คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2905/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกิจการเดินรถกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพจำเลยที่ 4 การที่จำเลยที่ 2และที่ 3 นำรถยนต์โดยสารเล็กของตนมารับคนโดยสารโดยใช้ตราของจำเลยที่ 4 ติดไว้ข้างรถ ถือได้ว่าเป็นกิจการของจำเลยที่ 4ด้วย จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ที่ 3และขับรถในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ในขณะเกิดเหตุย่อมถือว่าเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 4 และขับรถในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 5 ในขณะเกิดเหตุด้วย จำเลยที่ 4 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนฐานละเมิด
จำเลยที่ 1 ที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาจำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ ส่วนจำเลยที่ 4 ให้การสู้คดี
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 4
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ด้วย
จำเลยที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นเจ้าของรถยนต์โดยสารเล็กคันหมายเลขทะเบียน 10-6287 กรุงเทพมหานคร รถยนต์คันนี้มีตราองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพจำเลยที่ 4 ติดอยู่ข้างรถ ปรากฏตามรูปถ่ายหมาย จ.5 และ จ.6 จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับในขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยสารคันดังกล่าวขณะเกิดเหตุด้วยความประมาทชนรถยนต์เก๋งคันหมายเลขทะเบียน 4 ก-1166 กรุงเทพมหานคร และโจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์เก๋งคันนี้ไว้ เมื่อเกิดเหตุแล้วโจทก์ได้จ่ายค่าซ่อมรถยนต์เก๋งคันดังกล่าวให้แก่อู่ซ่อมรถเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 110,200 บาท คดีฟังได้เป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ที่ 3 ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1ต้องร่วมกันรับผิดชดใช้เงินให้โจทก์ตามฟ้อง ปัญหาในชั้นนี้มีว่าจำเลยที่ 4 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3ต่อโจทก์หรือไม่
นายสมเกียรติ วัชเรศโยธิน นายนันทวิทย์ วัฒนา พยานโจทก์เบิกความว่า รถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุที่จำเลยที่ 1 ขับนั้นมีจำเลยที่ 4 ประกอบการขนส่งโดยรับรถยนต์คันนี้ไว้รับส่งคนโดยสารและให้ใช้ตราของจำเลยที่ 4 ติดไว้ข้างรถ ศาลฎีกาได้พิเคราะห์รูปถ่ายหมายเลข จ.5 แล้ว เห็นได้ชัดว่ารถยนต์โดยสารคันดังกล่าวมีตราองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพจำเลยที่ 4 ติดไว้ด้านข้างของรถจริงแม้จำเลยที่ 2 เองก็เบิกความยอมรับในข้อนี้ จำเลยที่ 4 มิได้นำสืบโต้แย้งแต่ประการใด ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2ที่ 3 ร่วมกิจการเดินรถกับจำเลยที่ 4 การที่จำเลยที่ 2 ที่ 3นำรถยนต์โดยสารประจำทางมารับคนโดยสารในลักษณะเช่นนี้ ถือได้ว่าเป็นกิจการของจำเลยที่ 4 ด้วย จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และขับรถในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ที่ 3ในขณะเกิดเหตุ ย่อมถือว่าเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 4 และขับรถในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 4 ในขณะเกิดเหตุด้วย จำเลยที่ 4จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ต่อโจทก์ฎีกาจำเลยที่ 4 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่งที่จำเลยที่ 4 ฎีกาว่า ค่าซ่อมรถยนต์เก๋งไม่เกิน 20,000บาท นั้น จำเลยที่ 4 มิได้นำสืบให้เห็นเช่นนั้นแต่ประการใดในทางตรงกันข้ามโจทก์มีทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสารใบเสร็จรับเงินค่าซ่อมรถยนต์เก๋งมาสืบประกอบกันว่า โจทก์ได้จ่ายเงินไปจริง110,200 บาท และค่าซ่อมรถก็เป็นจำนวนเงินดังกล่าวจริง ฎีกาของจำเลยที่ 4 ข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน”
พิพากษายืน

Share