คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2907/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามสัญญาประนีประนอมยอมความจำเลยรับว่าเป็นหนี้ตามเช็คในคดีความผิดเกี่ยวกับเช็คคดีนี้จริง และขอผ่อนชำระเงินเป็นงวด หากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งถือว่าผิดนัดทั้งหมด และยอมให้โจทก์แถลงต่อศาลเพื่อให้นัดฟังคำพิพากษา อีกทั้งยอมให้ฟ้องร้องบังคับคดีในทางแพ่งได้ด้วย ส่วนผู้เข้าดำเนินคดีต่างผู้ตายไม่ได้แสดงเจตนาใด ๆ ให้ปรากฎในสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวว่าจะสละสิทธิในการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยในทันทีหรือตกลงให้ระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับเช็คที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินแต่อย่างใด ส่วนคำแถลงของผู้เข้าดำเนินคดีต่างผู้ตายก็มีใจความสำคัญว่า โจทก์จำเลยตกลงกันว่าหากตกลงกันได้โจทก์จะถอนฟ้อง แต่ปรากฎว่าจำเลยถูกศาลพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย หากโจทก์ถอนฟ้องก็ไม่มีทางอื่นใดที่จะได้รับชำระหนี้จากจำเลยอีก ขอให้ศาลพิพากษาไปได้เลย ไม่มีข้อความใดที่โจทก์แสถงเจตนาสละสิทธิดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยในทันทีหรือตกลงให้ระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับเช็คที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเช่นเดียวกัน กลับมีข้อความยืนยันให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยต่อไปเสียอีกดังนั้น สัญญาประนีประนอมยอมความและคำแถลงของผู้เข้าดำเนินคดีต่างผู้ตายดังกล่าว จึงมิใช่การยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมายตามนัย ป.วิ.อ.มาตรา39 (2) สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงไม่ระงับไป
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 มาตรา 3 ซึ่งมีระวางโทษปรับไม่เกินสองเท่าของจำนวนเงินที่ระบุในเช็ค แต่ต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำและศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ปรากฎว่าระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นได้มี พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 3 ยกเลิก พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 และ พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดกำหนดโทษไว้ให้ปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ อันเป็นอัตราโทษที่เบากว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดและเป็นคุณแก่จำเลยผู้กระทำความผิด จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 3

Share