3 ควรรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสิ้น เพราะเป็นความผิดของจำเลยที่ 3 ที่ไม่ชำระค่าเสียหายให้เสร็จ และจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นเจ้าของรถคันที่เกิดเหตุ

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า

ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าจำเลยที่ 2 ไม่ใช่เจ้าของรถคันที่เกิดเหตุนั้น ศาลฎีกาฟังว่าจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถคันนี้อยู่ แต่อย่างไรก็ดี คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้ขับรถของจำเลยที่ 2 ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาทชนรถของโจทก์เสียหาย ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ซึ่งหมายความว่า ให้ร่วมรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 จำเลยไม่ได้ให้การปฏิเสธว่าจำเลยที่ 1 ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และไม่ได้ขับรถไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ดังนั้นถ้าได้ความว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์จริงแล้วจำเลยที่ 2 ก็ต้องร่วมรับผิดด้วยอยู่แล้ว ไม่ว่ากรรมสิทธิ์ในรถคันที่จำเลยที่ 1 ขับนั้นจะเป็นของจำเลยที่ 2 หรือไม่ก็ตาม

ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 มิได้ประมาท คนขับรถของโจทก์เป็นฝ่ายประมาทนั้น ฟังว่า เหตุที่เกิดการชนกันเป็นผลจากความประมาทของจำเลยที่ 1

ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าจำเลยที่ 3 ต้องชดใช้ค่าเสียหายทั้งสิ้นให้โจทก์ การที่จำเลยที่ 3 รับจะซ่อมรถให้โจทก์แล้วไม่ซ่อมทำให้โจทก์ไม่ได้ใช้รถไม่ใช่ความผิดของจำเลยที่ 2 นั้น เห็นว่าการที่จำเลยที่ 2 จะใช้สิทธิต่อจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยประการใดย่อมเป็นไปตามสัญญาระหว่างกัน ไม่ทำให้ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ที่มีต่อโจทก์หมดสิ้นไป เมื่อรถของโจทก์ถูกชนเสียหายใช้การไม่ได้เป็นเวลานานจากผลการละเมิดของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ก็ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย จะอ้างไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดผู้เดียว

ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าโจทก์เรียกค่าเสียหายที่ไม่ได้ใช้รถเป็นรายวันไม่ได้เพราะเป็นค่าเสียหายในกรณีพิเศษซึ่งจำเลยที่ 2 คาดไม่ถึงนั้น เห็นว่าจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ ในการที่โจทก์ไม่ได้ใช้รถอันเป็นผลโดยตรงจากการละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 วรรคท้าย

ปรากฏตามสำนวนว่า เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาแล้วโจทก์ได้ขอหมายบังคับคดีแก่จำเลยที่ 3 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยที่ 3 ชำระค่าเสียหายของรถโจทก์ในนามของจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 14,970 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย และปรากฏตามหนังสือหัวหน้ากองหมายลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2510 ว่า ผู้แทนโจทก์แถลงต่อกองหมายว่าจำเลยที่ 3 ได้นำเงินไปชำระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วนตามหมายบังคับคดีแล้ว ไม่ประสงค์จะดำเนินการบังคับคดีจำเลยที่ 3 ต่อไปจึงถือได้ว่าความเสียหายของรถโจทก์หมดสิ้นไปนับแต่วันตามหนังสือดังกล่าว โจทก์จึงชอบที่จะได้รับค่าเสียหายในการไม่ได้ใช้รถจนถึงวันที่ 14กรกฎาคม 2510 เท่านั้น

พิพากษาแก้ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระค่าเสียหายที่โจทก์ไม่ได้ใช้รถนับแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2508 จนถึงวันที่ 14 กรกฎาคม 2510 นอกจากที่แก้นี้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share