คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2909/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามเอกสารที่เจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้อ้างส่งเป็นพยานชั้นสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ปรากฏว่า หนี้ตามสัญญากู้เงินรวม 7 ฉบับ ลูกหนี้ที่นำที่ดินรวม 10 โฉนดจำนองเป็นประกัน (โดยระบุเลขโฉนด) และในหนังสือสัญญากู้เงินทุกฉบับระบุที่ดินที่ลูกหนี้จะนำมาจำนอง ทั้งสัญญาจำนองทุกฉบับก็อยู่ที่เจ้าหนี้ ดังนั้น การที่เจ้าหนี้ละเว้นไม่แจ้งในคำขอรับชำระหนี้ว่าหนี้ที่ขอรับชำระหนี้มีจำนองเป็นประกัน และไม่กรอกรายละเอียดแห่งทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันในบัญชีประกอบคำขอซึ่งจำเลยต้องกรอกจึงเห็นได้ชัดว่าเจ้าหนี้ประสงค์ขอรับชำระหนี้อย่างเจ้าหนี้ไม่มีประกัน ทั้งนี้ เพื่อจะเอาหลักประกันไว้บังคับชำระหนี้เป็นการเอาเปรียบเจ้าหนี้ผู้อื่นด้วย หาใช่ว่าการละเว้นนั้นเกิดขึ้นโดยพลั้งเพลอไม่ คดีจึงไม่มีเหตุอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้อย่างเจ้าหนี้มีประกันภายในเงื่อนไขตามมาตรา 96 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายฯ ศาลชอบที่จะสั่งให้สิทธิจำนองเหนือที่ดินนั้นเป็นอันระงับไปตามมาตรา 97

ย่อยาว

กรณีสืบเนื่องจากบริษัทภัทรธนกิจ จำกัด เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เป็นจำนวนเงิน 4,747,070 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้แยกประเภทหนี้ออกได้ดังนี้ คือ

(1) หนี้ตามมูลเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด 2 ฉบับ จำนวนเงินฉบับละ 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย

(2) หนี้ตามมูลเช็คธนาคารศรีนคร จำกัด รวม 400,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย

(3) หนี้ตามสัญญากู้เงินรวม 7 ฉบับ รวมต้นเงินกู้ทั้งสิ้น 2,038,715 บาท พร้อมดอกเบี้ย

(4) หนี้ตามสัญญากู้เงินลงวันที่ 21 สิงหาคม 2518 จำนวนเงิน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย

(5) หนี้ตามสัญญากู้เงินลงวันที่ 2 กันยายน 2519 จำนวนเงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย

เจ้าหนี้ทั้งหลายตรวจคำขอรับชำระหนี้แล้ว ไม่มีผู้โต้แย้ง

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วฟังว่า ลูกหนี้เป็นหนี้เจ้าหนี้ รวมจำนวนหนี้ทั้งหมดเป็นเงิน 4,724,928.74 บาท เจ้าหนี้ขอเกินมา 22,141.26 บาท เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นควรให้บริษัทภัทรธนกิจ จำกัด เจ้าหนี้ ได้รับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้ไม่มีประกันจำนวน 4,724,928.74 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ตามมาตรา 130(8) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ที่ขอเกินมาให้ยกเสีย ส่วนที่ลูกหนี้นำที่ดินโฉนดที่ 58872 ถึง 58876, 78534, 78538, 78540 และ 78549 (ที่ถูกคือ 78541) มาจำนองเป็นประกันหนี้แต่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้แบบเจ้าหนี้ไม่มีประกัน จึงเห็นควรให้สิทธิจำนองเหนือที่ดินดังกล่าวเป็นอันระงับไปตามมาตรา 97 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้บริษัทภัทรธนกิจ จำกัด เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้ไม่มีประกัน จำนวน 4,724,928.74 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ และให้สิทธิจำนองเหนือที่ดินโฉนดที่ 58872 ถึง 58876, 78534, 78538, 78540 และ 78549 (ที่ถูกคือ 78541) เป็นอันระงับไปตามมาตรา 97 พระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483

บริษัทภัทรธนกิจ จำกัด เจ้าหนี้อุทธรณ์ขอให้ได้รับชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินรวม 7 ฉบับ ซึ่งลูกหนี้นำที่ดินมาจำนอง อย่างเจ้าหนี้มีประกัน

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

บริษัทภัทรธนกิจ จำกัด เจ้าหนี้ฎีกา

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ที่เจ้าหนี้ขอแถลงการณ์ด้วยวาจาเห็นว่าไม่จำเป็นแก่คดี ให้งดเสีย

คดีมีปัญหาว่า ที่เจ้าหนี้ละเว้นไม่แจ้งว่าเป็นเจ้าหนี้มีประกันเกิดขึ้นโดยพลั้งเผลอหรือไม่ ควรอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้อย่างเจ้าหนี้มีประกันภายในเงื่อนไขตามมาตรา 96 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 หรือไม่

ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว ตามเอกสารที่เจ้าหนี้อ้างส่งเป็นพยานชั้นสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ หนี้ตามสัญญากู้เงินรวม 7 ฉบับ ลูกหนี้นำที่ดินรวม 10 โฉนด จำนองเป็นประกัน คือ โฉนดที่ 58872 ถึง 58876, 78534, 78537, 78538, 78540 และ 78541 ในหนังสือสัญญากู้เงินทุกฉบับระบุที่ดินที่ลูกหนี้จะนำมาจำนอง ทั้งสัญญาจำนองทุกฉบับก็อยู่ที่เจ้าหนี้ การที่เจ้าหนี้ละเว้นไม่แจ้งในการขอรับชำระหนี้ว่าหนี้ที่ขอรับชำระหนี้มีจำนองเป็นประกันและไม่กรอกรายละเอียดแห่งทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันในบัญชีประกอบคำขอซึ่งจำเป็นต้องกรอกเห็นได้ชัดว่าเจ้าหนี้ประสงค์ขอรับชำระหนี้อย่างเจ้าหนี้ไม่มีประกัน ทั้งนี้ เพื่อจะเอาหลักประกันไว้บังคับชำระหนี้เป็นการเอาเปรียบเจ้าหนี้ผู้อื่นด้วย หาใช่ว่าการละเว้นนั้นเกิดขึ้นโดยพลั้งเผลอไม่ คดีไม่มีเหตุอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้อย่างเจ้าหนี้มีประกันภายในเงื่อนไขตามมาตรา 96 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ที่ศาลล่างทั้งสองให้สิทธิจำนองเหนือที่ดินเป็นอันระงับไปตามมาตรา 97 ชอบแล้ว

โดยที่ศาลล่างทั้งสองให้สิทธิจำนองที่ดินเป็นอันระงับไปรวม 9 โฉนดไม่กล่าวถึงโฉนดที่ 78537 ซึ่งลูกหนี้จำนองไว้อีกแปลงหนึ่งและระบุเลขที่โฉนดคลาดเคลื่อนคือ 78549 ซึ่งที่ถูกคือ 78541 ศาลฎีกาจึงเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า ให้เจ้าหนี้คืนที่ดินโฉนดที่ 78537 แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อีกแปลงหนึ่ง และให้สิทธิจำนองเหนือที่ดินแปลงนี้เป็นอันระงับไปกับให้แก้เลขโฉนดที่ 78549 เป็น 78541 นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share