คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2893/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 ในเบื้องต้นต้องมีหนี้ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้อยู่ก่อน โดยโจทก์อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้และผู้เสียหาย คดีนี้โจทก์อ้างสิทธิว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ที่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและตึกแถวจากจำเลยที่ 3 ได้ฟ้องขับไล่โจทก์และ ด. กับพวก แม้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ด. มีส่วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินและตึกแถวซึ่งเป็นส่วนของทรัพย์มรดกของ ด. ตกได้แก่โจทก์ในฐานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ด. โจทก์จึงมีสิทธิที่จะอาศัยหรือใช้ประโยชน์ในที่ดินและตึกแถวนั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่โจทก์ก็ตาม แต่คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ก็ยังมิได้แสดงให้เห็นว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องเพราะโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง มิได้พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ การที่โจทก์มีสิทธิได้รับมรดกในที่ดินและตึกแถวที่เป็นที่ดินกรรมสิทธิ์ร่วมกันระหว่างพี่น้องในส่วนของ ด. เป็นสิทธิในทรัพยสิทธิ มิใช่สิทธิในฐานะเป็นเจ้าหนี้อันเป็นบุคคลสิทธิ สิทธิของโจทก์ดังกล่าวมีอยู่อย่างไรย่อมไม่หมดไป เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้เป็นลูกหนี้ของโจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แม้จำเลยที่ 1 ทราบคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้วได้โอนที่ดินและตึกแถวให้แก่จำเลยที่ 2 ไป ในราคาต่ำก็ตาม การกระทำของจำเลยที่ 1 ก็ไม่ใช่เป็นการกระทำเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนได้รับชำระหนี้อันเป็นความผิดอาญาฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350
หลังจากจำเลยที่ 2 ได้รับโอนที่ดินจากจำเลยที่ 1 มาแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ทำลายตึกแถวตามคำฟ้องและทรัพย์สินส่วนตัวของโจทก์จนเปลี่ยนสภาพไปจากเดิม เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ส่งมอบตึกแถวแก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2537 หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้โอนขายที่ดินและตึกแถวแก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2538 จำเลยที่ 2 นำตึกแถวไปให้จำเลยที่ 3 เช่าทำประโยชน์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทุบทำลายปรับปรุงดัดแปลงตึกแถวเป็นร้านค้าและหอพักมิใช่เป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ แต่เป็นการใช้สิทธิตามปรกติโดยเชื่อว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีถูกต้องแล้วซึ่งมีอำนาจทำได้ มิได้มีเจตนาทำลายตึกแถวให้เสียหายแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 358

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 83, 91, 350 และ 358
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ตาม ป.อ. มาตรา 350 ให้จำคุกคนละ 6 เดือน จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามมาตรา 358 อีกกระทงหนึ่ง ให้จำคุกคนละ 6 เดือน การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษ รวมจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 1 ปี และคงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ไว้มีกำหนด 6 เดือน
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 3712, 4133, 4136 และ 4956 แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร รวม 4 แปลง พร้อมด้วยตึกแถวเลขที่ 73, 318 และ 320 เดิมมีชื่อนายสมบูรณ์ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ระหว่างที่นายสมบูรณ์มีชีวิตอยู่ได้นำที่ดินและตึกแถวดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองไว้ต่อธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ครั้นนายสมบูรณ์ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นภริยาและเป็นผู้จัดการมรดกของนายสมบูรณ์ได้ไถ่ถอนจำนองที่ดินและตึกแถวนั้นจากธนาคาร ต่อมาวันที่ 5 กรกฎาคม 2532 จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดกได้ขายที่ดินและตึกแถวดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงได้ยื่นฟ้องบริษัทเสรีเคมีเกษตร จำกัด บริษัทยูนิโกเคมี จำกัด นายเดชา และโจทก์ในคดีนี้เป็นจำเลยต่อศาลแพ่งขอให้ขับไล่ โจทก์ในคดีนี้ให้การต่อสู้คดี ศาลแพ่งพิพากษาว่า ที่ดินและตึกแถวดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 1 ให้ขับไล่โจทก์กับพวก ห้ามโจทก์กับพวกเกี่ยวข้อง โจทก์ในคดีนี้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ตามสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีหมายเลขแดงที่ 5160/2537 โดยศาลแพ่งงดอ่านคำพิพากษาและให้ถือว่าคู่ความทราบคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้วเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2538 ต่อมาวันที่ 17 มีนาคม 2538 จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนขายที่ดินและตึกแถวนั้นให้แก่จำเลยที่ 2 และเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2538 จำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินและตึกแถวดังกล่าวไว้ต่อธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันในคดีฟ้องขับไล่ดังกล่าวข้างต้น ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว ตามสำเนาคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6015/2539 คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยทั้งสามกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ศาลฎีกาได้พิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยทั้งสามประกอบคำแถลงการณ์ของโจทก์ลงวันที่ 11 มีนาคม 2545 แล้วเห็นว่าสำหรับในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ป.อ. มาตรา 350 บัญญัติว่า “ผู้ใดเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดี ต้องระวางโทษ…” ดังนี้ หมายความว่ากรณีตามมาตรา 350 นี้ในเบื้องต้นต้องมีหนี้ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้อยู่ก่อน โดยโจทก์อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้และเป็นผู้เสียหาย คดีนี้โจทก์อ้างสิทธิว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีหมายเลขแดงที่ 3867/2535 ของศาลแพ่ง แต่ปรากฏว่าคดีนี้จำเลยที่ 1 ซึ่งได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและตึกแถวดังกล่าวจากจำเลยที่ 3 ได้ฟ้องขับไล่โจทก์และนายเดชากับพวกต่อศาลแพ่งตามคดีหมายเลขแดงที่ 3867/2535 โจทก์และนายเดชากับพวกได้ต่อสู้คดีมาโดยตลอด และนายเดชาได้ถึงแก่ความตายในระหว่างพิจารณา จนกระทั่งวันที่ 13 มีนาคม 2538 ศาลแพ่งได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ตามคดีหมายเลขแดงของศาลอุทธรณ์ที่ 5160/2537 ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยว่านายเดชามีส่วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินและตึกแถวดังกล่าวซึ่งเป็นส่วนของทรัพย์มรดกของนายเดชาที่ตกได้แก่โจทก์ในฐานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเดชา โจทก์จึงมีสิทธิที่จะอาศัยหรือใช้ประโยชน์ในที่ดินและตึกแถวนั้นได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่โจทก์ก็ตาม แต่คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าวก็ยังมิได้แสดงให้เห็นว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องเพราะโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง มิได้พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ การที่โจทก์มีสิทธิได้รับมรดกในที่ดินและตึกแถวดังกล่าวที่เป็นที่ดินกรรมสิทธิ์ร่วมกันระหว่างพี่น้องตระกูลสุพรรณธะริดาในส่วนของนายเดชานั้นเป็นสิทธิในทรัพยสิทธิมิใช่สิทธิในฐานะเป็นเจ้าหนี้อันเป็นบุคคลสิทธิ สิทธิของโจทก์ดังกล่าวมีอยู่อย่างไร ก็ไม่ทำให้สิทธิของโจทก์นั้นหมดไป จำเลยที่ 1 จึงมิได้เป็นลูกหนี้ของโจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าว แม้จำเลยที่ 1 จะทราบคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าวแล้วได้โอนที่ดินและตึกแถวนั้นให้จำเลยที่ 2 ไปในราคาต่ำและจำเลยที่ 1 นำไปจำนองไว้แก่ธนาคารก็เป็นเรื่องในทางแพ่งที่โจทก์จะฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมหรือเพิกถอนการฉ้อฉลเท่านั้น ซึ่งโจทก์ก็ได้ดำเนินการดังกล่าวมาแล้ว ตามคดีหมายเลขดำที่ 11131/2538 ของศาลแพ่ง เมื่อโจทก์มิได้เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 อยู่ก่อนดังได้วินิจฉัยมาข้างต้น การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่การกระทำเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนได้รับชำระหนี้อันเป็นความผิดอาญาฐานโกงเจ้าหนี้ ตาม ป.อ. มาตรา 350 จำเลยที่ 2 ผู้รับโอนที่ดินและตึกแถวดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ผู้โอนที่ดินและตึกแถวนั้นให้จำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีความผิดตามมาตรา 350 ดังกล่าวด้วย แม้โจทก์จะฟ้องขอเพิกถอนการโอนและแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 11131/2538 ของศาลแพ่ง เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2538 ก็ไม่ทำให้การกระทำที่แต่เดิมซึ่งไม่เป็นความผิดอาญากลับกลายมาเป็นความผิดขึ้นมาได้ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
โจทก์ฎีกาในประการสุดท้ายในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ว่า หลังจากจำเลยที่ 2 ได้รับโอนที่ดินจากจำเลยที่ 1 มาแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ทำลายทรัพย์สินตึกแถวตามคำฟ้องและทรัพย์สินส่วนตัวของโจทก์จนเปลี่ยนสภาพไปจากเดิม การที่โจทก์ชนะคดีแพ่งชั้นอุทธรณ์ทำให้การบังคับคดีของจำเลยที่ 1 ในศาลชั้นต้นยกเลิกไป จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องมีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์นั้น เห็นว่า คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3867/2535 ของศาลแพ่งเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่โจทก์กับพวกแล้ว จำเลยที่ 1 ได้บังคับคดี แม้โจทก์จะอุทธรณ์คำพิพากษา แต่ก็ไม่ปรากฏว่าได้มีคำสั่งศาลให้ทุเลาการบังคับตาม ป.วิ.พ. มาตรา 231 หรืองดการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 292 ไว้แต่อย่างใด การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีตามขั้นตอนของกฎหมายจนโจทก์และบริวารได้ย้ายออกไปจากตึกแถวดังกล่าว และเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ส่งมอบตึกแถวนั้นแก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2537 หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้โอนขายที่ดินและตึกแถวดังกล่าวแก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2538 จำเลยที่ 2 นำตึกแถวนั้นไปให้จำเลยที่ 3 เช่าทำประโยชน์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทุบทำลายปรับปรุงดัดแปลงตึกแถวดังกล่าวเป็นร้านค้าและหอพัก มิใช่ว่าจะกลั่นแกล้งโจทก์ การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงทุนดัดแปลงต่อเติมตึกแถวดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิตามปรกติเพราะเชื่อว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีถูกต้องแล้วจึงมีอำนาจทำได้ มิได้มีเจตนาทำลายตึกแถวนั้นให้เสียหายแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ตาม ป.อ. มาตรา 358 ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share