คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 290/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิมบริษัท ต.มี บ. เป็นกรรมการผู้จัดการได้ดำเนินกิจการขาดทุน และมีเจ้าหนี้จำนวนมากป.เข้าช่วยเหลือโดยตั้งบริษัทย.ผู้เสียหายขึ้นมาเพื่อดำเนินการแทน โดยฝ่ายบ.ถือหุ้นในบริษัทผู้เสียหายร้อยละ 45 ของหุ้นทั้งหมด และบริษัทต.ทำสัญญาให้บริษัทผู้เสียหายเช่าโรงงานและเครื่องจักรด้วย เมื่อปรากฏว่าป.ถือสิทธิเข้าดำเนินการบริหารบริษัทผู้เสียหายแต่เพียงผู้เดียวทำให้บริษัทผู้เสียหายเป็นหนี้ธนาคารถึงหนึ่งล้านห้าแสนบาทท่วมทุนจดทะเบียนของบริษัทผู้เสียหายซึ่งมีอยู่เพียงหนึ่งล้านบาทและกีดกันจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทผู้เสียหาย ตลอดจนผู้ถือหุ้นฝ่ายบ.ถึงขนาดที่บริษัทต.มีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าโรงงานไปแล้ว เช่นนี้ จำเลยที่ 1 ในฐานะกรรมการบริษัทต.และจำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการบริษัทผู้เสียหายกับพวกย่อมเข้าใจว่ามีความชอบธรรมที่จะเข้าไปดำเนินการบริหารบริษัทผู้เสียหายได้ ทั้งการเข้าไปดำเนินการก็เป็นการกระทำโดยเปิดเผยการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกตามฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งแปดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 358, 362, 364, 365, 83
จำเลยทั้งแปดให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งแปดมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 364, 365 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365ซึ่งเป็นบทหนักตามมาตรา 90 จำคุกคนละ 4 เดือน ยกฟ้องความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์
จำเลยทั้งแปดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องฐานบุกรุกด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เดิมบริษัทตั้งกิจรุ่งไพศาล จำกัด มีนายบุญยังเป็นกรรมการผู้จัดการทำกิจการผลิตปลาหมึกแห้งออกจำหน่าย แต่บริษัทตั้งกิจรุ่งไพศาลจำกัด ดำเนินการขาดทุน และมีเจ้าหนี้จำนวนมาก นายประสานจึงเข้าช่วยเหลือโดยตั้งบริษัทยูเนียนคอนติเนนตัล จำกัดผู้เสียหายขึ้นเพื่อเข้าดำเนินการแทน บริษัทผู้เสียหายมีนายประสาน นายฉลวย นายสุพจน์ และจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการได้ทำสัญญาเช่าโรงงานผลิตปลาหมึกและเครื่องจักรพิพาทจากบริษัทตั้งกิจรุ่งไพศาล จำกัด 2 ฉบับ สัญญาเช่าฉบับแรกลงวันที่29 ธันวาคม 2528 มีนายประสานผู้เริ่มก่อการคนหนึ่งลงชื่อเป็นผู้เช่า เมื่อตั้งบริษัทผู้เสียหายแล้ว จึงเปลี่ยนเป็นสัญญาเช่าฉบับที่สอง ลงวันที่ 10 มกราคม 2529 โดยนายประสานและนายฉลวยกรรมการบริษัทผู้เสียหายลงชื่อเป็นผู้เช่า การเช่ามีกำหนดระยะเวลา5 ปี บริษัทผู้เสียหายผลิตปลาหมึกแห้งโดยอาศัยใบอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงานของบริษัทตั้งกิจรุ่งไพศาล จำกัด และจ้างคนงานเดิมของบริษัทตั้งกิจรุ่งไพศาล จำกัด และเคยจ้างจำเลยที่ 1ทำงานในโรงงานพิพาท บริษัทตั้งกิจรุ่งไพศาล จำกัด ยังมีสำนักงานและมีคนงานต้องเข้าออกโรงงานพิพาท และมีป้ายชื่อบริษัทตั้งกิจรุ่งไพศาล จำกัด ติดไว้ที่หน้าโรงงานพิพาทคู่กับบริษัทผู้เสียหาย ก่อนเกิดเหตุ บริษัทตั้งกิจรุ่งไพศาล จำกัดได้ให้ทนายความมีหนังสือลงวันที่ 8 มิถุนายน 2529 ถึงผู้จัดการบริษัทผู้เสียหายให้ระงับการใช้สิทธิและออกจากโรงงานพิพาทเนื่องจากการเป็นหุ้นส่วนและการทำสัญญาเช่าโรงงานพิพาทมีเจตนาอำพรางเจ้าหนี้ของบริษัทตั้งกิจรุ่งไพศาล จำกัดมิได้มีเจตนาที่จะให้มีผลผูกพันกัน จึงเป็นโมฆะมาแต่ต้นและการเข้าจัดดำเนินกิจการของผู้จัดการบริษัทผู้เสียหายในโรงงานพิพาทก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทตั้งกิจรุ่งไพศาล จำกัดและได้ฟ้องขับไล่บริษัทผู้เสียหาย คดีอยู่ในระหว่างพิจารณาส่วนบริษัทผู้เสียหายมีหนังสือลงวันที่ 17 มิถุนายน 2529 แจ้งไปยังทนายความของบริษัทตั้งกิจรุ่งไพศาล จำกัด ว่าบริษัทผู้เสียหายมีอำนาจตามกฎหมายและจะดำเนินกิจการโรงงานพิพาทต่อไป เกิดเหตุวันที่ 15 กรกฎาคม 2529 เวลาประมาณ 7 นาฬิกา จำเลยทั้งแปดคือจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทตั้งกิจรุ่งไพศาล จำกัดจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการคนหนึ่งของบริษัทผู้เสียหาย จำเลยที่ 5ที่ 6 ซึ่งเป็นคนงานบริษัทผู้เสียหายกับจำเลยอื่นอีกรวม 8 คนและเจ้าพนักงานตำรวจกองปราบปรามจำนวนหนึ่งได้เข้ามาในโรงงานพิพาทและเข้าบริหารงานโรงงานพิพาททั้งกลางวันและกลางคืน จนกระทั่งถึงวันที่ 18 กรกฎาคม 2529 ปัญหาว่าจำเลยทั้งแปดกระทำผิดฐานบุกรุกหรือไม่
พิเคราะห์แล้ว นายประสาน กรรมการผู้จัดการบริษัทผู้เสียหายพยานโจทก์เบิกความว่า บริษัทผู้เสียหายมีทุนจดทะเบียนหนึ่งล้านบาทมีผู้ถือหุ้นเจ็ดคน นายพยนต์และนางศรีรัตน์ เป็นญาติของนายบุญยังซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทตั้งกิจรุ่งไพศาล จำกัดผู้ให้เช่าโรงงานพิพาท นายพยนต์และนางศรีรัตน์ถือหุ้นร้อยละ 45ของจำนวนทุนทั้งหมดของบริษัทผู้เสียหาย การจดทะเบียนตั้งบริษัทผู้เสียหายระบุว่าผู้ถือหุ้นชำระค่าหุ้นหมดแล้ว แต่ความจริงนายประสานลงเงินค่าหุ้นคนเดียวเต็มจำนวนหนึ่งล้านบาท ก่อนตั้งบริษัทผู้เสียหาย ผู้ถือหุ้นจะมาประชุมครบหรือไม่จำไม่ได้นายพยนต์หรือนางศรีรัตน์จะมาประชุมหรือไม่ไม่แน่ใจ นายบุญยังเป็นผู้เสนอให้จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการบริษัทผู้เสียหาย นายประสานยังได้จัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดมั่นคงคอนติเนนตัล จำกัดประกอบกิจการลักษณะเดียวกับบริษัทผู้เสียหาย ติดต่อซื้อขายระหว่างบริษัทผู้เสียหายและห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าว เงินลงทุนเป็นของนายประสานทั้งสองแห่ง และบริษัทผู้เสียหายเป็นหนี้ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด สาขาบางกะปิ ประเภทเลตเตอร์ออฟเครดิตจำนวนหนึ่งล้านห้าแสนบาท นอกจากนี้ ปรากฏตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย ล.16 ว่านายสุพจน์ซึ่งเป็นกรรมการและผู้เริ่มก่อการกับเป็นผู้ถือหุ้นคนหนึ่งในจำนวนผู้เริ่มก่อการหรือผู้ถือหุ้นเจ็ดคนของบริษัทผู้เสียหายหาตัวไม่พบ และนายสุพจน์ถูกเจ้าหน้าที่คัดชื่อออกจากทะเบียนบ้านที่แจ้งต่อทางการไปแล้วเนื่องจากถูกหาว่าแจ้งความเท็จ และใช้เอกสารราชการเกี่ยวกับทะเบียนราษฎรปลอม แต่ปรากฏตามรายงานการประชุมเอกสารหมาย ล.13ว่า นายสุพจน์มาประชุมในฐานะผู้ถือหุ้น กับปรากฏตามรายงานการประชุมเอกสารหมาย จ.2 ว่า นายสุพจน์มาประชุมในฐานะกรรมการบริษัทผู้เสียหายอีกด้วย ในการประชุมตามเอกสารหมาย ล.13และหมาย จ.2 ดังกล่าวเป็นการประชุมเพื่อเปลี่ยนอำนาจในการบริหารบริษัทผู้เสียหายจากนายประสานกับกรรมการอื่นอีก 1 คน ลงลายมือชื่อพร้อมทั้งประทับตราสำคัญบริษัทเป็นให้นายประสานลงลายมือแต่ผู้เดียว พร้อมทั้งประทับตราสำคัญของบริษัท แต่ถ้านายประสานติดพันธุระอื่นหรือเดินทางไปต่างประเทศก็ให้กรรมการอื่นอีก 2 คน ลงลายมือชื่อร่วมกัน พร้อมทั้งประทับตราสำคัญของบริษัทนั้น ในรายงานการประชุมเอกสารหมาย จ.2 ระบุว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ที่นายบุญยังเสนอเข้ามาเป็นกรรมการบริษัทผู้เสียหายไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วยโดยมีหมายเหตุในรายงานการประชุมว่า ไม่สามารถตามตัวจำเลยที่ 2 เข้าที่ประชุมได้กับรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นตามเอกสารหมาย ล.13 ที่ระบุว่าผู้ถือหุ้นมาประชุมเจ็ดคนลงมติเป็นเอกฉันท์นั้นก็ปรากฏจากคำเบิกความของนายประสานว่า นายประสานไม่เคยรู้จักนายพยนต์และนางศรีรัตน์ทำให้ไม่แน่ใจว่านายพยนต์กับนางศรีรัตน์ซึ่งเป็นฝ่ายของนายบุญยังและเป็นผู้ถือหุ้นถึงร้อยละ 45 เข้าร่วมประชุมและลงมติด้วย ตามที่ปรากฏในรายงานการประชุมเอกสารหมายล.13 เพราะผลของการประชุมเปลี่ยนแปลงอำนาจกรรมการเช่นนี้ฝ่ายนายบุญยังย่อมเสียเปรียบ และนายฉลวยกรรมการบริษัทผู้เสียหายผู้หนึ่งก็เบิกความให้เห็นว่า ตนเองเป็นเพียงคนจัดซื้อปลาหมึกและบริหารโรงงานทั่วไป ไม่มีส่วนรับรู้และตัดสินใจในฐานะกรรมการบริษัทเยี่ยงกรรมการบริษัททั้งหลายทั่วไป นอกจากนี้หนังสือมอบอำนาจร้องทุกข์ตามเอกสารหมาย จ.4 นายประสานในฐานะกรรมการลงลายมือชื่อร่วมกับนายฉลวย เชี่ยวชาญ กรรมการอีกผู้หนึ่งรวมเป็นสองคนมอบอำนาจให้นายประสานร้องทุกข์ดำเนินคดีนี้ทั้ง ๆ ที่บริษัทผู้เสียหายอ้างว่าจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงอำนาจกรรมการให้นายประสานลงลายมือชื่อแต่ผู้เดียว พร้อมประทับตราสำคัญบริษัท ก็ผูกพันบริษัทผู้เสียหายได้อยู่แล้ว แต่เอกสารหมาย จ.4ยังลงลายมือชื่อนายประสานกับกรรมการอื่นอีกรวมเป็นสองคน ดังนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่า การจดทะเบียนก่อตั้งบริษัทผู้เสียหายเป็นนิติบุคคล ตลอดจนรายงานการประชุมเปลี่ยนแปลงอำนาจกรรมการเป็นการดำเนินการให้ถูกต้องต่อทางการตามแบบพิธีเท่านั้นเองในความเป็นจริงนายประสานคงเป็นผู้ดำเนินกิจการบริหารโรงงานพิพาทแต่เพียงผู้เดียว เมื่อนายประสานถือสิทธิเข้าดำเนินการบริหารบริษัทผู้เสียหายจนเป็นหนี้ธนาคารถึงหนึ่งล้านห้าแสนบาทท่วมทุนของบริษัทผู้เสียหายที่มีเพียงหนึ่งล้านบาท และกีดกันจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทผู้เสียหาย ตลอดจนผู้ถือหุ้นฝ่ายนายบุญยังถึงขนาดที่บริษัทตั้งกิจรุ่งไพศาล จำกัด มีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าโรงงานพิพาทไปแล้วเช่นนี้ จำเลยที่ 1 ในฐานะกรรมการบริษัทตั้งกิจรุ่งไพศาล จำกัด และจำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการบริษัทผู้เสียหายกับพวกย่อมเข้าใจว่ามีความชอบธรรมที่จะเข้าไปดำเนินการบริหารงานบริษัทผู้เสียหายได้ ทั้งการเข้าไปยังบริษัทผู้เสียหายเป็นการกระทำโดยเปิดเผย การกระทำของจำเลยทั้งแปดไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกตามฟ้อง
พิพากษายืน

Share