แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่ผู้ร้องกับพวกทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน และสัญญาว่าจ้างปลูกสร้างอาคารกับจำเลยที่ 1 ผู้ร้องกับพวกคงค้างชำระเงินตามสัญญาดังกล่าวเป็นเงิน 506,370 บาท จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้โอนที่ดินให้ผู้ร้องกับพวก แต่ กลับนำที่ดินตาม สัญญาดังกล่าวและที่ดินอื่นรวม 31 โฉนด ไปจำนองบริษัท ส. จำกัด ในวงเงิน8,000,000 บาท ต่อมาศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 เด็ดขาด บริษัท ส. จำกัด ยื่นขอรับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกัน โดย ขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายทอดตลาดที่ดินที่จำนองและขอรับชำระหนี้สำหรับหนี้จำนวนที่ขาดจากยอดหนี้10,589,687.88 บาท ตาม พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 96(3) ดังนี้ เมื่อสิทธิตาม สัญญาที่จำเลยที่ 1 จะได้รับเงินจากผู้ร้องกับพวกเป็นเงินจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับความยุ่งยากหรือภาระที่จะต้อง ปฏิบัติให้เป็นไปตาม สัญญา จึงเป็นกรณีที่สิทธิตาม สัญญามีภาระเกินควรกว่าประโยชน์ที่จะพึงได้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านมีอำนาจที่จะไม่ยอมรับทรัพย์สินหรือสิทธิตาม สัญญานั้นโดย บอกเลิกสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างจำเลยที่ 1 กับผู้ร้องกับพวกได้ ตาม พระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 122
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสามเด็ดขาด เมื่อวันที่20 ธันวาคม 2526 และพิพากษาให้ล้มละลายเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2527 ผู้ร้องกับพวกได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและสัญญาว่าจ้างปลูกสร้างอาคารกับจำเลยที่ 1ผู้ร้องกับพวกชำระเงินให้จำเลยที่ 1 บางส่วนแล้ว เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1เด็ดขาด ผู้ร้องกับพวกยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อให้ปฏิบัติตามสัญญาแทนจำเลยที่ 1 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งยำคำร้องของผู้ร้องกับพวก ผู้ร้องกับพวกฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งกลับคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้าน
ศาลชั้นต้น มีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องกับพวกอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องกับพวกฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ให้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและสัญญาว่าจ้างปลูกสร้างอาคารกับจำเลยที่ 1 และผู้ร้องทั้งสามได้ชำระเงินบางส่วนให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว ผู้ร้องที่ 1 คงค้างชำระเงินตามสํญญาจำนวน214,370 บาท ผู้ร้องที่ 2 คงค้างชำระเงินตามสัญญาจำนวน 192,000 บาท และ ผู้ร้องที่ 5 ค้างชำระเงินตามสัญญาจำนวน 100,000 บาท แต่จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้โอนที่ดินให้แก่ผู้ร้องทั้งสามตามสัญญา กลับนำที่ดินตามสัญญาดังกล่าวและที่ดินแปลงอื่น ๆ รวม 31 โฉนดไปจดทะเบียนจำนองไว้ที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เงินสากลจำกัด เป็นประกันในวงเงิน 8,000,000 บาท เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1เด็ดขาดบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เงินทุนสากล จำกัด ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันโดยขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านขายทอดตลาดทรัพย์ที่จำนอง และขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนเงินที่ขาดอยู่จากยอดหนี้ จำนวน10,589,687.88 บาท ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 96(3) ศาลชั้นต้นอนุญาต มีปัญหาในชั้นฎีกาว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านจะปฏิเสธไม่ปฏิบัติตามสัญญาที่ผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ทำไว้กับจำเลยที่ 1 ได้หรือไม่ เห็นว่า กรณีนี้ จำเลยที่ 1 มีสิทธิที่จะได้รับเงินจากผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ร่วมกันเป็นเงิน506,370 บาท แต่ที่ดินพิพาทและที่ดินแปลงอื่น ๆ รวม 31 โฉนด ได้จดทะเบียนจำนองรวมกันเป็นเงิน 8,000,000 บาท และผู้รับจำนองขอให้ขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าวซึ่งเป็นสิทธิของผู้รับจำนองในฐานะเจ้าหนี้มีประกันเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านเพียงแต่มีหน้าที่ขายทรัพย์โดยปลอดจำนองเพื่อนำเงินไปชำระหนี้จำนองเท่านั้น การที่ต้องขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าวแสดงให้เห็นได้ว่า จำเลยที่ 1 ไม่สามารถไถ่ถอนจำนองที่จะต้องใช้เงินจำนวนมาก และเมื่อพิเคราะห์ดูสิทธิตามสัญญาที่จำเลยที่ 1 จะได้รับจากผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 แล้วเห็นว่าเป็นเงินจำนวนน้อย เมื่อเทียบกับความยุ่งยากหรือภาระที่จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญาจึงเป็นกรณีที่สิทธิตามสัญญามีภาระเกินควรกว่าประโยชน์ที่จะพึงได้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านมีอำนาจที่จะไม่ยอมรับทรัพย์สินหรือสิทธิตามสัญญษนั้นได้ โดยบอกเลิกสัญญาเสียทั้งฉบับตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 122 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำร้องของผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องทั้งสามฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน