คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1083/2501

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีร้องขัดทรัพย์ โจทก์ให้การแก้คำร้องว่าจำเลยกับผู้ร้องโอนทรัพย์กันโดยสมยอม เป็นเจตนาลวงตกเป็นโมฆะตามมาตรา118ศาลจะวินิจฉัยว่า การโอนทำให้โจทก์เสียเปรียบเป็นการฉ้อฉลที่เพิกถอนได้ตามมาตรา237 ย่อมเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น

ย่อยาว

เรื่องนี้ เนื่องมาจากคดีเดิมที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงินกู้ 15,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียมแก่โจทก์ จำเลยไม่ใช้ โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานยึดที่ดิน 1 แปลงอยู่ตำบลกำแพง อำเภออุทุมพรพิไสย จังหวัดศรีสะเกษ โดยอ้างว่าเป็นของจำเลย

ผู้ร้องร้องขัดทรัพย์ว่า ที่ดินที่โจทก์นำยึดนั้นเป็นของผู้ร้อง ผู้ร้องรับซื้อจากจำเลย โดยทำนิติกรรมซื้อขายกันต่อเจ้าพนักงานอำเภอเป็นหลักฐาน จึงขอให้ศาลสั่งปล่อยทรัพย์ที่ยึด

โจทก์แก้คำร้องว่า การซื้อขายระหว่างผู้ร้องกับจำเลยเป็นไปโดยการสมยอม ไม่ได้ชำระราคาที่ดินกัน ทำเป็นพิธีให้ผู้ร้องรับโอนที่ดินไว้เพื่อให้พ้นจากการบังคับคดี เป็นการแสดงเจตนาลวงด้วยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง แม้จะทำนิติกรรมโอนกันต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็เป็นโมฆะตามมาตรา 118 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และเมื่อระหว่างโจทก์ดำเนินคดีกับจำเลยยังไม่ถึงที่สุดตัวแทนของจำเลยได้ไปร้องขอให้อำเภอประกาศขายที่ดินรายนี้โจทก์ได้ยื่นคำคัดค้านไว้ ผู้แทนของจำเลยจึงระงับไป แต่ภายหลังกลับไปทำการโอนกันจนสำเร็จ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว วินิจฉัยฟังว่าการกระทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินรายนี้ระหว่างผู้ร้องกับจำเลยได้กระทำลงทั้งที่รู้อยู่ว่าเป็นทางทำให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยเสียเปรียบและเมื่อปรากฏว่าจำเลยไม่มีทรัพย์สินอย่างอื่นอยู่อีกก็ยิ่งเห็นว่าโจทก์เสียเปรียบมากขึ้น ฉะนั้นโจทก์จึงมีอำนาจยึดที่ดินดังกล่าวจากผู้รับโอนได้ทีเดียว โดยไม่ต้องฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนเสียก่อน จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้อง ให้ผู้ร้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนาย 200 บาท แก่โจทก์

ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า เรื่องนี้โจทก์ได้คัดค้านว่า การกระทำของผู้ร้องกับจำเลย เป็นการแสดงเจตนาลวงด้วยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา 118 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าผู้ร้องกับจำเลยกระทำนิติกรรมโดยรู้ว่าโจทก์เสียเปรียบ อันเป็นการฉ้อฉลตาม มาตรา 238 จึงเป็นการวินิจฉัยไม่ตรงประเด็นข้อต่อสู้ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งส่วนการซื้อขายระหว่างผู้ร้องกับจำเลยได้เป็นไปโดยสุจริตเป็นการหักใช้หนี้ซึ่งจำเลยเป็นลูกหนี้ผู้ร้องอยู่

ศาลอุทธรณ์พิจารณาข้อเท็จจริงได้ความว่า ในชั้นแรกขุนศรีขรภูมานุรักษ์ ตัวแทนของจำเลยไปร้องขอให้ทางอำเภออุทุมพรพิไสย โฆษณาขายที่ดินรายพิพาทของจำเลยให้แก่ผู้ร้องฝ่ายโจทก์ได้ไปร้องคัดค้านว่า จำเลยเป็นหนี้เงินกู้ของโจทก์อยู่ขอให้ระงับการโอน นายอำเภอจึงสั่งให้โจทก์ไปฟ้องศาลโดยระงับการโอนไว้ก่อน โจทก์ได้ไปฟ้องศาลแล้ว แต่มิได้บรรยายฟ้องว่าได้ทวงถามจำเลยแล้ว ศาลจึงพิพากษายกฟ้อง ผู้แทนจำเลยจึงคัดคำพิพากษาดังกล่าวไปยื่นนายอำเภอ นายอำเภอจึงได้จัดการทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินให้ แต่เมื่อศาลยกฟ้องแล้ว โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยใหม่ ตามสำนวนคดีแดงของศาลชั้นต้นที่ 21/2499 ซึ่งคดีนี้ศาลได้พิพากษาให้จำเลยใช้หนี้เงินกู้ให้โจทก์ตามฟ้องโจทก์จึงยึดที่ดินรายพิพาท ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การที่ผู้ร้องรับโอนที่ดินรายนี้จากจำเลยนั้น ผู้ร้องทราบดีว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์อยู่และโจทก์ได้คัดค้านการโอนไว้แล้ว แม้ว่าคดีของโจทก์จะถูกศาลยกฟ้องในครั้งแรกก็เป็นเรื่องที่โจทก์ไม่บรรยายฟ้องว่าได้ทวงถามจำเลยแล้วเท่านั้น ซึ่งจำเลยและผู้ร้องทราบดี เพราะคัดคำพิพากษาไป นอกจากนี้ได้ความว่าโจทก์ยังได้คัดค้านต่ออำเภอขออย่างให้ทำนิติกรรมอีก แต่ทางอำเภออ้างว่าศาลยกฟ้องแล้ว ไม่ฟังคำคัดค้านของโจทก์ ทั้ง ๆ ที่ไม่ทราบว่าคดีของโจทก์เด็ดขาดถึงที่สุดหรือไม่ แม้ว่าผู้ร้องจะเป็นเจ้าหนี้จำเลยและการขายจะเป็นการหักหนี้กันจริง แต่เมื่อปรากฏว่าผู้ร้องกับจำเลยได้ทำนิติกรรมกันโดยรู้ว่า เป็นการทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบแล้ว นิติกรรมนั้นก็เป็นการฉ้อฉลตาม มาตรา 237แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และศาลอาจวินิจฉัยไปได้ ในคดีเรื่องร้องขัดทรัพย์ ไม่จำต้องให้โจทก์ฟ้องเพิกถอนการโอนขึ้นมาใหม่ส่วนปัญหาที่ว่าโจทก์คัดค้านโดยอ้างว่าเป็นเจตนาลวงด้วยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118 มิได้อ้าง มาตรา 238 (ควรเป็น มาตรา 237) ศาลจึงวินิจฉัยนอกประเด็นนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์ได้บรรยายคำแถลงคัดค้านไว้เป็นใจความว่า การทำนิติกรรมระหว่างผู้ร้องกับจำเลยเป็นการสมยอมกันฉ้อฉลโจทก์ และเรื่องนี้ก็ได้สืบพยานต่อสู้กันในข้อนี้ไว้ชัดเจนแล้ว ฉะนั้น การที่ศาลวินิจฉัยตามคำคัดค้านของโจทก์จึงเป็นการวินิจฉัยตามประเด็นที่กล่าวอ้าง หาใช่นอกประเด็นไม่การที่โจทก์อ้างบทมาตราผิดไป ไม่เป็นข้อสำคัญ จึงพิพากษายืนให้ผู้ร้องเสียค่าทนาย 100 บาท แทนโจทก์

ผู้ร้องฎีกาต่อมา

ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนและประชุมปรึกษาแล้ว เรื่องนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกคำร้องของผู้ร้องโดยฟังข้อเท็จจริงว่า การทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินรายพิพาทระหว่างผู้ร้องกับจำเลย เป็นการกระทำที่รู้อยู่ว่าเป็นการทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ อันเป็นการฉ้อฉลตาม มาตรา 237 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คดีมีปัญหาควรพิจารณาก่อนว่าคำวินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวนั้น เป็นการวินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงนอกประเด็นหรือไม่

ศาลฎีกาเห็นว่า คำแถลงคัดค้านของโจทก์อ้างว่า ผู้ร้องกับจำเลยสมยอมกันไปทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินรายพิพาทเป็นพิธีเพื่อให้พ้นจากการบังคับคดี ไม่ได้ชำระราคากัน เป็นการแสดงเจตนาลวงด้วยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง แม้จะทำนิติกรรมโอนกันต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็เป็นโมฆะตาม มาตรา 118 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นการโต้เถียงว่า การทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินรายพิพาทระหว่างผู้ร้องกับจำเลยเป็นการสมยอมกัน ทำเป็นพิธีเพื่อหลีกเลี่ยงการบังคับคดีที่จำเลยเป็นหนี้ตามคำพิพากษาไม่มีการชำระราคากัน และเป็นการแสดงเจตนารวมด้วยสมรู้กันมิใช่เป็นการโต้เถียงว่า การทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินรายนี้เป็นการกระทำที่รู้อยู่ว่าเป็นการทำให้โจทก์ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ บทกฎหมาย มาตรา 118 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่โจทก์อ้างประกอบแสดงว่านิติกรรมเป็นโมฆะ ยิ่งเห็นข้อโต้เถียงของโจทก์ได้ชัดแจ้งตามที่กล่าวนั้น ศาลทั้งสองพิพากษาให้ยกคำร้องของผู้ร้องโดยฟังข้อเท็จจริงว่า การกระทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินรายพิพาทระหว่างผู้ร้องกับจำเลยเป็นการกระทำที่รู้อยู่ว่าเป็นการทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ อันเป็นการฉ้อฉลตาม มาตรา 237 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นการวินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงคนละเรื่องนอกประเด็นข้อต่อสู้ของโจทก์ ไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา ฎีกาผู้ร้องข้อนี้ฟังขึ้น

คดีมีปัญหาที่จะพิจารณาตามข้อต่อสู้ของโจทก์ว่า ผู้ร้องสมยอมกับจำเลยทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินรายพิพาทเป็นพิธี เพื่อให้พ้นจากการบังคับคดีจริงหรือเปล่า ฯลฯ

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าไม่สมข้อต่อสู้

เพราะฉะนั้น ศาลฎีกาจึงพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด คือ ที่ดินรายพิพาทนี้เสีย และให้โจทก์เสียค่าฤชาธรรมเนียมกับค่าทนาย 400 บาท รวม 3 ศาล แทนผู้ร้อง

Share