คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2904/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยร่วมที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์ของจำเลยที่ 1ที่ให้จำเลยร่วมที่ 1 เช่าซื้อไป และลูกจ้างได้ขับรถยนต์คันดังกล่าวไปชนรถยนต์ของโจทก์ การฟ้องให้จำเลยร่วมที่ 2 รับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 887 วรรคสอง มีอายุความ 2 ปี นับแต่วันเกิดวินาศภัยตามมาตรา 882 วรรคแรกจึงนำอายุความในมูลละเมิดตามมาตรา 448 มาใช้ไม่ได้เมื่อเกิดเหตุรถยนต์ชนกันวันที่ 28 ตุลาคม 2524 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกจำเลยร่วมที่ 1 เข้ามาเป็นจำเลยร่วมแล้ว จำเลยร่วมที่ 1ยื่นคำร้องขอให้เรียกจำเลยร่วมที่ 2 เข้ามาเป็นจำเลยร่วมเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2526 ถือได้ว่าเป็นการฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องให้จำเลยร่วมที่ 2 ใช้ค่าทดแทน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 173และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3) และอยู่ภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันเกิดวินาศภัย คดีของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยร่วมที่ 2 จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์โดยสารคันหมายเลขทะเบียน 10-1000 เชียงราย จำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 80-8307 นครปฐม ได้นำเข้าร่วมกิจการขนส่งกับจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2524 นายจำเริญ ใจพิจิตร ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 1 ในทางการที่จ้างด้วยความประมาทชนรถยนต์โดยสารประจำทางของโจทก์เป็นเหตุให้นายจำเริญตาย และรถยนต์โดยสารของโจทก์เสียหาย ขอบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน 640,682 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่างให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 80-8307 นครปฐม แต่ได้ให้นายสังวาล สุขแย้ม เช่าซื้อไปแต่ปี 2524 จำเลยที่ 1 มิได้เกี่ยวข้อง และไม่ได้ร่วมกิจการกับจำเลยที่ 2 เพราะจำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนเลิกนิติบุคคลแล้วนายจำเริญไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกนายสังวาล สุขแย้ม เข้ามาเป็นจำเลยร่วมศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตและเรียกว่าจำเลยร่วมที่ 1
จำเลยร่วมที่ 1 ให้การว่า ได้เช่าซื้อรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 80-8307 นครปฐม จากจำเลยที่ 1 จริง และได้นำไปประกันภัยค้ำจุนไว้กับบริษัทพิพัทธ์ประกันภัย จำกัด โจทก์ชอบที่จะฟ้องผู้รับประกันภัยให้รับผิดหรือร่วมรับผิด และขณะเกิดเหตุจำเลยร่วมที่ 1 ได้นำรถคันดังกล่าวเข้าร่วมกิจการขนส่งกับห้างหุ้นส่วนจำกัดนิ่มซี่เส็งขนส่ง มีนายจำเริญเป็นผู้ขับรถยนต์โจทก์ชอบที่จะฟ้องห้างหุ้นส่วนดังกล่าวซึ่งเป็นนายจ้างของนายจำเริญให้รับผิด ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยร่วมและไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยร่วมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ในคดีนี้ โจทก์เรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีเกิน 1 ปี คดีโจทก์ขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
จำเลยร่วมที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทพิพัทธ์ประกันภัยจำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัดนิ่มซี่เส็ง เข้ามาเป็นจำเลยร่วมศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตและเรียกว่า จำเลยร่วมที่ 2 และที่ 3ตามลำดับ
จำเลยร่วมที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2ถูกเรียกเข้ามาเป็นจำเลยร่วมเกิน 1 ปี นับแต่เกิดเหตุละเมิดคดีโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยร่วมทั้งสามร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์โดยจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันรับผิดใช้เงินจำนวน 135,000 บาทจำเลยร่วมที่ 2 ร่วมรับผิดใช้เงินจำนวน 100,000 บาท กับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำเลยร่วมที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน จำเลยร่วมที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “สำหรับประเด็นข้อแรกว่าคดีเฉพาะจำเลยร่วมที่ 2 ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยร่วมที่ 2 ฎีกาอ้างว่าจะต้องใช้อายุความละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448เมื่อจำเลยร่วมที่ 1 เรียกจำเลยร่วมที่ 2 เข้ามาในคดีเกินกว่า 1 ปีนับแต่วันทำละเมิดและวันที่รู้ตัวผู้ซึ่งต้องรับผิดจึงขาดอายุความนั้น เห็นว่าจำเลยร่วมที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์ที่ชนรถยนต์ของโจทก์การฟ้องให้จำเลยร่วมที่ 2 รับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887วรรคสอง มีอายุความ 2 ปี นับแต่วันเกิดวินาศภัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 882 วรรคแรก จึงนำอายุความในมูลละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 มาใช้ไม่ได้ เมื่อเกิดเหตุรถยนต์ของจำเลยร่วมที่ 1 ชนรถยนต์ของโจทก์วันที่ 28 ตุลาคม 2524 จำเลยร่วมที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้เรียกจำเลยร่วมที่ 2 เข้ามาเป็นจำเลยร่วมเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2526ปรากฏตามคำร้องในสำนวนอันดับที่ 62/1 ลงวันที่ดังกล่าวแล้วถือได้ว่าเป็นการฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องให้จำเลยร่วมที่ 2 ใช้ค่าทดแทน ตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 173และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3) และอยู่ภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันเกิดวินาศภัย คดีของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยร่วมที่ 2 จึงไม่ขาดอายุความ”
พิพากษายืน

Share